ความคิดเห็นของลาฟรอฟเป็นคำกล่าวของเจ้าหน้าที่รัสเซียครั้งล่าสุด ที่กล่าวอ้างอิงถึงคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของประเทศตัวเอง ซึ่งนับเป็นสำนวนโวหารที่ยกระดับสถานการณ์ทางการทหารจากรัฐบาลรัสเซีย ทั้งนี้ สำนวนโวหารคำขู่ถึงอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซียถูกใช้ถี่ขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่กองกำลังรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อปีที่แล้ว
เมื่อเดือนที่แล้ว ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย กล่าวว่า ทางการรัสเซียจะต้องใช้อาวุธนิวเคลียร์ หากการยกทัพโจมตีตอบโต้ของยูเครนต่อกองทหารรัสเซียประสบกับความสำเร็จ
“การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบัน เป็นการตอบสนองเดียวที่เป็นไปได้ต่อภัยคุกคามภายนอกที่สำคัญบางประการ ต่อความมั่นคงของประเทศของเรา” ลาฟรอฟกล่าวในการให้สัมภาษณ์กับ The International Affairs นิตยสารของรัฐบาล ซึ่งเผยแพร่เมื่อเช้าวันเสาร์ (19 ส.ค.) บนเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย
ลาฟรอฟกล่าวว่าสหรัฐฯ และสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) มีความเสี่ยงที่จะพบกับปลายทางใน “สถานการณ์การเผชิญหน้าทางอาวุธโดยตรงของมหาอำนาจนิวเคลียร์” ลาฟรอฟกล่าวย้ำต่อไปว่า “เราเชื่อว่าพัฒนาการดังกล่าวควรได้รับการป้องกัน นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องเตือนเกี่ยวกับการมีอยู่ของความเสี่ยงทางทหารและการเมืองขั้นสูง และส่งสัญญาณที่น่าวิตกไปยังฝ่ายตรงข้ามของเรา”
ทั้งนี้ สมาชิก NATO และสหรัฐฯ เป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันที่สุดแก่ยูเครน ในการทำสงครามต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย และชาติตะวันตกยังเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุด ในการทำสงครามกับรัสเซียของยูเครนด้วย
โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เรียกภัยคุกคามของรัสเซียในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีว่า “มีอยู่จริง” ในขณะที่ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การ NATO กล่าวในสัปดาห์นี้ว่า กลุ่มพันธมิตรทางทหารของพวกเขาไม่พบการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อท่าทีของกองกำลังนิวเคลียร์ของรัสเซีย ดังนั้น NATO จึงไม่จำเป็นต้องตอบสนองในท่าทีทางนิวเคลียร์ของรัสเซีย
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (17 ส.ค.) อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ประธานาธิบดีเบลารุส ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ออกมากล่าวเตือนว่า เขาจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่รัสเซียนำมาติดตั้งในเบลารุส หากเบลารุสเผชิญกับการรุกรานจากภายนอก “อาจมีเพียงภัยคุกคามเดียว นั่นคือการรุกรานต่อประเทศของเรา หากการรุกรานเกิดขึ้นต่อประเทศของเราได้เริ่มต้นจากโปแลนด์ ลิทัวเนีย ลัตเวีย เราจะตอบสนองทันทีด้วยทุกสิ่งที่เรามี” ลูคาเชนโกกล่าวในการให้สัมภาษณ์
สถาบันวิจัยสงครามในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวเมื่อต้นปีที่ผ่านมาว่า สำนวนโวหารเกี่ยวกับสงครามนิวเคลียร์ที่เพิ่มขึ้นของรัสเซีย เป็นส่วนหนึ่งของ “ปฏิบัติการด้านข้อมูลข่าวสาร” ของรัสเซีย ที่มุ่งกีดกันยูเครนและลดการสนับสนุนของชาติตะวันตกลง “การเรียกร้องของรัสเซียเกี่ยวกับภัยคุกคามนิวเคลียร์ และหลักการเกี่ยวกับนิวเคลียร์ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธการด้านข้อมูลข่าวสาร ที่มีจุดประสงค์เพื่อกีดกันยูเครนและชาติตะวันตก แต่ไม่ได้แสดงถึงเจตนาที่สำคัญของรัสเซียที่จะใช้อาวุธนิวเคลียร์” สถาบันวิจัยกล่าวในการประเมิน
ที่มา: