กลับมาเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอีกครั้ง สำหรับบทบาทในการทำหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ทั้ง 250 คน ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในช่วง 5 ปีแรกของการทำหน้าที่วุฒิสมาชิก โดยเฉพาะอำนาจการร่วมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้ง 500 คน โดยแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมืองใดจะได้รับการโหวตเลือก จะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน และไม่ต่ำกว่า 375 เสียง
ทำให้ ส.ว. 250 คนเปรียบเสมือน "พรรคการเมือง" ที่มีเสียงเป็นเอกภาพ เพียงแต่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เหมือนพรรคการเมืองปกติที่ควรจะเป็น ตามครรลองประชาธิปไตย
โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่าทีของ ส.ว.ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน จะไม่โหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคเพื่อไทย แม้จะได้รับการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ก็ตาม โดยพุ่งเป้าไปที่ "แพทองธาร ชินวัตร" และล่าสุด ส.ว.บางคน ประกาศออกรายการโทรทัศน์ ระบุจะ "งดออกเสียง" หากมีการนำเสนอแพทองธาร เป็นนายกฯ โดยสภาพผู้แทนราษฎร
วันนี้ (14 ก.พ.) แหล่งข่าวใกล้ชิดกับ ส.ว.คนสำคัญ เปิดเผย Wake Up Voice ว่า ขณะนี้บรรดาสมาชิกวุฒิสภาเกิดรอยร้าวขึ้น มีการแบ่งฝ่ายกันว่าจะเลือกบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี ในช่วงหลังการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แคนดิเดตนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ
แหล่งข่าวระบุว่า ขณะนี้เสียง ส.ว. 250 คนนั้น อยู่ข้าง พล.อ.ประยุทธ์ ประมาณ 100 เสียง และ พล.อ.ประวิตร ประมาณ 100 เสียง ส่วนอีกราว 50 เสียงเป็นเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจ หรือ Swing Voter ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างอยู่ระหว่างการแย่งชิงเสียงในส่วนนี้ ผ่านวิธีการล็อบบี้ในหลายรูปแบบ ทั้งการสร้างเครือข่ายการออกเสียง และการเข้าประกบเป็นรายบุคคล
ซึ่งลักษณะการแบ่งข้างเช่นนี้ สามารถเห็นได้ชัดผ่านการโหวตมติที่สำคัญ โดยเฉพาะในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่ขณะนี้มีรายงานว่า ส.ว. ฝั่งที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ มีความตั้งใจที่จะทำให้องค์ประชุมไม่ครบเพื่อให้สภาฯ ล่ม โดยจะไม่เข้าร่วมประชุม เพื่อป้องกันวาระเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะวาระการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยไม่ให้ถูกนำมาพิจารณาทันในสมัยประชุมฯ
มีรายงานว่า ส.ว. ที่จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ นำโดยบรรดาผู้นำเหล่าทัพ และกลุ่มเตรียมทหารรุ่น 12 ส่วน ส.ว.ที่ยืนข้าง พล.อ.ประวิตร นำโดย วันชัย สอนศิริ และ วุฒิสภารายหนึ่ง ซึ่งมีชื่ออักษร "ค." นำหน้า อย่างไรก็ตาม สำหรับ ส.ว.ชื่อดังรายอื่นๆ ยังสงวนท่าที
โดยการเช็คขุมกำลังล่าสุด ฝ่าย พล.อ.ประวิตร ยังคงเป็นรอง เนื่องจากกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งนำโดยแกนนำคนสำคัญของกลุ่มเตรียมทหารรุ่น 12 ซึ่งนำโดย "2 นายพล" ยังคงสามารถคุมเสียงในการโหวตมติสำคัญ ๆ ได้อยู่