ดร. นิโคล สปาร์ตาโน (Nicole Spartano) ผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตัน (Boston University) ชี้ว่า กิจกรรมเบาๆ อย่างการเดินเล่น หรืองานบ้านก็เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพเช่นกัน
"งานวิจัยของเราไม่ได้ปฏิเสธว่า การออกกำลังกายที่ใช้ร่างกายในระดับกลาง หรือมากนั้นสำคัญต่อการแก่ตัวของสุขภาพ เราเพียงเสริมหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่า การทำกิจกรรมเบาๆ ก็อาจสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะต่อสมอง" สปาร์ตาโน กล่าว
ในงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเผยแพร่ผ่านจามาเน็ตเวิร์ก (JAMA Network) เครือข่ายวารสารวิชาการของสมาคมการแพทย์อเมริกัน ทีมนักวิจัยหลากสัญชาติสรุปผลมาจากการติดตามเก็บข้อมูลกิจกรรมของคนวัยกลางคน 2,354 รายในสหรัฐฯ อย่างน้อย 3 วัน ควบคู่กับการศึกษาผลสแกนสมองของผู้เข้าร่วมการวิจัย
จากผลสแกน ทีมวิจัยได้คำนวณปริมาตรของสมอง ซึ่งนับเป็นมาตรวัดของการแก่ตัว เนื่องจากมนุษย์จะสูญเสียปริมาตรสมองไป 0.2 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ ปีหลังอายุ 60 ปี สปาร์ตาโนชี้ว่า การสูญเสีย หรือการหดตัวของเนื้อเยื่อสมองดังกล่าวเกี่ยวเนื่องกับอาการสมองเสื่อมอีกด้วย
หลังจากศึกษาโดยคำนึงถึงตัวแปรต่างๆ อย่าง เพศ การสูบบุหรี่ และอายุ ด้วยแล้ว ทีมวิจัยพบว่า เวลาทุก 1 ชั่วโมงต่อวันที่ใช้ในการทำกิจกรรมเบาๆ เชื่อมโยงกับปริมาตรสมองที่มากกว่าถึง 0.22 เปอร์เซ็นต์ หรือกล่าวคือ ทำให้สมองแก่ตัวช้าลงราว 1.1 ปี
ทางทีมวิจัยยังพบอีกว่า ผู้ที่เดินมากกว่า 7,500 ก้าวต่อวัน มีสมองที่อ่อนเยาว์กว่าราว 2.2 ปี เมื่อเทียบกับคนที่เดินน้อยกว่านั้น
ขณะที่ผลการศึกษาชี้ว่า การออกกำลังระดับกลางถึงระดับหนัก เชื่อมโยงกับปริมาตรสมองที่มากกว่า แต่ทีมผู้วิจัยก็ยังเสริมว่า อาจเป็นเพราะคนเหล่านี้ก็ทำกิจกรรมเบาๆ มากขึ้นไปด้วย ถึงอย่างนั้น สปาร์ตาโนก็ย้ำว่า ต่อให้เป็นจริงตามผลการศึกษา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรเลิกเสียเหงื่อให้การออกกำลัง
"ยิ่งร่างกายแข็งแรงขึ้น ก็ยิ่งอายุยืนขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในวัยชรา แถมยังมีส่วนสัมพันธ์กับอัตราการสมองเสื่อมที่ลดลงด้วย" เธอกล่าว
อย่างไรก็ตาม การศึกษาครั้งนี้มีข้อจำกัดบางประการอยู่ เนื่องจากเป็นการเก็บข้อมูลในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องกระทั่งผู้เข้าร่วมแก่ตัว และผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นชาวตะวันตกผิวขาว นอกจากนี้ สิ่งที่ค้นพบคือ ความสัมพันธ์ระหว่างการออกกำลังกับการแก่ตัวของสมองเท่านั้น ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าอะไรเป็นเหตุหรืออะไรเป็นผล เช่น การที่สมองแก่ตัวลงอาจเป็นเหตุให้เคลื่อนไหวน้อยลงก็ได้ในทางกลับกัน
ทั้งนี้ ทีมผู้วิจัยเสริมอีกว่า แม้การขยับร่างกายจะเป็นผลดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การใช้เวลาอยู่กับที่จะส่งผลเสียกับสมองเสมอไป โดยเฉพาะกับผู้ที่ใช้เวลานั่งนิ่งๆ ทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิดสูง
ทางด้าน เอ็มมานูเอล สแตมาทาคิส (Emmanuel Stamatakis) ศาสตราจารย์ด้านกิจกรรมทางกาย ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพประชากร แห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) เห็นด้วยกับเนื้อหาส่วนใหญ่ของผลการศึกษา โดยเขามองว่าการค้นพบว่ากิจกรรมระดับเบาสัมพันธ์กับปริมาตรของสมองนั้นน่ายินดี เพราะกิจกรรมเหล่านี้มักเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันอยู่แล้ว และเป็นกิจกรรมที่คนวัยกลางคน หรือผู้สูงอายุสามารถทำได้ง่าย แม้แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างเป็นกิจลักษณะ
ถึงอย่างนั้น สแตมาทาคิส ชก็เสริมอีกว่า ไม่ควรละเลยการออกกำลังอย่างเต็มที่ เพราะในทางชีวภาพแล้ว ก็เป็นไปไม่ได้ที่การออกกำลังปานกลางหรือการออกกำลังกายที่ใช้ร่างกายมาก จะเป็นประโยชน์ต่อสมองน้อยกว่าการทำกิจกรรมเบาๆ และสำหรับกรณีของสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ก็เป็นที่รู้กันดีว่าการออกกำลังอย่างหนักหนึ่งนาที มีประโยชน์สูงกว่าการออกกำลังเบาๆ หนึ่งนาทีอยู่แล้ว
ที่มา: