ไม่พบผลการค้นหา
ไม่นานมานี้ ยูเนสโก ตีพิมพ์รายงาน ‘แนวโน้มสถานการณ์เสรีภาพในการแสดงออกและการพัฒนาของสื่อทั่วโลก’ ที่ยืนยันว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา 85% ของประชากรโลก ประสบปัญหาเสรีภาพสื่อในประเทศของตนลดลง

รายงานยังศึกษาผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมการทำงานของสื่อที่ยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว ตั้งแต่ข้อจำกัดใหม่เกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อ ไปจนถึงความล้มเหลวของรูปแบบธุรกิจแบบดั้งเดิม ข้อค้นพบสำคัญในรายงานได้แก่

  • นักข่าวกำลังถูกโจมตี: ตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 จนถึงสิ้นปี 2564 ยูเนสโกรายงานว่า มีนักข่าว 455 คนที่ถูกฆาตรกรรมเพราะทำหน้าที่ของตัวเองหรือขณะทำหน้าที่ นอกจากนี้จำนวนนักข่าวที่ถูกจับกุมมีจำนวนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ขณะเดียวกันนักข่าวถูกคุกคามในโลกออนไลน์มากขึ้นโดยเฉพาะนักข่าวผู้หญิง
  • มีกฎหมายใหม่ออกมาจำกัดเสรีภาพสื่อมากขึ้น: ตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เป็นต้นมา รัฐบาลหลายประเทศในโลกผ่านกฎหมายที่ควบคุมการทำงานและจำกัดเสรีภาพสื่อมากขึ้นรวมทั้งเสรีภาพในโลกออนไลน์
  • โมเดลธุรกิจดั้งเดิมของสื่อกำลังตาย: การเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลส่งผลให้องค์กรสื่อจำนวนมากทยอยลดจำนวนพนักงานหรือหยุดกิจการ ที่ผ่านมามีเพียง 2 บริษัทเท่านั้นที่มีรายได้รวมกันประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้จากโฆษณาดิจิทัลทั่วโลก นั่นก็คือ Google และ Meta
  • ข้อมูลคือทางออกของสื่อและเสรีภาพในการแสดงออก: แต่ในประเทศเผด็จการที่นักข่าวไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ การอยู่รอดอย่างยั่งยืนของระบบข้อมูลข่าวสารก็แทบไม่มีความหวัง
  • สื่ออิสระกำลังตกอยู่ในอันตราย: ในยุคดิจิทัล สื่ออิสระเจอการปราบปรามและการจำกัดเสรีภาพสื่อมากขึ้น นักข่าวอิสระต้องเผชิญกับการถูกคุกคาม


เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (3 พ.ค. 65) ในประเทศไทยมีการจัดวงเสวนาโดยยูเนสโก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชิญชวนหลายภาคส่วนมาพูดถึง ‘ความอยู่รอดและความปลอดภัยของสื่อไทยในวงล้อมดิจิทัล’

 

Untitled-1.jpg


หมาเฝ้าบ้านในโลกออนไลน์ไม่ได้

แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของอุตสาหกรรมสื่อช่วยให้ผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การเข้าถึงเนื้อหาข่าวที่น่าเชื่อถือเสมอไป ระบบนิเวศดิจิทัลมีข้อมูลข่าวสารมากมายที่มีบริษัทแพลตฟอร์มและอินเทอร์เน็ตทำหน้าที่เป็น ‘สุนัขเฝ้าบ้าน (watchdog)’ แทนสื่อ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลและภาคเอกชนใช้มัลแวร์และสปายแวร์มากขึ้นเพื่อตรวจสอบและจำกัดการเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์ ส่งผลให้การสอดส่องการเคลื่อนไหวของนักข่าวสามารถทำได้ในวงกว้าง และเป็นไปในลักษณะที่คุกคามและรุกรานมากขึ้น

จันจิรา สมบัติพูนสิริ นักวิจัยประจำ German Institute of Global And Area Studies (GIGA) กล่าวว่า ช่วง 6-7 ปีที่ผ่าน เกิดปรากฏการณ์ที่ภาครัฐใช้กฎหมายจับกุมภาคประชาสังคมและนักข่าวมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่หลายประเทศใช้ ‘กฎหมายต่อต้านข่าวปลอม’

จันจิรากล่าวว่า การใช้กฎหมายควบคุมข่าวสารปลอมที่มีความสำคัญต่อชีวิตของประชาชนในช่วงเวลาสำคัญอย่างโควิด-19 เป็นสิ่งที่พอจะเข้าใจได้ แต่ในประเทศที่ธรรมาภิบาลอ่อนแอ คำในกฎหมายมักจะไม่ชัดเจนว่า ‘ข่าวปลอม’ คืออะไร ข่าวปลอมจากมุมของใคร ทำให้ในบริบททางการเมืองที่มีการต่อสู้ระหว่าง ‘เรื่องเล่า (narrative)’ ที่ถูกสร้างและกำหนดขึ้นโดยภาครัฐและกลุ่มอื่นๆ ที่เห็นต่าง นำไปสู่การใช้กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมเป็นหนึ่งในเครื่องมือควบคุมความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง รวมถึงควบคุมเรื่องเล่าที่ไม่ตรงกับภาครัฐ

กฎหมายต่อต้านข่าวปลอมในหลายประเทศจึงกลายเป็น 'ข้ออ้างอันชอบธรรม' ของมาตรการปราบปรามคนที่เห็นต่างในโลกดิจิทัล จันจิรากล่าวว่า มาตรการควบคุมและจำกัดเสรีภาพของภาครัฐมีความหลากหลายมากขึ้น เช่น ใช้กฎหมายกับประชาชนพร้อมทั้งกดดันบริษัทแพลตฟอร์มโดยตรง อย่างในประเทศเวียดนาม รัฐบาลบังคับให้แพลตฟอร์มต้องเอาเนื้อหาออกทันทีถ้าเจ้าหน้าที่รัฐระบุว่า ข้อมูลข่าวสารนี้เป็น ‘ข่าวปลอม’

ในส่วนของประเทศไทยเอง ก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยมีโครงการ Single Gateway (ซิงเกิล เกตเวย์) ที่อ้างว่าเพื่อกรองข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน และช่วยเสริมความมั่นคงแห่งชาติ แต่ถูกภาคประชาสังคมคัดค้าน อย่างไรก็ตาม จันจิรากล่าวว่า รัฐไทยกำลังใช้สปายแวร์ Pegasus เพื่อดึงข้อมูลส่วนบุคคลของคนที่มีความเห็นต่างทางการเมือง โดยเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 2564 ผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างน้อย 17 คนในประเทศไทยได้รับการแจ้งเตือนจาก Apple ว่าโทรศัพท์ของพวกเขาถูกโจมตีโดยระบบ Pegasus ที่ผ่านมา Apple ได้ยื่นฟ้อง NSO Group ผู้ผลิตสปายแวร์ชนิดนี้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยอดีตสมาชิกของหน่วยข่าวกรองของอิสราเอล

จันจิรากล่าวว่า การซื้อสปายแวร์มาใช้ ต้องผ่านการทำ MOU ระหว่างรัฐ ถึงแม้ในเอกสารจะระบุเหตุผลความมั่นคงของรัฐ แต่ในทางปฏิบัติจริง รัฐบาลกลับนำมาใช้สอดแนมประชาชนที่เห็นต่างทางการเมืองด้วย เห็นได้ว่า ในยุคดิจิทัล การควบคุมสอดส่องและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อและประชาชนโดยรัฐมีพลวัตมากขึ้น คือมีทั้งการใช้กำลังคนมอนิเตอร์สอดส่องความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นในการสอดแนมประชาชนและคัดกรองข้อมูลในโซเชียลมีเดีย มีการปรามปรามด้วยกฎหมาย กดดันบริษัทแพลตฟร์ม ที่สำคัญรัฐไทยยังทำงาน ‘push back’ หรือตอบโต้ด้วยปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารหรือ IO เพื่อควบคุม 'เสียงที่ท้าทาย' หรือเรื่องเล่าที่ไม่ตรงกับที่ภาครัฐกำหนดด้วย

 

‘ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม’ ของรัฐ “เป็นกลาง แต่ไม่สามารถตรวจสอบภาครัฐด้วยกันได้”

สันติภาพ เพิ่มมงคลทรัพย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ให้ข้อมูลว่า เจตนาของการก่อตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่การควบคุมนักข่าว แต่เพราะเทคโนโลยีทำให้ ‘ข่าวปลอม’ แพร่กระจายไปรวดเร็วมากยิ่งขึ้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างประชาชนกับภาครัฐเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลต่างๆ ที่ไหลเวียนและแพร่กระจายอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต

“เราทำงานคล้ายนักข่าวเลย ต้องมอนิเตอร์เทรนด์ต่างๆ คล้ายนักข่าว เราก็ใช้ตรรกะว่า ยิ่งพูดต่อไปมากเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสที่จะปลอมและบิดเบือนมากขึ้นเท่านั้น”

ข่าวที่สันติภาพยกตัวอย่างการทำงานของศูนย์ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยิน คือกรณีมีการแพร่กระจายของข่าวสารในโซเชียลมีเดียว่า ‘คนไทยไปเก็บเห็ดที่ลาวได้รับการฉีดไฟเซอร์’ ซึ่งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมตรวจสอบข้อมูลด้วยการติดต่อและยืนยันกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องว่าไม่เป็นความจริง สันติภาพบอกว่า หลายคนอาจจะคิดว่าศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมถูกตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของภาครัฐ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“ประชาชนไม่รักเรา ภาครัฐก็ไม่รักเรา เราเป็นกลาง มีหน่วยงานรัฐที่เข้าใจผิด คิดว่าเรามีหน้าที่ช่วยรัฐบาลในการตอบโต้ข่าว เราก็บอกว่า คุณก็ต้องตรวจสอบเนื้อหาของคุณ ถ้าประชาชนมีหลักฐานเชิงประจักษ์แย้งกลับมา คุณก็ต้องรับผิดชอบนะ”

เมื่อในวงสนทนาสอบถามว่า ในส่วนของการปฏิบัติการข่าวสาร หรือ IO ของกองทัพไทยที่ถูกระบุอยู่ในรายงานของศูนย์สังเกตการณ์ด้านอินเทอร์เน็ต ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และในรายงานของทวิตเตอร์เมื่อช่วงปลายปีพ.ศ. 2563 และต้นปี 2564 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมจะทำการตรวจสอบได้หรือไม่? สันติภาพกล่าวว่า การทำงานของศูนย์ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากเป็นหน่วยงานของภาครัฐไม่ใช่องค์กรอิสระ

มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่สนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกมีข้อยกเว้นหากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ กรณี IO รัฐบาลก็อาจจะอ้างได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ “เพื่อความมั่นคงแห่งชาติ” ด้านจันจิราตั้งข้อสังเกตว่า รัฐจะใช้กฎหมายอย่างไร ต้องไปดูว่าระบอบการเมืองของประเทศนั้นเป็นอย่างไร ประเทศประชาธิปไตยที่มีธรรมาภิบาล ทุกคนสามารถถูกกฎหมายบังคับใช้ได้เท่าๆ กัน แต่ประเทศที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย คนถูกลงโทษไม่เท่ากัน มีคนลอยนวลจากกฎหมาย แม้จะมีการอ้างว่า กฎหมายของประเทศประชาธิปไตยก็มีข้อยกเว้นในบทของเสรีภาพการแสดงออก แต่ในทางปฏิบัติและบังคับใช้ อาจจะไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้โดยตรง

 

การเมืองมีเพดาน รัฐบาลไม่ปกป้องเสรีภาพสื่อ

“ในขณะที่เรากำลังเสวนากันอยู่ มีคนถูกจับในคดี 112 คำถามที่สังคมอยากรู้คือ เขาพูดอะไรเหรอ? แต่ผมบอกสังคมไม่ได้ เพราะถ้าเขาพูดแล้วถูกดำเนินคดี ผมบอกสังคม ผมจะโดนดำเนินคดีด้วยไหม?”

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พูดถึงกรณี ‘ใบปอ-เนติพร’ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่ถูกสั่งถอนประกันคดี 112 และถูกส่งเข้าเรือนจำทันทีในวันเสรีภาพสื่อโลก พร้อมแลกเปลี่ยนว่า โจทย์ยากของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อไทยคือ เพดานของการใช้เสรีภาพในการแสดงออก และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่สำคัญโดยเฉพาะจากภาครัฐ

ในยุคดิจิทัลที่มีข้อมูลข่าวสารมากมาย มีคู่แข่งเป็นยูทูเบอร์และอินฟลูเอ็นเซอร์ในติ๊กตอกจำนวนมาก ยิ่งชีพมองว่า ทางรอดของสื่อไทยคือการผลิตเนื้อหาและให้ข้อมูลที่ลึกกว่า แน่นกว่า และมีคุณภาพมากกว่าข้อมูลที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย แต่การผลิตเนื้อหาที่เจาะลึกและมีคุณภาพค่อนข้างทำได้ยาก เพราะนักข่าวไทยยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญโดยเฉพาะจากภาครัฐได้ เช่น บัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังไม่เปิดเผย และผลรายงานของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่ตรวจสอบเรื่องนาฬิกาของประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ผ่านมหลายปีก็ยังไม่ได้เห็นข้อมูล

“การพูดเรื่องการเมืองยังมีเพดาน ถ้าเพดานเราสูง engagement ก็สูงตาม แต่ถ้าเพดานเราต่ำมันก็อาจจะเงียบๆ หน่อย”

เพดานสูงต่ำในที่นี้ ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่ความกล้าหาญของนักข่าวแต่ละคนหรือแต่ละสำนักอย่างเดียวเท่านั้น แต่การได้มาซึ่งเนื้อหาที่อยู่ตรงกลางของการถกเถียงขัดแย้ง ยังค่อนข้างจำกัดสำหรับสื่อที่เรียกตัวเองว่า ‘สื่อวิชาชีพ’

ยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตว่า ยิ่งสื่อพยายามทำตามขั้นตอนที่ภาครัฐกำหนดไว้มากแค่ไหน ก็ยิ่งถูกภาครัฐจัดระเบียบและควบคุมการเข้าถึงข่าวสารมากขึ้นเท่านั้น เช่น ข้อจำกัดของสื่อในการทำข่าวเกี่ยวกับการชุมนุม สื่อที่สวมปลอกแขนชัดเจนมักจะถูกเจ้าหน้าที่กั้นออกไปไกล ทำให้คนทางบ้านที่ติดตามสถานการณ์เลือกที่จะไม่ดูสื่อหลัก หันไปดูไลฟ์สดจากคนที่มาชุมนุมซึ่งเป็นพลเมืองที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ความขัดแย้งแทน

ยิ่งชีพให้ข้อมูลว่า ช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นประมาณ 1,700 ครั้ง มีเหตุการณ์รุนแรงอย่างน้อย 60 ครั้ง ในช่วงแรกที่สื่ออยู่ทำงานในช่วงเคอร์ฟิวไม่ได้ ส่งผลต่อการนำเสนอข่าวสาร เพราะเหตุการณ์การปะทะมักเกิดขึ้นหลังเคอร์ฟิวที่ไม่มีสื่อกระแสหลักทำงานอยู่ มีเพียงสื่ออิสระหรือสื่อพลเมืองทำหน้าที่อยู่ในพื้นที่ตรงกลางการปะทะ คนจึงเลือกดูสื่ออิสระหรือสื่อพลเมืองมากกว่า ยังไม่นับว่า ที่ผ่านมามีสื่อถูกยิงด้วยกระสุนยางประมาณ 29 คน และยังไม่มีมาตรการคุ้มครองการทำงานของสื่อ ในการชุมนุมหลายครั้ง ตำรวจปฏิบัติกับสื่อเหมือนผู้ชุมนุม เอากระบองชี้หน้า ไล่กลับ มีสื่อ 5 คน ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน

“นอกจากนี้ การไปฟังการพิจารณาคดีที่ศาล ถ้าบอกว่าเป็นสื่อ คุณต้องรอข้างล่าง ทั้งที่การพิจารณาคดีควรเป็นสิ่งที่สาธารณะสามารถรับรู้ได้”

นอกจากศาล ยิ่งชีพยกตัวอย่างต่อว่า ในรัฐสภา แม้จะมีที่นั่งสำหรับสื่อมวลชน แต่หากเข้าไปถ่ายภาพโดยเฉพาะในวันที่เก้าอี้ส.ส.และส.ว.ว่างเยอะๆ ก็อาจถูกเชิญออกได้  สถานการณ์ในประเทศไทยตอนนี้จึงสะท้อนว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ค่อยอนุญาตให้สื่อเข้าถึงข้อมูล ยิ่งสื่อพยายามทำให้ถูกระเบียบตามรัฐ รัฐก็ยิ่งจัดระเบียบและจำกัดเสรีภาพของสื่อ ทำให้สื่อกระแสหลักเข้าถึงข้อมูลจริงลำบาก ความยากคือ เมื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารถูกจำกัด สื่อจะสามารถผลิตเนื้อหาข่าวที่มีข้อมูลดีกว่า แน่นกว่า ลึกกว่าได้อย่างไรในยุคดิจิทัล

 

เสรีภาพจำกัด เงินก็จำกัด สื่อไทยต้องวิ่งตามกระแสโลกออนไลน์ พยายามหารายได้จากแพลตฟอร์ม

“ทำงานยากขึ้นกว่า 18 ปีที่เป็นนักข่าวมา”

จีรพงษ์ ประเสริฐผลกรัง นักข่าวและเลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เล่าประสบการณ์ว่า ตั้งแต่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล นักข่าวต้องมีทักษะและทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น รวมทั้งต้องเข้าใจความเป็นไปในโลกออนไลน์

ทุกวันนี้หนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์ขายถูกส่งกลับเกิน 50% เป็นการยืนยันว่า การติดตามและเสพข้อมูลข่าวสารไปอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ซึ่งตรงกับการสำรวจที่พบว่า ตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 ทั้งผู้เสพข่าวและรายได้จากโฆษณาบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 2.3 พันล้านในปี 2559 เป็น 4.2 พันล้านในปี 2564

“แต่ก่อนเรามีนักข่าวที่ทำเฉพาะเนื้อหาที่ตัวเองรับผิดชอบ เช่น นักข่าวประจำทำเนียบต่างๆ แต่ตอนนี้ ถ้าเทรนด์วันนี้มาเป็นแนวบันเทิงหน่อย ก็ต้องโยกทรัพยากรทั้งหมดรวมถึงนักข่าวสายอื่นมาช่วยกันทำด้วย”

จีรพงษ์กล่าวว่า นอกจากการจำกัดเสรีภาพสื่อของรัฐบาลและบริษัททุนแล้ว การแข่งขันในโลกออนไลน์ส่งผลต่อการผลิตงานเชิงลึกที่มีคุณภาพของนักข่าว การแข่งขันบนโลกออนไลน์ที่สูงขึ้นส่งผลให้นักข่าวต้องคอยติดตามกระแสที่คนสนใจและคุยกันในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะเทรนด์และแฮชแท็กที่เปลี่ยนไปในแต่ละวัน เพราะสำนักข่าวส่วนใหญ่มี KPI ที่ชัดเจน ว่าทีมงานจะต้องทำยอดวิวให้ได้เท่าไหร่

เมื่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียเป็นแหล่งทำรายได้ที่สำคัญสำหรับสื่อไทยในปัจจุบัน จีรพงษ์แลกเปลี่ยนว่า ความเสี่ยงและความกลัวของนักข่าวในยุคนี้ นอกจากเสี่ยงตกงาน และถูกฟ้องดำเนินคดีโดยรัฐและเอกชนแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำนักข่าวทุกวันนี้กลัวไม่แพ้กันคือการถูกแบนโดยบริษัทแพลตฟอร์ม

 

โมเดลที่ทำเงิน + ความคิดสร้างสรรค์ จะช่วยดันเพดานเสรีภาพสื่อ

เอม สินเพ็ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ แลกเปลี่ยนข้อมูลจากการทำวิจัยเรื่องสื่อออนไลน์ในประเทศไทย ว่าถึงแม้เสรีภาพสื่อของไทยจะอยู่ในจุดที่ไม่ดี แต่สื่อออนไลน์ของไทยกลับมีกำไรสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสื่อประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน

ข้อมูลยังสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำและไม่เท่าเทียมกันอย่างมากในเรื่องรายได้ขององค์กรสื่อในประเทศไทยคือมีสื่อที่ทำกำไรสูงมาก และมีสื่อที่แทบไม่มีกำไรเลย โมเดลธุรกิจที่ทำรายได้และไม่ทำรายได้ล้วนส่งผลต่อการทำงานของนักข่าวและการผลิตข้อมูล เพราะองค์กรสื่อที่มีผลกำไรดีและพึ่งพาโมเดลธุรกิจของตัวเองได้ สามารถผลักดันการนำเสนอเรื่องราวที่มีความละเอียดอ่อนทางการเมืองได้โดยไม่ต้องกังวลเท่าใดนัก

“เวลาพูดถึงเสรีภาพสื่อ เรามักไม่พูดเรื่องรายได้ มันไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยของนักข่าว… เสรีภาพสื่อไม่มีความหมาย ถ้าองค์กรธุรกิจอยู่ไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน”

เอมยกตัวอย่าง ‘echo’ ในฐานะสื่อออนไลน์ที่ประสบความสำเร็จองค์กรหนึ่งในประเทศไทย นอกจากเป็นเพราะเข้าใจผู้บริโภคค่อนข้างดีแล้ว ยังมีการออกแบบโมเดลให้ธุรกิจสามารถสร้างรายได้และอยู่รอดได้ โดยเริ่มต้นจากการยอมรับว่าเนื้อหาที่ทำเงินกับเนื้อหาด้านสังคมการเมืองอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกัน จากนั้นจึงแบ่งงานกันทำ คือมีทีมการตลาดที่ออกแบบและหารายได้ผ่านการโฆษณาออนไลน์ แล้วนำเงินมาสนับสนุนการผลิตคอนเทนต์ทางด้านสังคมการเมือง

เอมกล่าวว่าโมเดลธุรกิจที่เพิ่มความสามารถในการประกอบการบวกกับความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตเนื้อหา ทำให้สื่อออนไลน์ในไทยยังสามารถนำเสนอเรื่องราวที่มีความละเอียดอ่อนได้ท่ามกลางเผด็จการทางดิจิทัลที่มีแนวโน้มว่าจะยังคงอยู่ต่อไป

 

 

 

 

ที่มาของข้อมูลประกอบงานเสวนา:

https://www.unesco.org/reports/world-media-trends/2021/en

https://fulcrum.sg/digital-surveillance-in-thailand-when-pegasus-takes-flight/

https://stacks.stanford.edu/file/druid:ym245nv3149/twitter-TH-202009.pdf

 

วิรดา แซ่ลิ่ม
15Article
0Video
0Blog