ในการประชุมกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2562 ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน คณะทำงานบูรณาการการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานในการแก้ไขปัญหา
นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะทำงานบูรณาการการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน กล่าวว่า คนไทยที่มีปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็น แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มคนที่มีหลักฐานทางทะเบียนชัดเจน แต่มีปัญหาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ 2.กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะ (คนไทยไร้สิทธิ) เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและสันนิษฐานได้ว่าเป็นคนไทย อาจมีหลักฐานไม่เพียงพอหรืออยู่ระหว่างรอการพิสูจน์ และ 3.กลุ่มคนที่ไม่ใช่คนไทย เช่น กลุ่มคนต่างด้าว เป็นต้น
โดยกลุ่มที่ 2 ที่เป็นกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะเป็นปัญหาสีเทา ซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะทำงานชุดนี้ โดยแนวทางดำเนินการต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไป โดยมีบทบัญญัติเพื่อให้สถานะกับคนที่อยู่ในประเทศไทยและอยู่ระหว่างการออกกฎกระทรวง และในการยืนยันสถานะมีส่วนหนึ่งจะต้องตรวจดีเอ็นเอรับรอง ตรงนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงสถานพยาบาลที่รับตรวจดีเอ็นเอ ซึ่งคณะทำงานได้พิจารณาและมองว่าโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุขน่าจะร่วมดำเนินการได้ แต่ยังต้องหารือร่วมพิจารณากันอีกครั้ง
นายบุญธรรม กล่าวว่า การคืนสถานะความเป็นคนไทย มี 2 วิธีการ คือ 1.การแจ้งทะเบียนเกิดย้อนหลัง วิธีนี้ต้องหาบุคคลมาร่วมยืนยัน และมีหลักฐานชี้ชัด และ 2.การเพิ่มชื่อเป็นคนไทยด้วยการให้สัญชาติไทย แต่วิธีนี้ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งการดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหาในกลุ่มที่ 2 จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง คณะทำงานจึงเสนอจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานเพื่อช่วยสนับสนุนและดำเนินการแก้ปัญหา” ร่วมกันระหว่างสำนักการทะเบียน กรมขนส่งการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม และด้วยการดำเนินการทะเบียนราษฎร์เป็นอำนาจของนายทะเบียนในแต่ละท้องถิ่นและสำนักงานเขต จากข้อมูลรายงานพบว่า กทม.เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาค่อนมาก จึงเสนอให้มีผู้แทนสำนักปกครองและทะเบียน และสำนักอนามัย กทม.ร่วมด้วย
ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า รายงานดังกล่าวเป็นเพียงวาระรับทราบต่อที่ประชุม ขอให้คณะทำงานนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่คณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการสร้างหลักประกันสุขภาพของทุกภาคส่วน เพื่อนำเสนอต่อบอร์ด สปสช. และขอเป็นมติดำเนินการต่อไป ซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามวิสัยทัศน์การดำเนินหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ว่า “ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้าด้วยความมั่นใจ”
อีกทั้ง ยังเป็นไปตามพันธสัญญาองค์การสหประชาติ ที่ระบุว่า “มนุษย์ทุกคนไม่ว่าอยู่ไหนต้องได้รับสถานะและสิทธิพื้นฐานความเป็นมนุษย์ รวมถึงการเข้าถึงสิทธิบริการสุขภาพที่จำเป็น” โดยในที่นี้อาจรวมถึงคนกลุ่มที่ 3 ซึ่งไม่ได้ระบุว่าจะต้องเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดูแลทั้งหมด แต่ช่วยกันดูว่ามีแนวทางดำเนินการหรือทางเลือกอย่างไรเพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :