ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อวานนี้ (7 ก.พ.) เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสรีบบินตรงมายังรัสเซีย เพื่อเข้าพูดคุยกับ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ในความพยายามหาทางออกให้กับวิกฤตความตึงเครียดยูเครน ที่มีรายงานพบว่ารัสเซียได้ระดมกองกำลังนับแสนประชิดชายแดน ท่ามกลางกระแสว่ารัสเซียอาจบุกยึดยูเครนในช่วงกลางเดือนที่จะถึงนี้

หลังจากการพูดคุยกันระหว่างมาครงและปูตินในกรุงมอสโกกว่า 5 ชั่วโมงติดต่อกัน มาครงได้ออกมายอมรับกับสื่อว่า การพูดคุยดังกล่าวยังคงไม่ได้สร้างความคืบหน้าในการหาทางออกให้แก่วิกฤตในครั้งนี้ โดยมาครงย้ำว่า ทั้งสองฝั่งได้แก่ชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และรัสเซีย ต้องหาทางเลี่ยงการยกระดับความตึงเครียดให้ได้โดยเร็ว

“ในตอนนี้ ความตึงเครียดได้เพิ่มสูงขึ้น และความเสี่ยงต่อภาวะไร้เสถียรภาพก็เพิ่มขึ้นสูงด้วย” มาครงกล่าว “ไม่ว่าจะรัสเซียหรือสหภาพยุโรปต่างไม่ต้องการความโกลาหลและภาวะไร้เสภียรภาพ ในขณะที่ชาติต่างๆ ได้เผชิญกับความสาหัสจากการระบาด (โควิด-19) ดังนั้น เราจะต้องหาข้อตกลงในการสร้างมาตรการที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น”

ความขัดแย้งในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ยูเครนซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดต่อกันกับรัสเซีย พยายามขอเข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อคานอำนาจกับรัสเซียโดยตรง ทั้งนี้ รัสเซียต้องการหลักประกันว่ายูเครนจะไม่ได้เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ โดยความขัดแย้งกันในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดความตึงเครียดตลอดพรมแดนของทั้งสองชาติขึ้นมาในอีกระลอก

ในวันนี้ (8 ก.พ.) มาครงมีระเบียบการที่จะเดินทางเยือนยูเครน เพื่อเข้าพบและพูดคุยกับ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ณ กรุงเคียฟ โดยมาครงระบุว่า หลังจบจากการเข้าพบประธานาธิบดียูเครน ตนจะทำการระบุถึงรายละเอียดการพูดคุยระหว่างฝรั่งเศสกับยูเครนผ่านทางสายโทรศัพท์ให้แก่ปูตินอีกครั้ง อย่างไรก็ดี การพูดคุยในครั้งนี้ยังไม่ช่วยรับรองว่าปูตินจะพอใจกับผลการเจรจาและการเป็นตัวกลางของฝรั่งเศส

จากการพูดคุยเมื่อวานนี้ ยังไม่มีผลที่ชัดเจนว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะคลี่คลายลง อย่างไรก็ดี ปูตินระบุว่ามันมีความเป็นไปได้ที่ทางรัสเซียจะพิจารณา “หลายข้อเสนอและความคิด (ของมาครง) ในการวางรากฐานไปสู่ก้าวต่อไป” ทั้งนี้ ปูตินยังคงยืนยันว่า นโยบายเปิดประตูขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ในการขยายอิทธิพลของยุโรปตะวันตกเข้ามายังยุโรปตะวันออกจะส่งผลประโยชน์ให้เพียงแก่สหรัฐฯ เท่านั้น

นอกจากนี้ ปูตินยังได้ระบุอีกว่า รัสเซียพร้อมให้ที่ลี้ภัยทางการเมืองแก่ เปโตร โปโรเชนโก อดีตประธานาธิบดียูเครนผู้ถูกตั้งข้อหากบฏจากทางการยูเครนว่า โปโรเชนโกมีความพยายามการแยกแผ่นดินยูเครนซึ่งมีรัสเซียคอยหนุนหลัง โดยปูตินระบุว่า ตนเชื่อว่าโปโรเชนโกอาจทำผิดในหลายเรื่อง แต่ข้อหากบฏดังกล่าวเป็นการตั้งข้อหาที่หนักเกินไปจากผู้นำยูเครนคนปัจจุบัน

มาครงยอมรับว่าจากพูดคุยนั้น ยุโรปยังไม่สามารถคาดหวัง “เรื่องอัศจรรย์” ในการยุติความตึงเครียดในครั้งนี้ลงได้ทันที โดยยุโรปอาจระงับความขัดแย้งในระยะสั้นได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันยังเต็มไปด้วยความตึงเครียดและความวิตกกังวล อย่างไรก็ดี จากรายงานระบุว่า รัสเซียมีกองกำลังของตนเองที่ประจำการประชิดชายแดนยูเครนแล้วกว่า 70% ในการบุกเข้ายูเครนอย่างเต็มรูปแบบ

นอกจากความขัดแย้งในครั้งนี้ที่อาจระเบิดออกมาเป็นสงครามครั้งใหญ่ในยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองแล้วนั้น โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้เข้าพบกับ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเนียบขาว โดยผู้นำทั้งสองมีการพูดคุยหารือกันเพื่อหาทางออกบนประเด็นว่า ยูโรปกับสหรัฐฯ จะทำอย่างไร หากรัสเซียทำการปิดท่อไม่ส่งก๊าซของตนมายังยุโรป

ทั้งนี้ ไบเดนระบุว่า การตัดสินใจบุกยึดยูเครนของรัสเซียจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดขนานใหญ่ อย่างไรก็ดี ทั้งสหรัฐฯ และเยอรมนีได้ระดมกำลังทหารของตนเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์หากรัสเซียตัดสินใจบุกยูเครนจริง และชาติตะวันตกจะมีมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างรุนแรงหากมีการรุกรานเกิดขึ้น

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/feb/07/macron-warns-dont-expect-miracles-in-talks-with-putin-over-ukraine?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR35W2g69p2SnJ3pgT2-_Eg7HaYZd4MuIWHlziWOOvf44QwvU2iuzucKvPw

https://www.france24.com/en/europe/20220208-putin-says-ready-for-compromise-with-west-after-talks-with-macron-on-ukraine