นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน พ.ศ... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา คือกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดังนี้
อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลของกระทรวงคมนาคมระบุว่า จะมีที่ดินที่ต้องเวนคืนประมาณ 850 – 0 – 04.82 ไร่ และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 245 หลัง จึงมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการภายในระยะเวลา 4 ปี ตามที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ
ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวเห็นว่า มีความจำเป็นต้องก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง รฟท. ในท้องที่ดังกล่าว
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วย (1) โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์เดิม คือช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (2) โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานดอนเมือง และ (3) โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ (บริเวณสถานีรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ลาดกระบัง) ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :