ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดู 6 'คดีล้มล้างการปกครองฯ' ทั้งที่ศาล รธน. ตัดสินว่ามีความผิด และไม่มีความผิด รวมถึงการ 'ยกฟ้อง' เราลองมาดูกันคดีเหล่านี้ มีเหตุแห่งการฟ้อง และมีแนวคำวินิจฉัยอย่างไร

รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยจะประกันสิทธิเสรีภาพไว้หลายประการ เช่น ประชาชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การชุมนุมโดยสงบ การนับถือศาสนา การตั้งพรรคการเมือง และอื่นๆ 

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็จะวางกลไกป้องกันตัวเอง (Militant Democracy) ไม่ให้เสรีภาพที่ให้ประชาชนย้อนกลับมาทำลายรัธรรมนูญหรือระบอบการปกครองของรัฐธรรมนูญนั้น และนี่คือหน้าที่ของ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่อยู่ในหมวด 3 ว่าด้วยการใช้สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

มาตรา 49 บัญญัติเพียงว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้"

การตีความมาตรา 49 นั้นขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีอำนาจสั่งให้ยุติการกระทำที่ศาลเห็นว่าเป็น ‘การล้มล้างการปกครอง’ ได้

ในรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อาทิ รัฐธรรมนูญปี 2495 หรือรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ก็มีการบัญญัติมาตราในลักษณะนี้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไม่เคยชัดเจนคือ นิยามของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขคืออะไร แล้ว ‘การล้มล้างการปกครอง’ นั้นหมายถึงอะไร

เราลองมาดูกันว่า กรณีถูกร้องด้วยข้อหา ‘ล้มล้างการปกครอง’ ที่ผ่านมา มีเหตุแห่งการฟ้องร้อง และแนวคำวินิจฉัยอะไรที่น่าสนใจบ้าง 


คดีอิลลูมินาติ
_110280837_bb63db6d-da5f-4694-80a8-5ad16c908ddc.jpeg

ปีที่ตัดสินคดี - 2563

ผู้ร้อง - ณฐพร โตประยูร

ผู้ถูกร้อง - พรรคอนาคตใหม่, ธนาธร จึงรุงเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล และคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่

เหตุแห่งการร้อง

  1. ข้อบังคับของพรรคใช้คำว่า ‘พรรคอาคตใหม่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’ แต่ไม่มีคำว่า ‘อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ
  2. บุคคลในพรรคอนาคตใหม่ มีแนวคิดล้มล้างการปกครองในระบอบกษัตริย์ มีแนวคิดทัศนคติคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก เป็นกระบวนการปฏิกษัตริย์นิยม มีแนวคิดต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมไทย โดยการแสดงความคิดเห็นในช่วงเวลาต่างๆ ทั้งก่อนและหลังจดทะเบียนก่อตั้งพรรค
  3. การแถลงนโยบายของพรรค เกี่ยวข้องกับการลงนามสัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม ว่าด้วยธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เป็นการลดบทบาทความคุ้มกันของพระมหากษัตริย์ไทย 
  4. สัญลักษณ์ของพรรคมีลักษณะสามเหลี่ยมด้านเท่าหัวกลับ มีความเหมือนสมาคมอิลลูมินาติ โดยเชื่อว่าสมาคมดังกล่าวอยู่เบื้องหลังการล้มล้างการปกครองของระบอบกษัตริย์ของหลายประเทศในทวีปยุโรป 

คำวินิจฉัย - ไม่มีความผิด

เหตุผลในคำวินิจฉัย  

  1. กรณีข้อบังคับพรรค ได้ผ่านการพิจารณาจากนายทะเบียนพรรคการเมือง พร้อมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว หากมีข้อความใดขัดหรือแย้งกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 14 และ 15 นายทะเบียนพรรคการเมืองจะเสนอ กกต. มีมติให้พรรคแก้ไขเอง
  2. กรณีพฤติกรรมของคณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ที่รวมถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และปิยบุตร แสงกนกกุล ศาลชี้ว่าเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆ ทั้งเว็บไซต์และสื่อมวลชน ยังไม่ปรากฏพฤติกรรมตามที่กล่าวหา ส่วนหากมีการดำเนินคดีอาญาในอนาคต ก็ว่ากันตามกฎหมายต่อไป

สรุป

คดีนี้เริ่มต้นจาก ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อ 15 พ.ค.2562 กล่าวหาพรรคอนาคตใหม่ว่า ‘มีแนวคิดและเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ โดยขอให้ศาลมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของ ธนาธร ,ปิยบุตร และกรรมการบริหารพรรค

ตอนแรก ณฐพร ไปร้องต่ออัยการสูงสุดแล้ว แต่อัยการสูงสุดไม่ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องจึงไปยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องและไม่เปิดให้มีการไต่สวนพยาน ทำให้พยานหลักฐานที่จะใช้ในการพิจารณาคดีหลักๆ มีเพียงคำร้องของณฐพรและเอกสารชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาจากพรรคอนาคตใหม่เท่านั้น   

"ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเห็นว่า คดีนี้มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้โดยไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวน ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอทั้งสองฉบับ" ศาลรัฐธรรมนูญระบุ

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยโดยใช้เวลาประมาณ 10 นาที มีข้อสรุปว่า ข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองแต่อย่างใด

“ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยวา การกระทําของผูถูกรองทั้งสี่ ตามที่ผูร้องกล่าวอ้างไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง” คําวินิจฉัยระบุ 


คดีชุมนุม 10 สิงหาฯ 63 
1ce7dd2a175ee8afe2847b34ed249655.jpeg

ปีที่ตัดสินคดี - 2564

ผู้ร้อง - ณฐพร โตประยูร

ผู้ถูกร้อง - อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล

เหตุแห่งการร้อง - เนื่องจากการปราศรัยของผู้ถูกร้องทั้ง 3 บนเวที ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ผู้ร้องเห็นว่าการปราศรัยในวันเวลาและสถานที่ต่างๆ ของคณะบุคคลดังกล่าว มีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เป็นการกระทำมีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ได้บรรยายคำฟ้องของจำเลยที่ 1 คือ อานนท์ นำภา, จำเลยที่ 2 ภาณุพงศ์ จาดนอก และจำเลยที่ 3 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดยวารสาร 'จุลนิติ' ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้สรุปไว้ดังนี้ 

วารจุลนิติ คดี 10 สิงหาวารจุลนิติ คดี 10 สิงหา

คำวินิจฉัย - มีความผิด

เหตุผลในคำวินิจฉัย 

  1. ศาลวินิจฉัยอ้างแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 และ 3/2562 ที่วางหลักคำว่า ‘ล้มล้าง’ ว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อรัฐธรรมนูญและระบอบการปกครองที่สุดวิสัยที่จะแก้ไขให้กลับคืน ซึ่ง ‘การยกเลิก’ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา จะส่งผลให้พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะนำไปสู่ความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน อันไปอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ และนำไปสู่การบ่อนทำลายระบอบในที่สุด 
  2. มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ฯ จากการเสนอยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ผู้ใดจะกล่าวหาหรือล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ไม่ได้
  3. ใช้คำหยาบ ละเมิดสิทธิผู้อื่น จากการออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นกระทำตาม
  4. การเคลื่อนไหวมีลักษณะเป็นขบวนการ มีพฤติการณ์กระทำซ้ำและต่อเนื่อง มีลักษณะปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม
  5. ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับความเห็นที่แตกต่าง
  6. มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะของเครือข่าย สำหรับการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ในเหตุการณ์ผู้ถูกร้องมีส่วนอภิปราย ปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นการทำลายความเสมอภาคและภราดรภาพ ผลของการกระทำของผู้ถูกร้องที่ 1,2,3 นำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

สรุป

10 พ.ย. 2564 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เพื่ออ่านคำวินิจฉัย ระบุว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงหลักเสมอภาค โดยคำวินิจฉัยสรุปได้ว่า 

การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชสถานะขอพระมหากษัตริย์ ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนููญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะอันนําไปสู่การสร้างความ ปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะ พอควรโดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนําไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่่สุด ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ด้วยกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปวงชนชาวไทยยังเห็นพ้องร่วมกันอัญเชิญพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นสถาบันหลักคู่ชาติไทยและถวายความเคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ข้อเรียกร้องที่ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ให้ การรับรองพระราชสถานะขององค์พระมหากษัตริย์ว่าทรงเป็นประมุุขของรัฐที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง

การกระทำ ของผู้ถูกร้อง เป็นการเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะโดยอ้างการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนููญ นอกจากเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคําหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนอื่นที่เห็นต่างด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้บุคคลอื่นกระทำตาม

ยิ่งกว่านั้น การกระทำของผู้ มีการดําเนินงานอย่างเป็นขบวนการเพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์และเป้าหมาย แม้การปราศรัยของผู้ถููกร้อง เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศููนย์รังสิต จังหวัดปทุุมธานี จะผ่าน ไปแล้ว ภายหลังจากที่ผู้ร้องยื่นคําร้องต่อศาลรัฐธรรมนููญ ยังปรากฏว่า ผู้ถููกร้อง ยังคงร่วมชุมนุมกับกลุ่มบุคคลกลุ่มต่างๆ โดยใช้ยุทธวิธีเปลี่ยนแปลงรูปแบบการชุมนุม วิธีการชุมนุม เปลี่ยนตัวบุุคคลผู้ปราศรัย ใช้กลยุุทธ์เป็นแบบไม่มีแกนนําที่ชัดเจน แต่มีรูปแบบการกระทำอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มคนที่มีแนวคิดเดียวกัน การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องและกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการที่มีเจตนาเดียวกันตั้งแต่แรก ผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์กระทำซ้ำและกระทำต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะของการปลุกระดมและใช้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะของการที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและใช้ความรุนแรงในสังคม

ปรากฏข้อเท็จจริงประจักษ์ว่า การกระทำของผู้ถูกร้อง มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง บางเหตุุการณ์ ผู้ถูกร้องมีส่วนจุดประกายโดยการปราศรัยปลุุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้้เกิดความแตกแยก ของคนในชาติ อันเป็นการทำลายหลักการความเสมอภาค และภราดรภาพ ผลของการกระทำของผู้ถูกร้อง นําไปสู่การล้มล้างระบอบประชาธิปไตยในที่สุด

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า การชุุมนุุมหลายครั้ง มีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบ แถบสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์ ข้อเรียกร้อง 10 ประการ ของผู้ถูกร้อง เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนููญ การยกเลิกการบริจาค และรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้อง แสดงให้เห็นมููลเหตุจูงใจของผู้ถูกร้อง ว่าการใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้อง มีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็็นการปฏิรูป

ศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จึงวินิจฉัยว่า การกระทำของทั้ง 3 คน ‘เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง และสั่งการให้ทั้ง 3 คน รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง

ในคดีนี้ มีหลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยและข้อสังเกต ต่อปัญหาในทางกฎหมายในการพิจารณาคดีไว้หลายประการ อาทิ 

  1. ข้อเท็จจริงหลายประการที่ศาลยกขึ้นมาประกอบคำวินิจฉัยดัง ไม่เคยปรากฏในสำนวนคดี หรือให้ผู้ถูกร้องมีโอกาสได้โต้แย้ง หรือนำสืบพยานหลักฐานหักล้าง การที่ศาลหยิบยกมาใช้วินิจฉัยคดีจึงเป็นวิธีการพิจารณาคดีที่ขัดต่อมาตรา 27 ด้วย
  2. คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ‘สั่งเกินคำขอ’ และสั่งให้มีผลรวมไปถึงบุคคลภายนอกคดีด้วย โดยไม่ชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใดบ้าง โดยการออกคำสั่งกลับครอบคลุมไปยังกลุ่มองค์กรเครือข่าย และการกระทำในอนาคตด้วย และแม้จะไม่ชัดเจนว่า การสั่งเกินคำขอของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยถูกองค์กรใดตรวจสอบมาก่อน แต่การพิจารณาคดีและการออกคำสั่งในคดีนี้ทำให้บุคคลภายนอกคดีเสียสิทธิไปด้วย
  3. การวินิจฉัยว่าบุคคลใดล้มล้างการปกครองฯ หรือไม่ ต้องอาศัยทั้งเจตนาของบุคคลนั้น และองค์ประกอบของการกระทำประกอบกัน ทว่าในในคำวินิจฉัยของศาล ก็ระบุด้วยว่า “หากยังคงให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" กล่าวได้ว่า ในคำวินิจฉัยนั้น การกระทำของผู้ถูกร้องยังไม่มีครบองค์ประกอบที่จะเป็นการ ‘ล้มล้างการปกครองฯ’ ได้ แต่เพียงศาลคาดการณ์ไว้ว่า หากยังคงดำเนินการต่อไปก็  ‘ไม่ไกลเกินเหตุ’ 

คดี กปปส. ตั้งสภาประชาชน 

ปีที่ตัดสินคดี - 2556

ผู้ร้อง -  เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ, สิงห์ทอง บัวชุม, กิตติ อธินันท์ และ วิชาญ นุ่มมาก

ผู้ถูกร้อง - สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.

เหตุแห่งการร้อง - การกระทำบุกยึดสถานที่ราชการ เสนอตั้งสภาประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

คำวินิจฉัย - ไม่รับคำร้อง

เหตุผลในคำวินิจฉัย  - ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้อง เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว ไม่มีมูลตามคำร้องดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 68

สรุป

คดีนี้ เริ่มจากการที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต สว.สรรหา, สิงห์ทอง บัวชุม สมาชิกพรรคเพื่อไทย กิตติ อธินันท์ และ วิชาญ นุ่มมาก ยื่นคำร้องรวม 7 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำบุกยึดสถานที่ราชการ เสนอตั้งสภาประชาชน ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากการรักษาการ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครองและกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

ต่อมา 26 ธ.ค.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวระบุว่าคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติ ‘ไม่รับคำร้อง’ เนื่องจากเห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้อง เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว ไม่มีมูลตามคำร้องดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 68 ส่วนกรณีการออกหมายจับ นายสุเทพ และพวกเป็นเรื่องที่ผู้ต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย


คดีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แก้รัฐธรรมนูญให้ สว.มาจากการเลือกตั้ง
415968914_1874844049598325_2626153487764743572_n.jpg

ปีที่ตัดสินคดี - 2556

ผู้ร้อง -  พลเอกสมเจตน บุญถนอม กับคณะ, วิรัตน์ กัลยาศิริ, สาย กังกเวคิน กับคณะ, พีระพันธุ สาลีรัฐวิภาค กับคณะ

ผู้ถูกร้อง - ประธานรัฐสภา, รองประธานรัฐสภา, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา

เหตุแห่งการร้อง 

  1. ผู้ร้องทั้ง 4 เห็นว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมเป็นร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่) พุทธศักราช .... เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ ‘มิชอบ’ ด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 
  2. ในการพิจารณาวาระที่ 1 และ 2 ประธานและรองประธานสภาขณะนั้น ได้ตัดสิทธิ์แปรญัตติของผู้ขอแปรญัตติ ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้สงวนความเห็น จำนวน 57 คน โดยอ้างว่า ความเห็นดังกล่าวขัดหลักการ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฟังคำอภิปราย… การรวบรัดปิดอภิปรายและปิดประชุมเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียง จึงเป็นการใช้อำนาจโดยไม่ชอบ 
  3. อีกทั้งการนับเวลาในการแปรญัตติในกรณีนี้ก็ไม่ถูกต้อง โดยผู้ร้องอ้างว่า หลังรับหลักการในวาระ 1 วันที่ 4 เมษายน 2556 ผู้เสนอร่าง ต้องกำหนดเวลาในการแปรญัตติ 15 วัน และ 60 วัน ตามข้อบังคับการประชุม เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะกำหนดเวลาเท่าใด สิ่งที่เกิดขึ้นคือ องค์ประชุมขณะนั้นไม่ครบ ประธานสภาจึงกำนหดวันยื่นคำแปรญัตติ 15 วัน แต่ก็ถูกทักท้วง ประธานสภาจึงนัดประชุมใหม่วันที่ 18 เมษายน ซึ่งการประชุมในวันนั้น ที่ประชุมได้ลงมติให้มียื่นคำแปรญัตติภายใน 15 วัน นอกจากนี้ ประธานสภายังสรุปอีกว่า ให้เริ่มนับเวลาย้อนหลังตั้งแต่ที่ 4 เมษายน 2556  ทำให้ระยะเวลาขอแปรญัตติไม่ครบ 15 วันตามมติที่ประชุม โดยเหลือเพียง 1 วันเท่านั้น
  4. วิธีการแสดงตนในการลงมติพิจารณา การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ สว. นั้นมีการแสดงตนและลงมติแทนกัน ขัดกับหลักการและวิธีการที่ถูกต้อง

คำวินิจฉัย - มีความผิด แต่ไม่ยุบพรรค

เหตุผลในคำวินิจฉัย 

  1. การแปรญัตติ ต้องมีเวลาพอสมควร เพื่อให้สมาชิกสภาที่อยากขอแปรญัติ สามารถทราบระยะเวลาที่แน่นอนในการยื่นขอแปรญัตติ ดังนั้น การนับระยะเวลา ไม่อาจนับเวลาย้อนหลังได้ แต่ต้องนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเป็นต้นไป การเริ่มนับระยะเวลาย้อนหลังไปจนทำให้เหลือระยะเวลาแปรญัติแค่ 1 วัน ถือว่าขัดต่อข้อบังคับและไม่เป็นกลาง 
  2. การออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริต จากกระบวนการลงคะแนนที่ไม่ตรงข้อบังคับการประชุม และขัดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มิอาจถือได้ว่าเป็นมติที่ชอบของรัฐสภา ในกระบวนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
  3. รัฐธรรมนูญ มีเจตนารมณ์ให้ สว. เป็นอิสระจาก สส. อย่างแท้จริง จึงได้บัญญัติห้ามความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน … การแก้ไขที่มาของ สว. ให้มาจากการเลือกตั้งทางเดียว เหมือนกับ สส. จึงเป็นเหมือนสภาเดียวกัน ไม่เกิดความแตกต่างและเป็นอิสระซึ่งกันและกันของสองสภา เป็นการทำลายลักษณะและสาระสำคัญของระบบสองสภาให้สูญสิ้นไป 
  4. อีกทั้งการแก้ไขที่มาและคุณสมบัติของ สว. ทำให้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกันของสองสภาสูญเสียไปอย่างมีนัยยะสำคัญ และทำให้ฝ่ายการเมืองควบคุมอำนาจเหนือสภาได้เบ็ดเสร็จ กระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สรุป

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2556 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องรูปแบบของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) อย่างเช่นการแก้ไขคุณสมบัติและให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 

กระทั่งเรื่องการแก้ไขที่มา ส.ว. ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าประธานรัฐสภา สส. และ สว.ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขที่มา ส.ว. ในขณะนั้นใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พร้อมทั้งขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง ด้วยเหตุว่าที่มาของ ส.ว.ดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการทำลายระบบตรวจสอบและถ่วงดุลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 จึงอาจจะเป็นการกระทําเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ด้วยมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง วินิจฉัยว่าการแก้ไขที่มา ส.ว. มีเนื้อความที่เป็นสาระสําคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 อันเป็นการกระทําเพื่อให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 

ส่วนในกรณียุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไข จึงให้ยกเลิกคำร้องในส่วนนี้

ทั้งนี้ มาตรา 68 วรรค 1  ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 บัญญัติว่า บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้

และได้กำหนดให้สามารถเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้ และศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของสว.จากการแต่งตั้ง ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติ 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า เนื้อความที่เป็นสาระสำคัญ ขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ 2550  “เป็นการกระทำเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

ส่วนในกรณียุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไข จึงให้ยกเลิกคำร้องในส่วนนี้


คดียุบ ทษช. ปฏิปักษ์การปกครอง
415882073_373486501978898_7938913698530098886_n.jpg

ปีที่ตัดสินคดี - 2562

ผู้ร้อง - กกต. 

ผู้ถูกร้อง - พรรคไทยรักษาชาติ

เหตุแห่งการร้อง 

  1. พรรคไทยรักษาชาติ ยื่นชื่อทูลกระหม่อมหญิง อุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี แต่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวดพระมหากษัตริย์ ระบุว่า พระมหากษัตริย์อยู่เหนือการเมือง เป็นกลางทางการเมือง และไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ได้ ครอบคลุมทั้งราชินี รัชทายาท และบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ 
  2. การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ จึงถือเป็น ‘ปฏิปักษ์’ ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรง เป็นประมุข

คำวินิจฉัย - ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตัดสิทธิ์ทางการเมืองผู้บริหารพรรค 

เหตุผลในคำวินิจฉัย 

  1. หลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทย คือพระบรมวงศานุวงศ์ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง และต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง คณะกรรมการบริหารพรรค ย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญาฯ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังคงดำรงในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์ การกระทำของผู้ถูกร้อง เป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง 
  2. การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ สามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลาง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง

สรุป

คดีนี้ เกิดขึ้นในช่วงระหว่างการประกาศพระราชกฤษฎีกา ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป 2562 โดยเกิดเหตุการณ์สำคัญ จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช) ซึ่งมีผลให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งมีผลให้ถูกยกเลิกไปก่อนที่จะถึงวันลงคะแนนเลือกตั้ง 

เหตุการณ์นี้ เริ่มจากพรรคไทยรักษาชาติ ได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นนายกรัฐมนตรีในบัญชีของพรรคการเมือง ทำให้ กกต. พิจารณาคำร้องที่ขอให้ตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวของพรรคไทยรักษาชาติเข้าข่ายผิดพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) กระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

ต่อมา ที่ประชุม กกต.เมื่อ 12 ก.พ.2562 มีมติว่า การกระทำดังกล่าว เป็นเหตุให้ต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสั่งยุบพรรคการเมืองได้ต่อไป ซึ่งมติของ กกต.เกิดขึ้นหลังจากมีพระราชโองการ ประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนในวันที่ 8 ก.พ.2562

ต่อมาวันที่  7 มี.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ 9 เสียง วินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 (2) กรณีกระทำการอันอาจเป็น ‘ปฏิปักษ์’ ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพิจารณาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ของกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค

คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญยังอธิบายการกระทำการ ‘ล้มล้างการปกครอง’ และนิยามของคำว่า ‘อันอาจเป็นปฏิปักษ์’ ซึ่งน่าจะเป็นบรรทัดฐานในคดีที่ถูกร้องในข้อกล่าวหาเดียวกัน

“ถึงแม้กฎหมายจะไม่ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า ‘ล้มล้าง’ และ ‘ปฏิปักษ์’ ไว้ แต่ทั้งสองคำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองด้วยว่า ‘ล้มล้าง’ หมายถึง การกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสลายหมดสิ้นไป ไม่ให้ดำรงอยู่หรือมีอยู่อีกต่อไป”

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบ ทษช. ยังชี้ว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์มาเป็นฝักฝ่ายในทางการเมือง เป็นการกระทำที่วิญญูชนคนทั่วไป ย่อมรู้สึกได้ว่าสามารถทำให้พระมหากษัตริย์ของไทยที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติต้องถูกนำไปใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยลให้ปรากฏผลเสมือนเป็นฝักฝ่ายทางการเมือง และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางทางการเมือง อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข


คดีก้าวไกลหาเสียงแก้ 112 
โลโก้พรรคก้าวไกล.jpg

ปีที่ตัดสินคดี - 2567

ผู้ร้อง - ธีรยุทธ สุวรรณเกษร

ผู้ถูกร้อง - พรรคก้าวไกล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

เหตุแห่งการร้อง 

  1. กรณี สส.พรรคก้าวไกลสมัยที่แล้ว นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ร่วมกันลงชื่อ เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ… เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

คำวินิจฉัย - ยังไม่ตัดสิน

เหตุผลในคำวินิจฉัย - ยังไม่ตัดสิน

สรุป

คดีนี้ เริ่มจาก ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ และเคยเป็นทนายของ(อดีต)พุทธะอิสระ ไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยพฤติการณ์ 2 กรณีของพรรคก้าวไกล คือ

  1. กรณี สส.พรรคก้าวไกลสมัยที่แล้ว นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้าสภา
  2. กรณีพรรคก้าวไกล นำเรื่องการจะแก้ไขมาตรา 112 ไปเป็นนโยบายหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา

โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ทั้ง 2 กรณีของพรรคก้าวไกลเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หรือไม่?

โดย ธีรยุทธ สุวรรณเกษร  ได้ใช้แนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2 คดี มาเป็นแนวทางในการยื่นคำร้อง นั่นคือ

  1. คดีชุมนุม 10 สิงหาฯ 63 ที่อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ขึ้นปราศรับ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า พฤติการณ์ของผู้ถูกร้อง ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้แกนนำม็อบสามนิ้ว และกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
  2. คดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรคกรณีเสนอชื่อ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยในคำวินิจฉัย ปรากฏคำว่า ‘ล้มล้าง’  กับ ‘ปฏิปักษ์’ โดยล้มล้างที่พูดถึงคือ ทำให้สิ้นสูญไป ทำให้ไม่มีเหลืออยู่ แต่คำว่าปฏิปักษ์ คำวินิจฉัยมีการแยกย่อยออกมาว่า คือการกระทำใดๆ ก็ได้ที่ก่อให้เกิดการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย ทำให้ด้อยค่า ที่อาจเกิดการสูญสลายไปในวันข้างหน้าในที่สุด และคำว่า ‘ปฏิปักษ์นี้ หาอาจจำต้องให้เกิดผลร้ายเสียก่อน ไม่ เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์นั้น ก็ถือว่าผิดและขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว’ และยังอธิบายต่อไปอีกว่า คำว่า ‘อาจเป็นปฏิปักษ์ ไม่อาจจำต้องให้เกิดความเสียหาย เพียงแต่วิญญูชนมองเห็นแล้วว่า หากปล่อยเนิ่นช้าไป ความเสียหายเกิดขึ้นแน่ในอนาคต’

 ธีรยุทธ ระบุว่า คำวินิจฉัยของ 2 คดีนี้มีความคล้ายกัน คือ ต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม และกล่าวว่า 

“คำร้องของผม ขอให้พรรคก้าวไกลหยุดเรื่องนี้ หยุดใช้ 112 ในการหาเสียง แต่เมื่อวันนี้การหาเสียงเลือกตั้งจบไปแล้ว ก็ขอให้พรรคก้าวไกลหยุดที่จะแสดงความเห็น หยุดการเผยแพร่ใดๆ ในเรื่องมาตรา 112 เพราะผมตีความจากคำวินิจฉัยที่ยกมา 2 คดีข้างต้นที่่ว่า ตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้ลุกลาม คือไม่ให้พูดต่อ ให้หยุดเสีย ให้มันหายไปเลย ไม่ต้องพูด ไม่ให้แสดงความเห็นหรือเผยแพร่ข้อความใด รวมถึงไม่สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขมาตรา 112 ต่อรัฐสภาด้วย”

สำหรับแนวทางในการวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง วันที่ 31 ม.ค. นี้ ผศ.ศร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ชี้ความเป็นปได้ใน 3 แนวทางด้วยกันคือ 

  1. ศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีคำสั่งยกคำร้อง
  2. ศาลวินิจฉัยว่าไม่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แต่สั่งให้หยุดการกระทำ
  3. ศาลวินิจฉัยว่าเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และสั่งให้ยุบพรรค

นอกจากนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่ สส.ก้าวไกลสมัยที่แล้ว ร่วมกันลงชื่อแก้ 112 เป็นพฤติการณ์ ‘ล้มล้างการปกครอง’ ก็อาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามนำเรื่องไปขยายผล ยื่นเรื่องเอาผิด สส.ก้าวไกลที่ร่วมกันลงชื่อว่า ทำผิดมาตรฐานจริยธรรม โดยใช้กรณีที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษา ให้ ช่อ-พรรณิการ์ วานิช อดีต สส.อนาคตใหม่ มีความผิดฐานฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงกรณีโพสต์ข้อความพาดพิงสถาบัน ที่ศาลตัดสินให้ถอนสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิต และไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อนำมาเทียบเคียงว่าจะสามารถเอาผิดได้หรือไม่

แต่หากศาลรัฐธรรมนูญ ‘ยกคำร้อง’ โดยเห็นว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้มีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง สิ่งที่อาจจะตามมาคือ พรรคก้าวไกลเดินหน้าลงชื่อเสนอร่างแก้ไขมาตรา 112 เข้าสภาทันที เพื่อทำตามที่ได้หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ และจะทำให้การพูดเรื่องการแก้ 112 ถูกโหมโรง  เพราะถือว่าศาล รธน.ไฟเขียวแล้วว่าทำได้ ไม่ถือว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครอง\


อ้างอิง