หลังได้เชิญ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. มาแลกเปลี่ยนความเห็นด้านความมั่นคง หลังเปิดเวทีทอล์กแผ่นดินของเราฯ ทำให้มีปฏิกิริยาตามมาจำนวนมาก ซึ่ง พล.อ.อภิรัชต์ ก็เดินทางมาพบ กมธ.
แม้ก่อนหน้านี้จะส่ง พล.อ.สุนัย ประภูชะเนย์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. มาแทนก็ตาม แต่ กมธ.ต้องการให้ พล.อ.อภิรัชต์ มาชี้แจงด้วยตนเอง เพราะเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลของ ผบ.ทบ. จึงต้องขึ้น ฮ.บินด่วนกลับมา กทม. ทันที หลังติดภารกิจตรวจ พล.ร.9 และ ฉก.ลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี
อีกกรรมาธิการที่ถูกจับตาคือ กมธ.ทหาร ที่ได้เชิญ ผบ.เหล่าทัพ มาชี้แจงงบกระทรวงกลาโหม หลังได้ตั้งขอไว้ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ไว้ที่ 2.33 แสนล้านบาท โดย พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกลาโหม ได้นำเสนาธิการเหล่าทัพเข้าพบ กมธ.ทหาร ที่รัฐสภา โดยในช่วงแรก พล.อ.ณัฐ ได้ชี้ถึงความจำเป็นต่างๆในการของบประมาณของกระทรวงกลาโหม
ทั้งนี้ภายหลังการเข้าพบ ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษา กมธ.ทหาร ออกมาระบุว่า “หลายรายการไม่ได้แจกแจงรายละเอียดการใช้งบประมาณ โดยเฉพาะงบเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธ งบการปรับปรุงสมรรถนะกองทัพที่เขียนแค่บรรทัดเดียว
แต่จากการที่ กมธ. สอบถามเสนาธิการทุกเหล่าทัพที่มาชี้แจง ต่างไม่ยอมชี้แจงให้กมธ.ทหาร รับทราบ เหมือนมีสัญญาณบอกมาว่า ไม่ให้พูด บอกเพียงสั้นๆว่า เป็นเรื่องความมั่นคง และจะไปชี้แจงรายละเอียดต่างๆต่อ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เท่านั้น ทั้งที่ความจริงแล้ว กมธ.ทหาร มีสิทธิรับรู้ข้อมูล ดังนั้น กมธ.ทหาร จึงแทบไม่ได้ข้อมูลอะไรเลยในการเชิญกองทัพมาชี้แจงในครั้งนี้ แต่ผมจะนำเรื่องงบกองทัพไปแปรญัตติอภิปรายในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย วาระ 2 ต่อไป”
ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยว่า สิ่งที่ กมธ.ทหาร ออกมาให้ข่าว ก็เป็นไปตามนั้น ซึ่งทางเหล่าทัพขอชี้แจงรายละเอียดใน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยเอกสารงบฯที่ กมธ.ทหาร มีอยู่นั้น เป็นเพียงชื่อโครงการ ไม่มีรายละเอียดใดๆ เพราะเราไม่สามารถเปิดเผยได้ ซึ่งบางเรื่องเป็นชั้นความลับ สิ่งใดตอบได้ เราก็ทำการชี้แจง แต่สิ่งใดชี้แจงไม่ได้ เราก็ไม่ขอตอบ โดยสิ่งที่ กมธ.ทหาร อยากทราบก็จะมีชื่อโครงการบางอย่างที่แปลกๆ ซึ่งเหล่าทัพยืนยันไปว่าจะขอไปชี้แจงในกับ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เท่านั้น และจะเปิดเผยกับบุคคลที่มีอำนาจและหน้าที่เท่านั้นด้วย โดยเอกสารที่ กมธ.ทหาร เอามาสอบถามก็มาจากเอกสารร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2563 ที่ทำการแจกจ่ายออกมาก่อนหน้านี้ เราจึงไม่สามารถชี้แจงลงรายละเอียดนอกเนื้อจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ เพราะเป็นเอกสารชั้นความลับ
ฝ่ายความมั่นคง เปิดเผยอีกว่า สำหรับรายละเอียดที่เหล่าทัพได้เตรียมไปชี้แจงต่อ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นั้น หากนำมาเปิดเผยก็จะไม่เหมาะสม เพราะเป็นเรื่องอาวุธและยุทโธปกรณ์ต่างๆ จะนำมาเปิดเผยให้ต่างประเทศทราบถึงขีดความสามารถทางทหารของไทยคงไม่ได้ ซึ่งในชั้นการชี้แจง กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะมีการคุ้มครองข้อมูลที่เป็นชั้นความลับด้วย โดยมีกฎหมายบังคับใช้ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2552 โดยมีแนวทางปฏิบัติในการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับบุคคล เอกสาร และสถานที่ ซึ่งเหล่าทัพขอยืนยันว่าพร้อมชี้แจงแน่นอน ว่าจะมีการจัดซื้อและซ่อมบำรุงยุทโธปกรณ์ใดบ้าง เพราะทุกอย่างล้วนมีเหตุผลทั้งหมด
นอกเหนือการพูดคุยเรื่องงบกระทรวงกลาโหม ก็มีการพูดคุยเรื่องกองทัพอื่นๆ เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ในการที่กระทรวงกลาโหมจะพัฒนายุทโธปกรณ์ต่างๆไว้ใช้เองเพื่อลดการจัดซื้อจากต่างประเทศ อีกทั้งรัฐบาลกำลังพัฒนาให้อุตสาหกรรมป้องกันประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่ 11 ด้วย
โดยก่อนที่ปลัดกระทรวงกลาโหมจะนำเสนาธิการเหล่าทัพไปชี้แจงต่อ กมธ.ทหาร ได้มีการจัดประชุมสภากลาโหมขึ้น โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม เป็นประธานที่ประชุม ได้กล่าวถึงการไปชี้แจงงบกลาโหมต่อ กมธ.ทหาร ว่า ต้องพิจารณาตรวจสอบในข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติ อันไหนที่เป็นข้อกฎหมายที่จำเป็นก็ต้องไป ส่วนไหนเกี่ยวข้องกับวิธีปฏิบัติที่ส่งตัวแทน พร้อมทั้งให้ ผบ.เหล่าทัพเตรียมพร้อม ในการชี้แจงงบประมาณ ในส่วนของแต่ละเหล่าทัพ เพราะอาจจะโดนซักถามหนักหน่อย เนื่องจากตนเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารด้วย
ถือเป็นแนวนโยบายที่ พล.อ.ประยุทธ์ มอบให้กับเหล่าทัพไว้ โดยเป็น ‘ยุทธศาสตร์’ ของกองทัพเองที่เอาไว้ใช้ในสภาวะที่การเมืองกลับสู่โหมดปกติ มีกลไกรัฐสภาในการทำงาน ไม่ใช่ยุค คสช. ที่ทุกอย่างจะสะดวกเช่นเดิม
รวมทั้งการมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ยิ่งทำให้กองทัพตกเป็นเป้าโจมตีไปด้วย เพราะเป็น ‘ทหาร’ ด้วยกัน
อีกทั้ง ‘ปลัดกลาโหม-ผบ.เหล่าทัพ’ ยังเป็นสมาชิก ส.ว. โดยตำแหน่งด้วย และได้ยกมือโหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง ยกเว้น พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ ที่เพิ่งขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2562
ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ยังตกเป็นเป้าคู่กัน โดยเฉพาะการเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ในฐานะประธาน กมธ.ป.ป.ช. ที่เชิญทั้ง ‘2 ประยุทธ์-ประวิตร’ มาชี้แจงต่อ กมธ. ในเรื่อง ครม. ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วน ทำให้การเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ด้วย เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้ส่งเอกสารชี้แจงไปแทน เพราะติดประชุม ครม.
ส่วน พล.อ.ประวิตร ได้ลาประชุม ครม. เพราะติดภารกิจส่วนตัว จึงส่งผู้แทนไป คือ นายประสาน หวังรัตนปราณี กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีฯ
โดยได้นำหนังสือของ พล.ประวิตร มายื่นต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ที่รัฐสภา โดยหนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือชี้แจงใน 2 ประเด็นที่ทาง กมธ. ได้สอบถามไป เกี่ยวกับเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญาณและการแถลงนโยบายรัฐบาล แต่ไม่แสดงที่มาของงบประมาณ ซึ่งทางพล.อ.ประวิตร ก็ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ
ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า พล.อ.ประวิตร ส่งหนังสือมาขอเลื่อนแถลงข้อเท็จจริง เนื่องจากติดภารกิจประชุมคณะรัฐมนตรี และก่อนหน้านี้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีก็ส่งหนังสือเลื่อนของนายกฯมาด้วยเหตุผลเดียวกัน คือ ติดประชุม ครม. ซึ่งตนเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่ต้องเลื่อนจริงๆ ซึ่งทาง กมธ. เห็นว่าไม่น่ามีปัญหาใดๆ พร้อมขอบคุณ ‘2ป.’ ที่ให้ความร่วมมือ กมธ. ทั้งนี้ตนเป็น ส.ส. ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่นำการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว
อย่างไรก็ตามพรรคพลังประชารัฐก็ได้แก้เกมรับมือไว้ระยะยาวด้วย โดยการส่ง ‘ปารีณา ไกรคุปต์’ และ ‘สิระ เจนจาคะ’ เข้ามานั่งใน กมธ.ชุดนี้ แทน 2 ส.ส.ของพรรคที่ขาลาออก กมธ.ดังกล่าวไปก่อนหน้านี้
ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการตามกลไกรัฐสภาในการตรวจสอบถ่วงดุล ดังนั้นจึงอยู่ที่ฝีมือแต่ละฝ่ายในการรับมือและวางแผนอย่างมีชั้นเชิง เพราะย่อมมีทั้ง ‘คนราคาขึ้น’ และ ‘คนราคาตก’ ไปพร้อมๆกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง