ไม่พบผลการค้นหา
กทท. แจงหลังศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ให้เพิกถอนคำสั่งคกก. กรณีตัดสิทธิเข้าร่วมโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 พร้อมยืนยันกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้ไปต่อรายเดียว คาดลงนามสัญญาภายใน เม.ย. 2563

เรือโทกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 พร้อมด้วย เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และ นายธาริศร์ อิสสระยั่งยืน ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F พบว่า มีกลุ่มบริษัทที่สนใจเข้ายื่นซองข้อเสนอรวม 2 ราย ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC

ปรากฏว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นและข้อเสนอทางเทคนิคตามที่กำหนดในรายละเอียดการยื่นประมูล หรือ RFP (Request for Proposals) แต่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ เนื่องจากเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน RFP หรือเอกสารคัดเลือกเอกชนของโครงการฯ

ต่อมากลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาว่าคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงได้ยื่นคำอุทธรณ์คำพิพากษา พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอให้ระงับคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งในระหว่างนั้นทำให้การดำเนินการต้องหยุดชะงักลง

วันที่ 13 มี.ค. 2563 ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษายกฟ้อง กรณีที่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บริษัท พริมา มารีน จำกัด บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited) ฟ้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ที่มีมติให้กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP เป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินเอกสารข้อเสนอซองที่ 2 นั้น เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว  

ทั้งนี้ สาเหตุของการไม่ผ่านคุณสมบัติ เพราะกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ลงนามในแบบฟอร์มสัญญากิจการร่วมค้า ที่ไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคลใหม่ กำหนดตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ Request for Proposal (RFP) จึงถือเป็นการผิดสาระสำคัญ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับผู้ยื่นรายอื่น และกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลของการไม่ลงนามในช่องที่กำหนด ถือเป็นความบกพร่องของกลุ่มกิจการร่วมค้า NCP  

คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะได้ดำเนินการเจรจาผลตอบแทนและร่างสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC (ประกอบด้วย บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด บมจ. กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ และ China Harbour Engineering Commpany Limited) ที่เป็นผู้ยื่นข้อเสนออีกหนึ่งรายที่เหลืออยู่ ให้เป็นไปตาม RFP คาดว่าจะแล้วเสร็จ และลงนามสัญญาได้ภายในเดือนเมษายน 2563

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :