จากรณีการประชุมวุฒิสภา โดยมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในการประชุม โดยช่วงหนึ่ง 'กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ' ส.ว. หารือว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้ตรากฎหมายเพื่อใช้ตรวจสอบองค์กรเอ็นจีโอซึ่งรับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ หลังจากที่พบว่าโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ และอาจจะอยู่เบื้องหลังความวุ่นวายทางการเมืองในปัจจุบันหรือไม่
นอกจากนี้ ไอลอว์ยังยื่นรายชื่อประชาชนขอให้แก้รัฐธรรมนูญร่างกฎหมายในประเทศ แล้วแบบนี้จะเหลือศักดิ์ศรีของชาติอีกหรือไม่ ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นหรือขี้ข้าใคร ซึ่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์นั้นแก้ทุกอย่าง ทั้งหมวด 1 บททั่วไป ที่ห้ามแบ่งแยกราชอาณาจักร หมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่ไม่คิดจะแก้เรื่องเว็บโป๊ ดังนั้นหากนำร่างรัฐธรรมนูญจากองค์กรที่รับเงินจากต่างชาติมาพิจารณานั้นจะสมควรหรือไม่
หากย้อนดูหลักใจความสำคัญของร่างรัฐธรรมฉบับของไอลอว์ ซึ่งล่ารายชื่อประชาชนได้กว่า 100,000 ราย ได้ประกาศวัตถุประสงค์ ชัดเจนว่าเพื่อรื้อระบอบอำนาจของ คสช. และสร้าง หนทางกลับสู่ประชาธิปไตย โดยเปิดทางให้เกิดการ ร่าง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จากการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยแคมเปญ 5 ยกเลิก 5 แก้ไข โดยระบุในเว็บไซค์ดังนี้
ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อคนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ในระยะเวลา 5 ปี ระหว่างที่ยังมีวุฒิสภาชุดพิเศษ ของ คสช. เป็นเสียงสำคัญในการลงมติ
ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ให้ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน / นโยบายรัฐบาล การทำงานของหน่วยงานราชการ ต้องเป็นไปตามแผนการนี้
ยกเลิก หมวด 16 การปฏิรูปประเทศด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตาม, เสนอแนะ, เร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ
ยกเลิกมาตรา 252 ที่กำหนดให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษสามารถได้มาโดย ‘วิธีอื่น’ นอกจากการการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น เพื่อกลับไปสู่ระบบเลือกตั้งท้องถิ่นตามปกติ
ยกเลิกมาตรา 279 ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัว ไม่ต้องรับผิด กำหนดให้การกระทำทุกอย่างของคสช ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นๆ รับรองให้ประกาศและคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป
ตัดระบบบัญชีว่าที่นายกฯ ที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้ และแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็นส.ส.เท่านั้น
ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ 200 คนและใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง การคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540
ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระจากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเอง เปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เขียนโดยคนของ คสช. ทั้ง 7 ฉบับ 10 ฉบับ? ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกกต. ชุดใหม่ โดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540
ตัดอำนาจ ส.ว.ในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้การแก้ไขอาศัยเพียงเสียงของสองสภารวมกัน ไม่บังคับต้องทำประชามติ
ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สสร. 200 คน เป็นรายบุคคลหรือเป็นตัวแทนกลุ่มก็ได้ ประชาชน 1 คนเลือก สสร. ได้เพียง 1 คนหรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง สสร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชาชนมีส่วนร่วมให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน
ก่อนหน้านี้เกิดดราม่ามาแล้วถึงที่มาของเงินทุนไอลอว์ ซึ่งได้มีการชี้แจงผ่านสาธารณะแล้วว่า นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กรระหว่างปี 2552 ถึง 2557 ไอลอว์รับการสนับสนุนทุนจาก มูลนิธิ Open Society (Open Society Foundation) และมูลนิธิ Heinrich Böll และได้รับเงินสนับสนุนหนึ่งครั้งจากบริษัท Google
ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. Open Society Foundation (OSF)
2. Heinrich Böll Stiftung (HBF)
3. National Endowment for Democracy (NED)
4. Fund for Global Human Rights (FGHR)
5. American Jewish World Service (AJWS)
6. ได้รับเงินสนับสนุนเป็นรายครั้งจากบริษัท Google และผู้สนับสนุนอิสระ
อ่านเพิ่มเติม