ไม่พบผลการค้นหา
ศูนย์วิจัยดิเรก ชัยนาม จัดเสวนา 'ศึกศักดิ์ vs. ศรี ถึงกรณีล็อกคอ' ตั้งวงวิพากษ์ความรุนแรงในสังคมไทย ชี้สื่อเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงทางกายภาพ นักวิชาการเห็นพ้องความรุนแรงทางกฎหมาย ผลพวงจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง และวัฒนธรรม เอื้อรัฐเปิดพื้นที่ความรุนแรง

วันที่ 4 พ.ย. 2565 ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาวิชาการ “ศึก ศักดิ์ vs. ศรี” ถึง “กรณีล็อกคอ”: ฤาความรุนแรงจะคือคำตอบสำหรับความขัดแย้งทางการเมืองไทย? โดย พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งามศุกร์ รัตนเสถียร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหดิล ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ร่วมพูดในงานเสวนา

'ช่อ' ชี้ 'สื่อ' สร้างผู้เห็นต่างเป็นปีศาจ สร้างความชอบธรรมให้การทำร้ายอย่างรุนแรง 

โดย พรรณิการ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่ เค ร้อยล้าน บุกเข้าไปทำร้ายร่างกาย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า สิ่งที่ระทึกคือการที่ เค พูดว่า "กูมีระเบิด" และตอนนั้นคนแน่นมาก เนื่องจากมารอขอลายเซ็นจากธนาธร จึงคิดว่า เป็นการวางแผนเพื่อทำให้คนลังเลว่าจะเข้าไปช่วยดีหรือไม่ และคนวิ่งแตกกระเจิง ดีที่งานหนังสือเป็นพื้นที่โล่งไม่อย่างนั้นคงจะเหยียบกันแน่นอน 

พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า พฤติกรรมของ เค ร้อยล้าน เป็นตัวอย่างของคนที่มีความสุดโต่งทางการเมือง และแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทั้งนี้การทำงานทางการเมืองตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ มาจนถึงคณะก้าวหน้า และพรรคก้าวไกล เค ร้อยล้าน ไม่ใช่คนแรกที่กระทำความรุนแรง 

พรรณิการ์ อธิบายอีกว่า ความรุนแรงมีรูปแบบของมันเอง โดยเริ่มจากการทำให้รู้สึกว่า คนเห็นต่างไม่มีความเป็นมนุษย์ มีศักดิ์ศรีต่ำกว่า เริ่มจากความคิด และภาษา เช่น ตัวเองโดนด่าว่า อีช่อ อีคางทูม และถูกผลิตซ้ำผ่านสื่อ ใช้แล้วเชื่อ มนุษย์คนนี้ต่ำกว่าคนอื่น การพยายามทำให้เห็นว่า การใช้รุนแรงกับคนเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ 

การเลือกตั้งในปี 2562 ยังไม่มีความรุนแรงที่เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก แต่การเลือกตั้ง อบจ. ในช่วงหลังเหตุการณ์ยกระดับปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เป็นช่วงที่การเมืองเข้มข้นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ และทำให้คนชี้ว่า พรรคอนาคตใหม่ เป็นปีศาจ ไม่ใช่มนุษย์ เกิดกระแสสร้างความเกลียดชังทางกายภาพ 

และรุนแรงขึ้นจากการที่ ชาวนครศรีธรรมราชบุกไปปิดล้อมโรงแรมที่ ธนาธร ไปทำกิจกรรม แต่สุดท้ายทาง ธนาธร ก็เลือกที่จะไม่ปะทะ จากนั้นไปหาเสียงที่จังหวัดไหนก็เริ่มเกิดเหตุการณ์คล้ายกัน โดยมีที่ จ.สิงห์บุรี ที่ถูกเกณฑ์คนมาชูป้ายไล่ และ จ.นนทบุรี ที่ถูกเปิดเพลงหนักแผ่นดินใส่หน้า รวมถึงมีการเขวี้ยงของ และตะโกนด่า 

พรรณิการ์ กล่าวอีกว่า เขาส่วนใหญ่คือผู้กุมอำนาจ และมีศักยภาพที่จะทำให้เราด้อยค่าผ่านสื่อ เมื่อผ่านไปสักพัก สิ่งที่เกิดขึ้นจะเริ่มกลายเป็นเรื่องธรรมชาติ ส่งผลให้ใครทำอะไรก็ได้กับคนเหล่านั้น 

"การทำงานการเมืองต้องใช้การพูดคุยเพื่อการเปลี่ยนใจ เมื่อไหร่ก็ตามเกิดความรุนแรงทางการเมือง สถานการณ์มันอื้ออึงเกินกว่าจะเปลี่ยนใจคนได้" พรรณิการ์ กล่าว 

พรรณิการ์ 9BA3-55BA1BC9534D.jpeg


ปนัสยา C9-484209807C05.jpeg

'รุ้ง'แนะสันติวิธีเปิดโอกาสต่อสู้อย่างสร้างสรรค์

ปนัสยา กล่าวว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง คือ ความรุนแรงเชิงกฎหมาย เห็นได้จากการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ หลังเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ ไปจนถึงการยกเพดานเร่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ตนก็ยังสงสัยว่า ทำไมไม่มีการแจ้งข้อหาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และได้คำตอบจากคำวินิจฉัยของศาลที่ระบุว่า เป็นพวกล้มล้างการปกครอง ผิดกฎหมาย มาตรา 49 จึงทำให้เข้าใจแล้วว่า กฎหมายตีตราให้เป็นการล้มล้างการปกครอง จึงไม่ต้องใช้ มาตรา 112 

ปนัสยา กล่าวอีกว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 1,000 คน เป็นความรุนแรงที่ตนเอง และผู้คนทั่วไปมองมันอย่างเผินๆ และมีการใช้กฎหมายมาดูแลจัดการ แต่แท้จริงแล้ว มันคือการเสริมสร้างความรุนแรงเข้าไปเพื่อจัดการกับผู้เห็นต่าง อย่างตนเองก็โดนให้กักบริเวณอยู่ในหอพักนักศึกษาตลอด 24 ชม. เป็นเวลา 1 เดือน ซึ่งเรามีความรูัสึกโกรธ และอัดอั้นในใจมาก โกรธกับสังคมที่ไม่เป็นธรรม และผู้มีอำนาจใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม นั่นจึงทำให้มีเป้าหมายในการเคลื่อนไหว แต่ไม่ใช่ว่า เราต้องใช้ความโกรธในวิธีการที่จะเคลื่อนไหวตลอดเวลา 

ปนัสยา ให้ความเห็นเรื่องการต่อสู้แบบสันติวิธีว่า จากงานวิจัยพบว่า แนวทางสันติวิธีมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า 3 เท่า นี่ไม่ใช่โลกสวย แต่มองอย่างความเป็นจริงที่สุดแล้ว ซึ่งสันติวิธีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะมากที่จะเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ เช่น ทำให้เป็นอารมณ์ขัน หรือโบว์ขาวของกลุ่มนักเรียน การชูป้ายผ้า การเล่นดนตรี ใช้เสียงเพลงในการสื่อสารออกมาว่า เรากำลังต่อต้านเธออยู่ 

ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าวว่า เมื่อเห็นข่าวลุงศักดิ์ (วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล) บุกชกหน้า ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย บอกได้ทันทีว่าไม่ได้ ไม่น่าจะถูก และไม่ชื่นชมกับการปฏิบัติการของลุงศักดิ์ ถึงแม้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของศรีสุวรรณ และมองให้ไกลกว่านั้น ทำไมความรุนแรงถึงดำรงอยู่ นั่นเพราะมีกลไกบางอย่างที่ทำให้ ความรุนแรงนั้นมีความชอบธรรม หรือ Everyday Violence  

เขา ยังให้ความเห็นอีกว่า สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบันนี้เรียกร้อง การอดทน ในสมัยกิจกรรมทางการเมืองในปี 2535 การเดินขบวนจากสะพานผ่านฟ้าไปทำเนียบรัฐบาล หรือจากที่หนึ่งไปที่หนึ่งเป็นเรื่องปกติ และในปี 2553 ที่รัฐใช้ความรุนแรงมันทำให้ความชอบธรรมนั้นลดลง และคิดว่า เมื่อฝ่ายรัฐผ่อนความรุนแรงลง ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ใช้ความรุนแรงยากขึ้น มันเลยเรียกร้องการสร้างสรรค์ยุทธวิธีอื่นๆ ซึ่งการล้อเลียนรัฐ มันคือสิ่งหนึ่งทำให้อำนาจที่ขึงขัง สามารถกลายเป็นเรื่องตลกได้ 

เสวนาล็อกคอ ธนาธร -330031E6E377.jpegเสวนา ล็อกคอ -505512B99448.jpeg

'ชญานิษฐ์' เผยสังคมไทยมีความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม

ขณะที่ ชญานิษฐ์ ให้ความเห็นว่า ทั้งลุงศักดิ์ และเค ร้อยล้าน ก็เป็นการใช้ความรุนแรง และสิ่งที่ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาให้ความเห็นว่า การชกต่อยไม่ใช่การใช้ความรุนแรง เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะสิ่งที่เรียกว่าความรุนแรง พื้นฐานที่สุดให้ดูพฤติกรรมที่กระทำต่อมนุษย์ด้วยกันเอง โดยไม่สนใจว่าใช้อาวุธประเภทไหน อีกทั้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทำให้ ศรีสุวรรณ ได้พื้นที่เสียงมากขึ้น และก็ยังฟ้องต่อไปอีก ต่อให้หยุดได้จริง แต่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างยังคงอยู่ ก็จะมีตัวแสดงอื่นๆ ขึ้นมาทำหน้าที่แทนศรีสุวรรณ กระทั่งรวมถึงพื้นฐานกระบวนการยุติธรรมที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด 

ชญานิษฐ์ อธิบายว่า ความรุนแรงอีกประเภทคือ ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม ความคิดความเชื่อที่รองรับความรุนแรงทางกายภาพ และความรุนแรงเชิงโครงสร้าง เค ร้อยล้าน เป็นภาพสะท้อนความรุนแรงทางวัฒนธรรม เป็นตัวแทน ที่ใช้ความรุนแรงเพื่อกำจัดคนที่เขามองว่า คนนั้นกำลังละเมิดสิ่งที่เขายึดถือ และมองว่าต้องทำ ต่างคนต่างเป็นตัวแทนหมู่บ้าน ไม่แปลกใจทำไมเค ร้อยล้าน ใช้ความรุนแรง ก็เพราะส่วนหนึ่ง สื่อนำเสนอคนที่เห็นต่างให้เป็นปีศาจที่น่าเกลียดน่ากลัว 

'งามศุกร์' ชี้แสดงความเห็นต่ำ ประชาชนมีราคาน้อย ส่งผลรุนแรงเชิงโครงสร้าง 

ด้าน งามศุกร์ มองว่า จากกรณีลุงศักดิ์ และศรีสุวรรณ จึงอยากให้ดูการสัมภาษณ์ของครูใหญ่ที่สอบถามเรื่องราวของลุงศักดิ์ จะได้เห็นว่า ลุงศักดิ์ เติบโตมาเป็นแบบไหน แม่เป็น CIA ต้องดิ้นรนครั้งอาศัยอยู่ที่ จ.สุราษฎร์ธานี และอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรง และเริ่มใช้ความรุนแรงป้องกันคนที่ตัวเองรัก 

ขณะเดียวกัน แม้ ศรีสุวรรณ จะบอกว่า ตนเองไม่นิยมความรุนแรง แต่มันเป็นความรุนแรงจากการใช้กฎหมาย และหมายความว่า ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่มองว่า กฎหมายไม่ได้บิดเบี้ยว และนำมาซึ่งทั้งหมดที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ซึ่งไม่ได้มีแค่ศรีสุวรรณ แต่ยังมีนักธุรกิจที่ฟ้องปิดปาก เช่นกรณีฟาร์มไก่ธรรมเกษตรที่ฟ้องตั้งแต่ปี 2559-2565 เพราะแชร์ความเห็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของแรงงานเมียนมาร์

มันสะท้อนว่า ที่ผ่านมา เราอนุญาตให้กฎหมายปิดปาก บรรยากาศของการแสดงออกทางความคิดเห็นมันต่ำมากในประเทศนี้ แต่ในขณะเดียวกัน รัฐกลับเปิดเสรีภาพให้คนใช้ความรุนแรงกันได้ นั่นเพราะประชาชนในประเทศนี้ราคามันน้อยมาก 

งามศุกร์ กล่าวอีกว่า ในท้ายที่สุด การเรียกร้องพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเรื่องเสรีภาพ คนเท่ากัน แต่สิ่งหนึ่งที่อาจจะต้องดูด้วยคือเรื่อง ภารดรภาพ เราจะต้องอยู่ร่วมกัน อย่างน้อยความเป็นเพื่อนจะช่วยเป็นเกราะป้องกันเวลาเราเถียงกันด้วยความคิดที่แตกต่าง แต่ที่ผ่านมามันช่วยคุ้มครองเราได้หรือเปล่า 

นอกจากนี้ ในงานเสวนายังได้มี วรวรรณ แซ่อั้ง หรือป้าเป้า และเอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองร่วมเข้ารับฟัง โดย เอกชัย ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น จากการที่เขาเป็นผู้ได้รับความรุนแรงจากรัฐว่า เมื่อรัฐคิดว่า เขาทำเราได้แค่นี้ เขาก็จะเห็นว่า ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ และรัฐก็จะหยุดของเขาเอง เพราะตนเคยโดนทำร้ายร่างกาย 7 ครั้ง เผารถ 2 ครั้ง 

อย่างกรณีลุงศักดิ์ ความรุนแรงมันน้อยมาก ถ้าเทียบกับความรุนแรงโดยรัฐ เช่น ทหารคลั่งที่โคราช หรือตำรวจไปยิงเด็กที่ จ.หนองบัวลำภู เพราะเจ้าหน้าที่รัฐมมีอภิสิทธิ์ถืออาวุธได้ง่ายกว่าชาวบ้านทั่วไป โอกาสความรุนแรงจากประชาชนน้อยมาก และความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐมักจะจบลงด้วยความตาย รวมถึงหน่วยงานจะแห่กันมาถอดบทเรียนแต่ไม่ได้ช่วยอะไร 

ป้าเป้า -68BA-4B95-AA18-55C825AA94E2.jpeg