ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลไทยเลื่อนโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูง เพราะยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่า จะยอมกู้เงินกับจีนหรือระดมทุนจากพันธบัตรรัฐบาล อีกทั้งยังมีเงื่อนไขที่ไทยจะเสียเปรียบมากเกินไป

สำนักข่าวนิกเคอิรายงานว่า รัฐบาลไทยเลื่อนโครงการสร้างทางรถไฟความเร็วสูงของจีน เนื่องจากยังไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับการหาทุนและกู้เงินในการสร้างโครงการ ซึ่งมีมูลกว่า 9,900 ล้านดอลลาร์ โดยมีการอ้างอิงแหล่งข่าวในภาคคมนาคมของไทยว่า การเจรจาเกี่ยวกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ระหว่างรัฐบาลไทยและจีนยังไม่บรรลุข้อตกลงได้

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยยังไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าจะหาเงินจากไหนมาสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ระหว่างการกู้เงินจากจีนกับการระดมทุนจากพันธบัตรสกุลเงินบาทไทย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่คนนี้ยังเปิดเผยว่า รัฐบาลไทยไม่มีเงินมากนัก เพราะรัฐบาลได้ใช้เงินไปกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปมากแล้ว

อย่างไรก็ตาม เงินทุนไม่ใช่อุปสรรคเดียวของโครงการนี้ เจ้าหน้าที่ไทยที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาโครงการนี้เปิดเผยว่า อุปสรรคอีกข้อก็คือ รายละเอียดเงื่อนไขของโครงการว่าใครจะแบกภาระในการก่อสร้าง

รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ จากสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง คณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ระบุว่า เทคโนแครตไทยคาดหวังว่าจีนจะเอาบริษัทที่ปรึกษาของจีนมาตรวจสอบดูแลการก่อสร้าง แต่จีนไม่มีส่วนรับผิดชอบใดๆ กับรายละเอียดการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง

รศ.ดร.รุธิร์กล่าวว่า เงื่อนไขที่แตกต่างไปจากธรรมเนียมปฏิบัติทางธุรกิจทำให้เทคโนแครตในกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมไทยกระตือรือร้นกันน้อยลงกับโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงสายแรกจากกรุงเทพฯ ไปหนองคาย ซึ่งมีการประเมินว่าการสร้างรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก 252 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมาจะต้องใช้เงินทั้งสิ้น 179,000 ล้านบาท

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ดูเหมือนจะเห็นดีด้วยกับโครงการ BRI ของจีนมาตลอด และเมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็เพิ่งจะแถลงว่า เส้นทางรถไฟความเร็วสูงเฟสแรกเริ่มได้ในปี 2023 และเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปหนองคายจะยาว 873 กิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม คนในแวดวงการเงินและการทูตของไทยต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีวี่แววว่าจะมีงบในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด เมื่อเดือน ม.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างรถไฟไทย-จีน ที่กรุงปักกิ่ง เจ้าหน้าที่ไทยยังพิจารณาข้อเสนอในการกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศจีนในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.3 ซึ่งไทยมองว่าดอกเบี้ยสูงเกินไป

“คนวงใน” ยังเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา บรรยากาศในการเจรจาระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์และหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ไม่ค่อยดีนัก เพราะเรื่องเงินสร้างรถไฟความเร็วสูง และไทยกับจีนก็มีเรื่องขุ่นเคืองใจกันตั้งแต่ 2 ปีก่อนที่จีนไม่ได้เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ไปประชุมฟอรั่มเกี่ยวกับโครงการ BRI รอบแรก แต่ตั้งแต่เดือน เม.ย.ปีนี้เป็นต้นมา ความสัมพันธ์เริ่มกลับมาแน่นแฟ้มขึ้น หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับเชิญในการประชุมครั้งที่ 2 และ พล.อ.ประยุทธ์ยังบอกว่ากับหลี่เค่อเฉียงว่า ไทยจะผลักดันโครงการก่อสร้างทางรถไฟให้ทันเดดไลน์ปี 2023

โครงการรถไฟความเร็วสูงในไทยเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนของจีนที่จะเชื่อมต่อมณฑลยูนนานลงไปจนถึงสิงคโปร์ โดยจีนได้สร้างทางรถไฟลงมาที่ลาวเพื่อจะมาเชื่อมกับไทย โดยโจ ฮอร์น พัธโนทัย ผู้ก่อตั้ง Strategy613 บริษัทที่ปรึกษาการลงทุนไทย-จีนกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงก็มีความเสี่ยงสำหรับไทย เพราะจีนพยายามมีอำนาจเหนือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงและโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อจีนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้ ต่อให้เส้นทางรถไฟนี้จะไม่ได้มาตรฐานเป็นรถไฟความเร็วสูงตามนิยาม ไทยก็ยังใช้ประโยชน์จากความรู้จากจีนได้ผ่านการร่วมทุนในโครงการนี้ ส่วนความเสี่ยงของจีนในการก่อสร้างโครงการ BRI ในไทยก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเช่นกัน หลังจากที่มีการระงับโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเมื่อ 2 ปีก่อน เพราะถูกคนในพื้นที่ต่อต้านอย่างหนัก

บริษัทก่อสร้างของจีนสามารถเข้ามาแข่งในตลาดก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ จากเดิมที่มีญี่ปุ่นและยุโรปเป็นเจ้าตลาดอยู่ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการทูตที่ชาญฉลาดของจีน หลังจากที่มีการรัฐประหารในไทยเมื่อปี 2014 รัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยอมรับพิมพ์เขียวการสร้างทางรถไฟของจีน ตอบแทนที่รัฐบาลจีนยอมรับรัฐบาลทหารของไทย ท่ามกลางเสียงประณามจากประเทศตะวันตก 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวนิกเคอิระบุว่า แหล่งข่าวใกล้ชิดของ พล.อ.ประยุทธเปิดเผยว่า ขณะที่การเจรจายังดำเนินต่อไป เจ้าหน้าที่ในรัฐบาลก็คัดค้านแผนของจีนที่จะให้บริษัทตัวแทนรัฐบาลจีนเข้าไปจับจองพื้นที่พาณิชย์ 2 ข้างทางรถไฟ และประเทศเพื่อนบ้านก็เตือนให้ไทยดูเงื่อนไขต่างๆ ที่จีนเสนอมาอย่างละเอียดถี่ถ้วนเสียก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: