ไม่พบผลการค้นหา
ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยหยุดคุกคาม และดำเนินคดีคนที่วิจารณ์มาตรการรับมือวิกฤต COVID-19 ด้วยข้อหาเฟกนิวส์ ชี้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้สื่อและโซเชียลมีเดียถูกเซ็นเซอร์

ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการใช้กฎหมาย "ปราบปรามเฟกนิวส์" ดำเนินคดีกับคนที่วิพสกษ์วิจารณ์การรับมือโควิด-19 ของรัฐบาลทันที โดยระบุว่าพ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. 2563 ยิ่งสร้างความกังวลว่ารัฐบาลจะกดขี่เสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น เพราะจำให้อำนาจรัฐบาลในการเซ็นเซอร์ความเห็นต่างๆ ได้อย่างอิสระ

แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชียระบุว่า ในขณะที่รัฐบาลไทยมีความรับผิดชอบในการออกมาตรการปกป้องชาวไทยจากโรคระบาด การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นคำเตือนที่อันตรายถึงสื่อและผู้ใช้โซเชียลมีเดียให้เซ็นเซอร์เสียงวิจารณ์ของตัวเองไม่เช่นนั้นจะถูกดำเนินคดี รัฐบาลทหารและพลเรือนของพล.อ.ประยุทธ์มีประวัติมาอย่างยาวนาน ในเรื่องการกดขี่ผู้เห็นต่าง จับกุมผู้วิจารณ์ ดำเนินคดีคนที่เปิดโปงความจริง รัฐบาลได้ให้อำนาจอย่างไม่มีขีดจำกัดกับตัวเองท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ซึ่งฮิวแมนไรท์วอทช์เห็นว่า ควรจะยกเลิกอำนาจเหล่านี้ทันที

ในรายงาน "มิติสิทธิมนุษยชนในการรับมือโควิด-19" ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้แสดงความกังวลว่า ประเทศไทยจะกำจัดเสรีภาพในการแสดงออกท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 บุคลากรในภาคสาธารณสุข นักข่าวออนไลน์ คนที่วิจารณ์มาตรการรับมือโรคระบาดและการคอร์รัปชันกักตุนหน้ากากป้องกันโรคและอุปกรณ์ป้องกันโรคต่างถูกดำเนินคดีและถูกคุกคามจากทางการไทย

ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ยกตัวอย่างกรณีที่นายดนัย อุศมา ศิลปินวัย 42 ปี ที่ถูกจับกุมในข้อหา "นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน" หลังจากโพสต์ว่า โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ได้เดินทางกลับจากนครบาร์เซโลนา ประเทศสเปนเข้าประเทศไทย โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่มาตรวจคัดกรองผู้โดยสารที่มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ เช่นเดียวกับผู้โดยสารคนอื่นอีก 500-600 คน ในเที่ยวบินลำเดียวกันและที่มากับสายการบินอื่นอีก 2-3 ลำ 

รายงานฉบับนี้ระบุว่า บุคลากรทางการแพทย์บางคนถูกข่มขู่ว่าจะลงโทษทางวินัย รวมถึงการยกเลิกสัญญาการจ้างงานและถอนใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม หากออกมาเปิดเผยเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปกรร์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

ความกังวลยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ว่า หลังประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ทุกคนจะต้องระวังการเผยแพร่ข้อมูลผิดๆ สื่อและผู้ใช้โซเชียลมีเดียทั้งหมดที่บิดเบือนข้อมูลจะถูกลงโทษ และออกมาย้ำอีกครั้งในวันที่ 25 มี.ค.ว่า ห้ามเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ไม่เป็นความจริงหรือสร้างความหวาดกลัวให้สาธารณชน และการบิดเบือนข้อมูลที่กระทบกับความสงบเรียบร้อย โดยเจ้าหน้าที่จะระงับหรือแก้ไขข่าวนั้นๆ และหากกรณีนั้นสร้างความเสียหายร้ายแรง ผู้เผยแพร่จะถูกดำเนินคดีด้วย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจเจ้าหน้าที่กว้างมากในการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเซ็นเซอร์ข่าวสาร ข้อมูล และการพูดคุยส่วนตัว นับตั้งแต่มีการใช้กฎหมายนี้ในปี 2558 เจ้าหน้าที่ได้ใช้กฎหมายนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนและกดขี่เสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเจ้าหน้าที่จะได้รับการยกเว้นโทษ

การเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นปัจจัยสำคัญต่อสิทธิด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในบริบทของโรคระบาดทั่วโลก การเข้าถึงข้อมูล รวมถึงสิทธิในการแสวงหา รับและแบ่งปันข้อมูล โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-19 เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดและมาตรการรับมือโรคระบาดของรัฐบาล

เมื่อวันที่ 16 มี.ค. กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติกล่าวว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ควรถูกใช้มุ่งเป้าโจมตีคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง คนกลุ่มน้อยหรือปัจเจกบุคคล ไม่ควรมีหน้าที่เป็นเครื่องมือกดขี่โดนแสร้งว่าเป็นมาตรการปกป้องสุขภาพของประชาชน และไม่ควรถูกใช้เป็นเครื่องมือปราบคนเห็นต่าง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :