ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานทักท้วง 'พรรคเพื่อไทย' หนุนโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล แนะทำหน้าที่อยู่ข้างประชาชน ศึกษาบทเรียนวัดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อย่าให้ซ้ำรอยโครงการขนาดใหญ่ในอดีต ส่งผลกระทบต่อท้องถิ่นเป็นลูกโซ่

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และส.ส.อีสาน ได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังรายงานสถานการณ์น้ำและดูปริมาณน้ำที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น โดยระหว่างลงพื้นที่ได้กล่าวเป็นการสนับสนุนโครงการผันน้ำ ‘โขง-เลย-ชี-มูล’ ว่าพรรคเพื่อไทยจะผลักดันโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล เพิ่มพื้นที่ชลประทานในภาคอีสาน โดยการทำฝายและแก้มลิงกักเก็บน้ำ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งพิจารณา เพราะภาคอีสานเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ หากทำปัจจัยการผลิตให้เพียงพอคือน้ำ และพลิกหน้าดินเป็นเกษตรอินทรีย์ จากเกษตรกรที่คนมองเป็นภาระจะพลิกเป็นผู้หารายได้ให้ประเทศนั้น

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ติดตามสถานการณ์การผลักดันโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสาน ระบุว่า ทางเครือข่ายอยากเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยทบทวนบทบาทและจุดยืนต่อโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล และโครงการจัดการน้ำต่างๆ ตามลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสาน เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำอีสานทั้งระบบ นอกจากนี้ยังเสนอให้พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาปัญหาและผลกระทบความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และนิเวศ ที่เกิดขึ้นจากแนวนโยบายการจัดการน้ำในภาคอีสานทั้งหมด ก่อนที่จะเดินหน้าผลักดันโครงการ

แนะตั้งทีมศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ อย่าซ้ำรอยอดีต

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน กล่าวว่า ภาคอีสานนับเป็นพื้นที่ที่มีนโยบายการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่และระบบชลประทานเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นต้นมา เช่น โครงการอีสานเขียว โครงการโขงชีมูล โครงการชลประทานระบบท่อ โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเหล่านี้มีการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานมากกว่า 1.2 ล้านไร่ แต่ผลของโครงการกลับไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากผลกระทบจากน้ำเค็ม และค่าสูบน้ำที่มีราคาสูง

"กรณีโครงการโขงชีมูล ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 มีการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสายหลักในภาคอีสาน เขื่อนเหล่านั้นได้ทำให้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดของภาคอีสานกลายเป็นอ่างเก็บน้ำ และส่งผลกระทบให้เกิดภาวะดินเค็มแพร่กระจายในพื้นที่ นอกจากนี้ชาวบ้านยังต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิ์จากที่ดินทำกินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาลมากกว่า 2,000 ล้านบาท เพื่อมาแก้ไข ซึ่งมากกว่าค่าก่อสร้างเสียอีก

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน
  • สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน (ภาพจากเดอะอีสานเรคคอร์ด)

"จะเห็นได้ว่าบทเรียนเกี่ยวกับความล้มเหลวด้านแผนการจัดการน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมมานาน ดังนั้นเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน จึงขอเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยทบทวนบทบาท และจุดยืนต่อโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล และโครงการจัดการน้ำต่างๆ ตามลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสานทั้งระบบ" สุวิทย์ กล่าว

พร้อมกับเสนอว่า พรรคเพื่อไทยควรผลักดันให้มีการศึกษาและนำเสนอความคุ้มค่าที่แท้จริงของโครงการผันน้ำ โขง-เลย-ชี-มูล บนพื้นฐานของการคำนึงถึงคุณค่าของระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม พร้อมกับความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์ภายใต้สถานการณ์ความเสี่ยงเรื่องแผ่นดินไหวกับน้ำท่วมฉับพลันในภาคอีสาน

"พรรคเพื่อไทย เป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ควรมุ่งตรวจสอบการผลักดันโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ของนักการเมืองฝ่ายเผด็จการในขณะนี้ มิใช่ส่งเสียงสนับสนุนโครงการที่ขาดหลักธรรมาภิบาลและขาดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งพรรคเพื่อไทยควรมีบทบาทในการสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมจากประชาชนให้รอบด้านตามหลักการประชาธิปไตย" สุวิทย์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: