ไม่พบผลการค้นหา
'ชานันท์' ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์ฯ พรรคเพื่อไทย จวก 'อนุทิน' รมว.สาธารณสุข หลังตัดสิทธิผู้ใช้สิทธิประกันสังคม ยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 3,000 บาท ชี้รัฐไม่ควรขัดขวางสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์

วันที่ 8 ก.พ. 2566 ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย กล่าวคัดค้านจากกรณีที่ อนุทิน ชาาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตัดสิทธิผู้ใช้ประกันสังคม และกลุ่มข้าราชการ โดยไม่ให้งบฯ ส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคของ สปสช. ว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์อย่างหนึ่งที่รัฐต้องไม่ขัดขวางทำตัวเป็นอุปสรรค ทว่า อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ตัดสิทธิผู้ใช้ประกันสังคมและกลุ่มข้าราชการ ไม่ให้งบส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ สปสช. ที่สนับสนุนค่าบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย 3,000 บาทสำหรับคนไทยทุกคน

ชานันท์ กล่าวว่า คราวที่แล้วเรื่องยา PREP / PEP ที่สร้างความยากลำบากในการเข้าถึงสิทธิสุขภาวะทางเพศ ทำไมกระทรวงนี้ภายใต้รัฐบาลนี้ถึงสร้างอุปสรรคให้กับสุขภาพประชาชน ทำให้ประชาชนสุขภาพแข็งแรงลดลง ตามกฎหมาย หญิงที่มีอายุครรภ์ไม่เกินกว่า 12 สัปดาห์ ยุติการตั้งครรภ์ได้ โดยไม่เป็นความผิดทางอาญา หญิงที่มีอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ก็ยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น แล้วอำนาจการตัดสินใจอยู่ที่เธอ โดยไม่เป็นความผิดทางอาญา

ชานันท์ กล่าวอีกว่า ลำพังภาครัฐก็ไม่ได้เผยแพร่ความรู้นี้ให้ประชาชนรับรู้ หลายรพ.ก็ไม่ได้ให้บริการยุติตั้งครรภ์ และไม่ได้ช่วยเหลือในการส่งต่อยังสถานบริการที่ปลอดภัย รพ.ตามสิทธิประกันสุขภาพในกรุงเทพฯก็ไม่ให้บริการบยุติการตั้งครรภ์ จะใช้บริการตามสิทธิที่ใกล้ที่สุดคือต้องถ่อไปถึง จ.สิงห์บุรี ซึ่งภาครัฐก็ไม่ได้จัดการ แล้วนี้ยังตัดสิทธิประชาชนอีก

ขณะที่ จากสถิติของสปสช.ตั้งแต่ปี 2548 เฉลี่ยผู้ป่วยจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 27,000 – 32,000 คน ต่อปี ในจำนวนนี้เสียชีวิต 10-30 คน ในปี 2559 สปสช. เปิดบริการทำแท้งปลอดภัย อัตราคนทำแท้งแล้วมีอาการแทรกซ้อนน้อยลง การสูญเสียชีวิตน้อยลงเหลือ 0 ในปี 2560-2562 แถมงบประมาณในการรักษาพยาบาลก็น้อยลง ประชากรหญิงในวัยเจริญพันธุ์ มี 20 ล้านคน แต่สถานบริการยุติการตั้งครรภ์แบบองค์รวม (ให้คำปรึกษา ตรวจร่างกาย ยุติการตั้งครรภ์ ให้คำปรึกษาหลังยุติการตั้งครรภ์ ติดตามหลังบริการ ดูแลภาวะแทรกซ้อน และคุมกำเนิด) มีเพียง 60 แห่ง คือ รพ. รัฐ 46 แห่ง คลีนิกเอกชน/องค์กรพัฒนาเอกชน 13 แห่ง รพ.เอกชน 1 แห่ง

ชานันท์ ระบุว่า การท้องไม่พร้อมแล้วต้องการยุติตั้งครรภ์เป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งและเป็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ การที่อนุทิน ทำเช่นนี้กำลังทำลายอำนาจในการตัดสินใจและสิทธิของผู้หญิงโดยตรง ผลักให้คนทำแท้งไม่ปลอดภัยมากขึ้น แล้วสังคมก็เลิกว่าบาปสักทีกับคนทำแท้ง ความท้องพร้อม-ไม่พร้อม มันก็มีหลายปัจจัย ไม่ใช่แค่เรื่องวัย ทั้งการเงิน สุขภาพ ความสุข ปริมาณลูกที่มีอยู่แล้ว เข้าไม่ถึงหรือการคุมกำเนิดที่ไม่ได้ประสิทธิผล บรรยากาศในครอบครัว แม่บ้านบางคนยังไม่รู้ว่าท้องแล้วต่อมาเลิกกับแฟน หย่ากับผัวก็มี

ยิ่งประเทศที่สวัสดิการไม่ดี สวัสดิการเด็กเล็กก็ให้แบบสงเคราะห์ไม่ถ้วนหน้า และไม่พอ สิทธิลาคลอดก็ไม่พอ พ่อเด็กก็ไม่มีสิทธิลาไปเลี้ยงลูก ลำพังประชาชนแค่หายใจก็ไม่ปลอดภัยแล้ว ไหนจะ PM 2.5 ไหนจะโรคระบาด ใครจะพร้อมให้ลูกเกิดมาในสภาพแบบนี้ ค่าครองชีพสูงแบบนี้ ค่าที่อยู่อาศัยก็แพงขึ้นทุกปีๆ การมีลูกทำให้ผู้หญิงจนลง 5% สำหรับลูก 1คน และ 9% สำหรับลูก 2 คน ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ ใครจะพร้อม ลำพังค่าฝากท้องและตรวจครรภ์ รวมคลอดก็ 50,000 – 100,000 บาทแล้ว

#ProChoice  #ProVoice หรือการให้ทางเลือก อำนาจและสิทธิในการตัดสินใจของเจ้าของครรภ์เจ้าของสุขภาพเจ้าของเนื้อตัวร่างกาย ซึ่งมาจากการให้ข้อมูลความรู้ที่รอบด้านและการบริการที่ปลอดภัยทั่วถึง และการให้ความสำคัญของเสียงคนท้องไม่พร้อม ปราศจากอคตีตีตรา เป็นสิ่งสำคัญ และเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิสตรี

สิ่งที่สธ.ทำไม่ใช่ผลักให้ผู้หญิงไปทำแท้งไม่ปลอดภัยมากขึ้น แต่ต้องทำให้ผู้หญิงยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย คือ

1.ประกาศรายชื่อสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และรายชื่อหน่วยงานให้การปรึกษาทางเลือกทั่วประเทศให้ประชาชนรับทราบ

2.กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัด สธ.ดำเนินการจัดให้มีบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย อย่างน้อยจังหวัดละ 1 สถานบริการ โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัดระดับกระทรวงว่าจะต้องเพิ่มจำนวนสถานบริการให้ได้อย่างน้อยปีละ 5-10 สถานบริการ

 3.กำหนดให้สถานบริการสาธารณสุขภายใต้สังกัดสธ.ที่ไม่ต้องการจัดตั้งหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มีหน้าที่ที่จะต้องส่งต่อผู้รับบริการไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยตามระบบ

4.ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามที่ภาคประชาสังคมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และยุติการตั้งครรภ์ เรียกร้อง