นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ออกมาแสดงท่าทีขึงขังกล่าวถึงกรณีที่มีตัวแทนจาก 12 ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศร่วมสังเกตการณ์ในวันที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เดินทางเข้าพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ปทุมวัน เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมาว่า จะเชิญตัวแทนทูตทั้งหมดมาเพื่อสร้างความเข้าใจ อีกทั้งยังตำหนิด้วยว่าผิดหลักการและจรรยาบรรณ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ใช้คำพูดที่แข็งกร้าวผ่านสื่อมวลชนตำหนิทูตจากมิตรประเทศที่แสดงความเห็น และแสดงออกด้วยพฤติกรรมว่าจับตาประเด็นสิทธิเสรีภาพของไทยอย่างใกล้ชิด
ย้อนไปเมื่อช่วงเดือน ม.ค. 2558 กระทรวงการต่างประเทศ โดยนายดอน เคยเชิญนายแพทริก เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าพบเพื่อหารือกันมาแล้ว หลังนายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวปาฐกถาแสดงความคิดเห็นการเมืองของไทย ที่สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ในปีนั้น ซึ่งนายดอนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่นายรัสเซล วิพากษ์วิจารณ์การเมืองไทย โดยบอกว่ามันเป็นการสร้างบาดแผลในใจคนไทย
หลังการหารือ นายดอน บอกกับผู้สื่อข่าวว่าการหารือเป็นไปด้วยดี มีบางเรื่องที่มีความห่วงกังวล พร้อมได้ชี้แจงเรื่องกฎอัยการศึกด้วยว่า ถ้าให้ยกเลิกหรือยุติไป หากมีเหตุการณ์ความวุ่นวายเกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ พร้อมยืนยันว่าการยึดอำนาจในไทยไม่ใช่การรัฐประหารแบบในหลักการ แต่เป็นการปฏิวัติเพื่อเสถียรภาพ หลังการยึดอำนาจทุกประเทศเข้าใจ ทั้งนี้ไทยจำเป็นเข้าสู่การทำให้ประเทศมีความมั่นคง เพื่อทำให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อ
ทูตสหรัฐฯ แถลงต่อหน้า "ดอน" กังวลเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนไทย
หลังจากนั้นเมื่อเดือน พ.ค. 2559 นายกลิน ที.เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นเวลา 1 ชั่วโมงกับ 30 นาที ก่อนที่ทั้งสองจะแถลงข่าวร่วมกัน ซึ่งนายดอนเปิดโอกาสให้นายเดวีส์ ให้สัมภาษณ์และตอบคำถามสื่อมวลชน ซึ่งในช่วงแรกของการสัมภาษณ์นายเดวีส์ได้พูดถึงประเด็นที่มีการหารือกับนายดอนคือเรื่องทะเลจีนใต้ และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย พร้อมขอบคุณนายดอนที่มีการพูดคุยหารือกันอย่างตรงไปตรงมา
นายเดวีส์ ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีที่สำนักข่าวเอเอฟพีเสนอข่าวว่าสหรัฐฯ ประณามเหตุการณ์ที่ไทยจับกุมดำเนินคดีกับ 8 แอดมินเพจเฟซบุ๊กและแม่ของนักเคลื่อนไหวด้วยว่าสหรัฐฯ ห่วงกังวัลอย่างยิ่งกับสิ่งที่เกิดขึ้น และย้ำจุดยืนที่ได้พูดไปโดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แล้วว่า สหรัฐห่วงกังวลกับการจับกุมนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและเห็นว่าควรต้องมีการเปิดพื้นที่ทางการเมือง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นขัดต่อพันธกรณีของไทยที่มีต่อหลักสากล
โดยหลังนายเดวีส์ ให้สัมภาษณ์เช่นนั้น นายดอน ได้เรียกเอกสารจากเจ้าหน้าที่มาดูก่อนจะสอบถามนายเดวีส์ อีกครั้ง จากนั้น นายเดวีส์ หยิบเอกสารขึ้นมาอ่านต่อหน้าสื่อมวลชนและให้เจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐฯแปลให้สื่อมวลชนเป็นภาษาไทย ว่า สหรัฐฯ รู้สึกไม่สบายใจกับเหตุการณ์จับกุมเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความออนไลน์ รวมถึงการจับกุมมารดาของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งขัดแย้งกับพันธกิจของไทยต่อนานาชาติ ซึ่งไม่เป็นการเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างบรรยากาศของการข่มขู่ และทำให้เกิดการเซ็นเซอร์ตัวเอง
ซึ่งการข่มขู่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและครอบครัว ทำให้เกิดความวิตกกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งต่อพันธกรณีของไทยที่ต้องเคารพเสรีภาพในการแสดงความเห็น สหรัฐฯ ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้น การจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน การจำกัดสิทธิในการแสดงความเห็น สิทธิในการชุมนุม รวมถึงการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารด้วย
หลังจากนายเดวีส์ อ่านเอกสารจบ นายดอน กล่าวว่า นายเดวีส์ไม่ได้หยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยระหว่างหารือกัน ซึ่งนายเดวีส์ยืนยันว่าตนไม่ได้หยิบเรื่องนี้มาพูดกับนายดอน แต่พูดกับสื่อเพื่อแสดงจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ และรับว่าสหรัฐฯ ไม่ได้ใช้คำว่าประณามไทย
หลังจากนั้น นายดอน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีคนไทยบางส่วนแสดงความไม่พอใจต่อท่าทีดังกล่าวของนายเดวีส์ และต้องการให้สหรัฐฯ เปลี่ยนตัวเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ว่า อย่าให้ถึงขั้นนั้น หวังว่าจะไม่บานปลาย เพราะความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีมาอย่างยาวนาน ถือเป็นเพียงอุบัติเหตุเล็กน้อย ที่นายเดวีส์อาจไม่รู้ตัว ไม่มีข้อมูลความเป็นมาเกี่ยวกับประเทศไทยมาก่อน เป็นธรรมดาที่ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้
นอกจาก 2 เหตุการณ์ข้างต้นแล้ว ช่วงระหว่างการจัดการเลือกตั้ง 24 มี.ค. ที่ผ่านมา นายดอน ปรมัตถ์วินัย เคยออกมายืนยันไม่เห็นด้วยกับการที่ให้องค์กรผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งของไทย ซึ่งโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะเป็นเรื่องที่ประเทศไทยสามารถจัดการเองได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งต่างชาติ เหมือนกับการจัดทำการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญมาแล้ว การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นก็อยู่ในสายตาของต่างชาติ เพราะมีชาวต่างชาติหลายคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เพราะพิสูจน์ว่าประเทศไทยสามารถจัดการเลือกตั้งได้เอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง