ไม่พบผลการค้นหา
คดี ‘หมอกระต่าย’ คืบ นำตัวผู้ต้องหาพร้อมสำนวนคดีส่งฟ้องอัยการ แจ้งรวม 9 ข้อหา โทษหนักสุดคุกไม่เกิน 10 ปี นัดฟังคำสั่งฟ้อง 22 ก.พ. นี้ ยันพิจารณาถี่ถ้วน

วันที่ 10 ก.พ. 2565 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถ.รัชดาภิเษก พ.ต.อ.บวรภพ สุนทรเรขา ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพญาไท นำตัว ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (คฝ.) ผู้ต้องหาคดีขับขี่รถจักรยานยนต์ชน พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ ‘หมอกระต่าย’ เสียชีวิตบนทางม้าลาย พร้อมด้วยสำนวนการสอบสวนคดี ไปส่งฟ้องต่ออัยการ เมื่อเวลา 15.00 น. โดยประมาณ น.ต.ต.นรวิชญ์ เดินทางมาถึงสำนักงาน อสส. โดยมีอาการนิ่งเงียบ และไม่ตอบคำถามใดๆ

22503.jpg

อิทธิพร แก้วทิพย์ อธิบดีสำนักงานคดีอาญา ในฐานะโฆษกสำนักงาน อสส. เป็นตัวแทนรับสำนวนคดี พรัอมระบุว่า พนักงานสอบสวนได้ตั้งข้อหา ส.ต.ต.นรวิชญ์ ทั้งสิ้น 9 ข้อหา โดยข้อหาที่อัตราโทษหนักได้แก่ ขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนผู้อื่นถึงแก่ความตาย โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับขั้นต่อไปจะส่งเรื่องต่อไปยัง ธวัชชัย หัตถะปนิตร์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 พิจารณาสำนวนคดีด้วยความรอบคอบ รวดเร็ว โดยคาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 12 วัน ก่อนจะนัดหมายผู้ต้องหาเข้าฟังคำสั่งของสำนักงานอัยการในวันที่ 22 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้รับทราบว่าทางพนักงานอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง และฟ้องข้อหาใดบ้าง พร้อมระบุว่าผู้ต้องหามีสิทธิสู้คดีตามขั้นตอนปกติของกระบวนการยุติธรรม

ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงาน อสส. กล่าวว่า สำนวนคดีประเภทนี้ สำนักงานอัยการมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการที่จะพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน ขอให้สังคมมีความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม ต้องขอเวลาให้คณะทำงานได้พิจารณาสำนวนคดีก่อน นอกจากนี้ ตามข้อกฎหมายระบุว่า หากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ญาติของ ‘หมอกระต่าย’ ไม่จำเป็นต้องจ้างทนายฟ้องคดี สามารถยื่นเรื่องให้คณะอัยการว่ามีค่าเสียหายใดบ้าง ทางอัยการจะดำเนินเรื่องขอทางแพ่งให้ทั้งหมด ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 44/1 

ทั้งนี้ รองโฆษก อสส. ยืนยันว่าคณะอัยการจะพิจารณาคดีนี้อย่างครบถ้วนทุกมิติ ไปจนถึงหากพิจารณาแล้วว่ามีพฤติกรรมร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.การจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 162 ก็จะมีคำขอให้เพิกถอนหรือพักใบอนุญาต แม้จะอยู่ในดุลยพินิจของศาลเป็นหลัก แต่อัยการก็มีส่วนในการร่วมพิจารณาด้วยเช่นกัน