ไม่พบผลการค้นหา
’เลขาฯ บีโอไอ‘ เผย ‘นายกฯ‘ จ่อจับเข่าคุย 500 นักธุรกิจญี่ปุ่น ตั้งเป้าโน้มน้าวชวนใช้ไทยเป็นฮับ สนง.ภูมิภาคบริษัทชั้นนำโลก - เตรียมถก 40 นักธุรกิจชวนลงทุนโปรเจคต์แลนด์บริดจ์ - ปัด ’พานาโซนิก‘ ย้ายฐานผลิตตีจากไทย แจงปิดแค่โรงงานย่อย แต่โรงงานใหญ่ยังอยู่

วันที่ 14 ธ.ค. นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินทางเยื่อนประเทศญี่ปุ่นของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง มีเป้าหมายเชิญชวนนักลุงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมอย่างไรบ้าง ว่า การไปญี่ปุ่นครั้งนี้ บีโอไอเตรียม 3 ภารกิจหลักให้นายกฯ คือ หนึ่ง-การร่วมสัมนากับภาคการค้าการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เป็นงานใหญ่ที่สุดหลังมีโควิด มีนักธุรกิจญี่ปุ่นเข้าร่วมกว่า 500 คน โดย เศรษฐา จะกล่าวถึงทิศทางและมาตรการด้านเศรษฐกิจ จะสื่อสารให้เห็นถึงนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลไทย ว่ามุ่งเน้นใน 5 สาขาหลัก คืออุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมอีเล็กทรอนิคต้นน้ำ อุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค และการส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทต่างๆ เพราะญี่ปุ่นลงทุนในไทยมานาน 40-50 ปี มีฐานการผลิตในประเทศไทย อีกทั้ง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทของญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยกว่า 4 พันโครงการ มูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 30% ของการลงทุนต่างชาติทั้งหมด 

แต่สิ่งที่เราอยากเชิญชวนให้มาลงทุน มากกว่าการเป็นฐานการผลิตนั้น คือการวิจัยและพัฒนาและการตั้งสำนักงานภูมิภาคในประเทศไทย โดยช่วง 4 ปี จากนี้ตั้งเป้าว่า จะมีบริษัทชั้นนำของโลกกว่า 100 บริษัท ให้เขามาตั้งสำนักงานใหญ่ในภูมิภาคในไทย เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 10,000 อัตราและต่อยอดไปสู่ธุรกิจต่างๆต่อไป ขณะที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ก็จะพูดเกี่ยวกับโครงการแลนด์บริต และรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน

เมื่อถามว่า ถึงความเป็นไปได้ในการลงนามเอ็มโอยูความร่วมมือด้านต่างๆ หรือไม่ นฤตม์ กล่าวว่า อาจจะไม่ได้เป็นการลงนามเอ็มโอยู เพราะส่วนใหญ่ลงทุนในไทยอยู่แล้ว แต่จะเป็นการพูดคุยเรื่องแผนธุรกิจในระยะต่อไปว่าจะมีการเตรียมลงทุนอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนนี้จะพูดคุยถึงแผนการลงทุน และสื่อสารมาตรการในการสนับสนุนของรัฐบาลไทย เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับบริษัทรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งเขาอยากให้เราสนับสนุนการทำรถยนต์ SEV รถไฮบริจ และอีโคคาร์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะมาในอนาคต ทั้งเรื่องพลังงานสะอาด และการประหยัดพลังงาน การใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ 

พร้อมกันนี้ยังจะพบกับภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เช่น พานาโซนิค ที่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีและแบตเตอรี่ระดับโลก รวมถึง คูโบต้า ผู้ผลิตเครื่องมือการเกษตรรายใหญ่ในประเทศไทย และบริษัท มิตซุย ที่มีความสนใจเรื่องของพลังงานและเคมี 

โดยการพบบริษัทพานาโซนิค ที่ลงทุนในไทยมายาวนาน และปัจจุบันมีโครงงานในไทยกว่า 10 แห่งนั้น เขาเพิ่มการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอร์รี่รถยนต์อีวีและระบบกักเก็บพลังงานรายใหญ่ของโลก เราก็อยากเชิญชวนให้มาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนคูโบต้า อยากให้มาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรสมัยใหม่ ว่าจะทำอย่างไรในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของไทยให้สูงขึ้น และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรบางชนิดที่ไทยยังต้องนำเข้าอยู่ 

เมื่อถามถึงกรณีกระแสข่าว พานาโซนิก จะย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยไปประเทศอื่น นฤตม์ ชี้แจงว่า เป็นเพียงการปิดโรงงานลักษณะเดียวกันขนาดเล็กๆ เพื่อรวมเป็นโรงงานใหญ่ ในประเทศไทยพานาโซนิก มีทั้งหมด 11 โรงงาน เป็นโรงงานขนาดใหญ่ 4 โรงงาน ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น อุปกรณ์อัตโนมัติในรถยนต์ และเทคโนโลยีที่ซับซ้อนในรถยนต์ ส่วนอุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้ซับซ้อนก็ไปรวมกับประเทศอื่น ทั้งนี้ 4 โรงงานมียอดถึง 80% ของยอดขายทั้งหมด 

ขณะที่ส่วนที่สาม-นายกฯ สุริอยะ และบีโอไอ จะนำเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐาภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ต่อบริษัทเอกชนรายใหญ่ของญี่ปุ่น ที่ลงชื่อเข้าร่วมแล้วกว่า 40 คน อาทิ บริษัทที่เกี่ยวกับการสร้างท่าเรือ การเดินเรือ การประกันภัย การธนาคาร เป็นต้น โดยจะร่วมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการ การพูดคุยกับบรรดาบริษัทเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์ต่อการร่างทีโออาร์ในอนาคตด้วย