เมื่อวันที่ 29 ม.ค.65 “คุค้ำ แก้วมะนีวงษ์” ผู้ลี้ภัยชาวลาว สมาชิกกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย Free Laos ถูกตำรวจไทยจับในข้อหาอยู่เกินกำหนดระยะอนุญาต เจ้าหน้าที่ของสถานีตำรวจทุ่งสองห้องให้ข้อมูลกับสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) ว่า คุค้ำถูกไต่สวนในบ่ายวันจันทร์ที่ผ่านมา ณ ศาลแขวงดอนเมือง
“เขาถูกย้ายไปสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลังจากที่เขาถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานอยู่เกินวีซ่า” เจ้าหน้าที่กล่าว โดยไม่เปิดเผยตัวตนเพราะเขาไม่ได้รับอนุญาตให้พูดกับสื่อ
ผู้สื่อข่าวไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปฟังการไต่สวน และเจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีนี้ภายหลังการพิจารณาคดี เมื่อสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชียขอความคิดเห็นจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของประเทศไทย ก็ไม่ได้รับการตอบกลับมา
แหล่งข่าวของ RFA ระบุเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า คุค้ำกำลังถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศูนย์กักกันสวนพลู และอยู่ระหว่างรอการเนรเทศ
คุค้ำ แก้วมะนีวงษ์” ผู้ลี้ภัยชาวลาวที่ถูกจับกุมตัวและอาจถูกส่งกลับประเทศ
รัฐบาลไทยต้องไม่ส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตราย
สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล หรือ FIDH (International Federation for Human Rights) ระบุว่า หากคุค้ำถูกส่งตัวกลับประเทศลาว เขาอาจถูกกักขังและดำเนินคดี เนื่องจากเขาเป็นนักกิจกรรมและสมาชิกของ Free Laos ซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในลาว
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวว่า คุค้ำเป็นผู้ลี้ภัยของ UNHCR ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการ ประเทศไทยไม่ควรส่งตัวเขากลับประเทศลาวไม่ว่าจะในกรณีใดๆ เนื่องจากรัฐบาลลาวรับมืออย่างรุนแรงกับผู้เห็นต่างที่เรียกร้องประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน
สำนักข่าว RFA รายงานว่า ก่อนหน้านี้ คนงานลาวสามคนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบนเฟซบุ๊กขณะทำงานอยู่ในประเทศไทยหายตัวไปในเดือนมีนาคม ปี 2559 หลังจากกลับไปประเทศลาวเพื่อต่ออายุหนังสือเดินทาง ทั้งสามคนปรากฏตัวอีกครั้งในโทรทัศน์ ถูกบังคับให้สารภาพความผิด และถูกตั้งข้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลลาวทางออนไลน์ขณะทำงานในต่างประเทศ และมีส่วนร่วมในการประท้วงบริเวณด้านหน้าสถานทูตลาวประจำประเทศไทย พวกเขาถูกตัดสินลงโทษจำคุกตั้งแต่ 12-20 ปี
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเขาจะถูกจับกุม จำคุก และอาจจะแย่กว่านั้น หากคนไทยส่งเขากลับไปสู่อันตรายในประเทศลาว”
โรเบิร์ตสันกล่าวถึงกรณีของคุค้ำ และเรียกร้องว่า ทางการไทยควรปล่อยเขาทันทีและช่วยให้เขาสามารถขอความคุ้มครองในประเทศที่สามได้ หากนั่นคือสิ่งที่เขาต้องการ
"อ็อด ไชยวงศ์” นักเคลื่อนไหวชาวลาววัย 34 ปี หายตัวไปจากบ้านพักที่กทม. ในปี 2562
นี่ไม่ใช่ครั้งแรก ประเทศไทยไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัย แต่เรามีสำนักงาน UNHCR?
ก่อนหน้ากรณีของคุค้ำ “อ็อด ไชยวงศ์” นักเคลื่อนไหวชาวลาววัย 34 ปี จากแขวงสะหวันนะเขต หายตัวไป เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งเห็นเขาครั้งสุดท้ายเมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันที่ 26 ส.ค. ปี 2562 ที่บ้านในเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร อ็อดรอการตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่สาม ตั้งแต่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในกรุงเทพฯ จดทะเบียนให้เขาเป็น ‘บุคคลในความห่วงใย’ ในเดือนธันวาคม ปี 2560
นอกจากนี้ยังมีผู้ลี้ภัยและผู้ที่รอสถานะผู้ลี้ภัยอีกหลายคนที่ถูกจับกุม บ้างถูกส่งกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศที่ตนหนีมา เช่น กรณีทางการไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองกลับกัมพูชา 3 คน ภายในเดือนเดียว กรณีจับสึกพระที่ลี้ภัยจากกัมพูชา รวมถึงกรณีนูร ซาญัต หญิงข้ามเพศจากมาเลเซียที่ถูกตำรวจไทยจับกุมตัวโดยตม.ไทยเมื่อต้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว ขณะทำเรื่องขอสถานะผู้ลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย
“อ็อดได้ขอลี้ภัยในประเทศไทย แต่ประเทศไทยนั้นกลายเป็นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยมากขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่ไทยต้องชี้แจงชะตากรรมของนายอ็อดอย่างเร่งด่วน และต้องมีการบังคับใช้มาตรการรับประกันสิทธิผู้แสวงหาที่ลี้ภัย (The Rights of Asylum Seekers) ตามมาตรฐานสากล”
อดิลูร์ เราะห์มาน ข่าน รองประธานสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) กล่าวไว้ในรายงาน ด้านวนิดา เทพสุวรรณ ประธานขบวนการลาวเพื่อสิทธิมนุษยชน (Lao Movement for Human Rights - LMHR) กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งตัวกลับประเทศเป็น “เหยื่อ” จากความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างรัฐบาลไทยกับภาคีระดับภูมิภาคในการปราบปรามผู้เห็นต่างที่อยู่ในสถานะลี้ภัย
“รูปแบบการปราบปรามที่ดูเหมือนว่าจะมีการประสานงานกันซึ่งนำไปสู่การลดขนาดพื้นที่สำหรับภาคประชาสังคมในภูมิภาคลักษณะนี้ ควรถูกประชาคมระหว่างประเทศประณามอย่างรุนแรง”
ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือ UNHCR ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีสมาชิกกับอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยปี พ.ศ. 2494 และพิธีสารปี พ.ศ. 2510 และไม่มีกฎหมายที่ยอมรับการเข้ามาของผู้ขอลี้ภัย ดังนั้นผู้ลี้ภัยต้องปฏิบัติตามกฎหมายการตรวจคนเข้าเมืองเหมือนชาวต่างชาติคนอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้ลี้ภัยจึงสามารถถูกจับกุม กักกัน และเนรเทศออกนอกประเทศได้
เมื่อข่าวการจับกุมตัวและเตรียมเนรเทศคุค้ำกลับลาวเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ชาวเน็ตไทยหลายคนตั้งคำถามทั้งต่อรัฐบาลไทยและ UNHCR ในประเทศไทย
“กระทำแต่เรื่องที่ไม่สมควรกระทำ ท้าทายหลักสากลที่รัฐบาลไทยได้ร่วมลงนามไว้ แต่ไม่ถือปฎิบัติตาม ชาวต่างชาติหนีภัยการเมืองเข้ามาประเทศไทย โดย UNHCR ได้ให้สถานะผู้ลี้ภัยแล้ว จะเนรเทศกลับไปประเทศที่เขาหลบหนีออกมาได้อย่างไร? ผู้มีอำนาจตัดสินใจเรื่องนี้ในรัฐบาลนี้ คือ บุคคลใด?”
“UNHCR ต้องชี้แจงมั้ยว่าจะมีการช่วยเหลือยังไง เขามีบัตรผู้ลี้ภัยนะ ทำไมถูกจับทั้งที่ไม่ได้อยู่ในลาว”
“คือเข้าใจนะว่าไทยไม่ได้ลงสัญญาในการคุ้มครองผู้ลี้ภัย แต่ UN ต้องอย่าลืมว่าเลือกไทยเป็นสาขาหลักใน SEA แต่ UN ไม่สามารถทำอะไรกับไทยได้เลย แล้วมันยังน่าเชื่อถืออยู่อีกเหรอ”
ที่มา:
https://www.rfa.org/english/news/laos/deport-01312022115531.html