นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวถึงนโยบายการปรับเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กม/ชม.บนถนน 4 เลน เพื่อแก้ปัญหารถติด ว่า ขณะนี้มีแนวคิดเพิ่มเติมในการแก้ปัญหารถติด โดยจะเสนอให้มีการลงโทษผู้ขับขี่ที่ ใช้เลนขวาสุด แต่มีการขับรถด้วยความเร็วต่ำกว่า 80 เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีรถจำนวนมากขับช้าแต่ใช้เลนขวาทำให้เกิดปัญหารถติดเป็นอย่างมาก เบื้องต้นจะต้องแก้ไขกฎกระทรวงเพื่อปรับกำหนดอัตราความเร็วในช่องทางขวา ซึ่งอาจจะให้ใช้ความเร็ว ระหว่าง 80-120 กม./ชั่วโมงเท่านั้น และต้องไปหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วย
ส่วนการปรับเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กม./ชั่วโมง บนถนน 4 เลนนั้น ขอชี้แจงว่าจะบังคับใช้เฉพาะรถส่วนยนต์บุคคลเท่านั้น ส่วนรถโดยสารสาธารณะทั่วไปจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของรถแต่ละชนิดตามเดิม อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สั่งการเพิ่มให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ไปเตรียมจัดทำแถบชะลอความเร็วบนพื้นถนนเพื่อเตือนผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วในช่วงโค้ง หรือช่วงที่มีทางแยกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุฯ วอนพิจารณารอบคอบ ก่อนแก้ กม. เพิ่มความเร็ว
ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เสนอความเห็นทางวิชาการ และข้อห่วงใยในหลายๆ ประเด็น ที่ทางกระทรวงคมนาคม อาจต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ก่อนที่จะแก้กฎหมายความเร็วใหม่นี้ขึ้นมา ดังนี้
1. ประเด็นแรก คือการเพิ่มความเร็วจำกัดดังกล่าว จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้รถยนต์ทั่วไปสามารถใช้ความเร็วบนทางหลวงได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน สูงที่สุดติดอันดับโลกนั้นเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าดูข้อมูลทางสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบนทางหลวงในประเทศไทยจะพบว่า 70% ของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากสาเหตุของการใช้ความเร็วเป็นหลัก อันนี้เราพูดถึงในขณะที่เราจำกัดความเร็วตามกฎหมายเดิมคือ 80-90 กม.ต่อชม.
จากข้อมูลการสืบสวนอุบัติเหตุในเชิงลึกที่ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยได้ทำการศึกษามาในหลายเคสอุบัติเหตุ ก็มีข้อมูลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าถ้าผู้ขับขี่ขับรถแล้วชนที่ขณะความเร็วเพียงแค่ 100 กม.ต่อชม. โอกาสเสียชีวิตนั้นสูงถึง 100% หรือถ้าเป็นมอเตอร์ไซค์ แล้วมีการชนที่ความเร็วเพียง 80 กม.ต่อชม. โอกาสเสียชีวิตนั้นก็สูงถึง 100% เช่นเดียวกัน เรียกได้ว่าถ้ารถยนต์ชนที่ 100 กม.ต่อชม. หรือมอเตอร์ไซค์ชนที่ 80 กม.ต่อชม. โอกาสรอดชีวิตแทบไม่มี แต่ในขณะนี้เรากำลังจะเพิ่มโอกาสให้คนขับรถเร็วขึ้นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ลองคิดดูว่าจะมีอุบัติเหตุและคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากขึ้นขนาดไหน ต้องอย่าลืมว่า ยิ่งขับเร็วเท่าไร โอกาสในการเกิดอุบัติเหตุก็จะสูงขึ้น รวมถึงโอกาสในการเสียชีวิตด้วย
2. นิสัยคนไทยในปัจจุบันนั้นชอบขับรถเร็วอยู่แล้ว โดยมักจะอ้างว่าสภาพของถนนนั้นดี สมรรถภาพของรถก็เอื้อให้คนขับรถเร็วได้ ขณะนี้กลายเป็นว่าเราได้กำหนดความเร็วจำกัดใหม่ ตามพฤติกรรมของผู้ขับขี่บนท้องถนน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถนนในประเทศไทยที่มีความกว้างและเรียบ คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่ารถก็น่าจะวิ่งเร็วได้ แต่เราต้องอย่าลืมว่า ถนนทางหลวงในบ้านเราส่วนใหญ่เป็น ถนน 4-6 เลน ที่วิ่งในต่างจังหวัด ที่มีเป็นจำนวนมากหลายๆ หมื่นกิโลเมตรนั้น มีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร จะพบว่าถนนทางหลวงในต่างจังหวัด เต็มไปด้วยทางเข้าออก จุดยูเทิร์น บางครั้งมีมอเตอร์ไซค์วิ่งตัดบ้าง มีรถบรรทุกหนักวิ่งออกมาจากซอยบ้าง หรือมีคนข้ามถนนโดยไม่ได้คาดคิดบ้าง คือเรียกได้ว่าถนนทางหลวงส่วนใหญ่ในประเทศเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะมีสิ่งเหล่านี้ แล้วถ้าเราอนุญาตให้รถวิ่งเร็วขึ้นได้ คนก็จะขับรถเร็วในระดับ 120 กม.ต่อชม.กันหมด ลองคิดดูว่าถ้าเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่มีรถตัดหน้าในลักษณะนี้ การควบคุมรถที่ความเร็วสูงๆ ก็จะทำได้ยากยิ่งขึ้น
3. ความเร็วที่ใช้ในการออกแบบทางหลวงในปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมทางหลวงชี้ว่า ทางหลวงทั่วไปใช้ความเร็วในการออกแบบอยู่ที่ 90-110 กม.ต่อชม. ซึ่งความเร็วที่ใช้ในการออกแบบนี้ เป็นความเร็วที่ปลอดภัยที่ใช้ในการออกแบบทางเรขาคณิตของถนน ใช้สำหรับออกแบบทางโค้งดิ่งและโค้งราบ ระยะการมองเห็นตามทางแยก และระยะในการติดตั้งป้ายเตือนป้ายบังคับต่างๆ ความเร็วจำกัดเดิมจึงมีส่วนอ้างอิงมาจากการใช้ความเร็วในการออกแบบ โดยปกติแล้วความเร็วจำกัดจะต้องมีค่าต่ำกว่าความเร็วในการออกแบบถึง 10-15 กม.ต่อชม. แต่ในกรณีนี้จะมีการเพิ่มความเร็วจำกัด โดยไม่ได้คำนึงถึงความเร็วที่ใช้ในการออกแบบของถนน สิ่งอันตรายที่จะเกิดตามมาก็คือ ต่อไปนี้ความเร็วที่รถยนต์จะใช้ จะมีโอกาสสูงกว่าความเร็วที่ใช้ในการออกแบบของถนน นั่นหมายถึงถนนจะไม่สามารถรองรับความเร็วของรถยนต์ได้อีก และอาจจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น
4. ปัญหาอีกเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องใหญ่คือ อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ที่มีการใช้งานหรือติดตั้งอยู่บนถนนในปัจจุบัน ท่านทราบหรือไม่ว่าการ์ดเรล หรือราวกันอันตรายที่ป้องกันไม่ให้รถยนต์ตกข้างทางหรือป้องกันไม่ให้รถไปชนกับวัตถุอันตรายข้างทางนั้น ไม่สามารถป้องกันการชนที่ความเร็วถึง 100 กม.ต่อชม.ได้ คือพูดได้ว่าถ้าขับมาเกิน 100 กม.ต่อชม. ราวเหล็กกั้นอันตรายเหล่านั้นก็เอาไม่อยู่ ดังนั้นถ้าเราอนุญาตให้คนขับรถได้ที่ความเร็วเกิน 100 กม.ต่อชม. หมายความว่าเราต้องเปลี่ยนอุปกรณ์กั้น หรืออุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยทั่วประเทศ ต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ลองคิดดูว่าเราต้องใช้งบประมาณมากขนาดไหน ถ้าดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันที่เรายังไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะเอามาติดอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยเหล่านี้ได้ทั่วประเทศเลย บางแห่งก็ติด บางแห่งผู้ใช้ถนนก็ต้องรับความเสี่ยงกันเอาเอง
5. อย่าลืมว่า ขณะนี้ในเวทีระดับนานาชาติ และองค์กรต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น WHO UN World Bank และอื่นๆ กำลังเฝ้าคอยดูอยู่ว่าประเทศไทยกำลังจะจัดการกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนนอย่างไร เราจะมีนโยบายและมาตรการอะไรในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน แต่สิ่งที่เรากำลังจะทำคือการแก้ไขกม. เพิ่มความเร็วจำกัด ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับมาตรการที่ต่างประเทศเคยทำในการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียดรอบคอบ ว่าถ้าแก้กม.นี้ไปแล้ว จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาบ้าง จะเกิดความสูญเสียมากขึ้นหรือไม่
ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่ได้เห็นแย้งสำหรับการแก้ไขกฎหมายความเร็วไปทุกประเด็น ในกรณีที่จะเพิ่มความเร็วจำกัดของทางด่วนนั้น ผู้เขียนไม่มีข้อโต้แย้ง เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของทางด่วน กับทางหลวงในต่างจังหวัดนั้นไม่เหมือนกัน ทางด่วนเป็นถนนประเภทที่มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ ไม่มีทางแยก ไม่มีจุดยูเทิร์น ไม่มีมอเตอร์ไซค์วิ่ง มีอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยติดตั้งในระดับที่สามารถป้องกันการชนของรถที่ความเร็วสูงๆได้ ดังนั้นอาจจะเพิ่มความเร็วจำกัดให้สูงขึ้นมากกว่า 100 กม.ต่อ ชม.ได้ แต่สำหรับทางหลวงแผ่นดินทั่วไป ความยาว 5 หมื่นกว่ากิโลนั้น ทางผู้เขียนยังคงไม่เห็นด้วยกับเปลี่ยนแปลงความเร็วจำกัดใหม่นี้ และเห็นว่าหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งหน่วยงานทางวิชาการควรมีการหารือให้ตกผลึกเสียให้ดีก่อน โดยในการกำหนดความเร็วจำกัด ควรมีการพิจารณาให้รอบด้านทั้งลำดับชั้นของถนน (Hierarchy of Movement) และลักษณะทางกายภาพของถนน เช่น ทางเข้าออก ประเภทรถที่ใช้ เพราะถ้าแก้กฎหมายโดยปราศจากการพิจารณาอย่างรอบคอบ สิ่งที่จะเกิดตามมานั้นอาจก่อให้เกิดความสูญเสียมากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
ศึกษาค่ารถไฟ 15 บาท
สำหรับความคืบหน้าในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้า เหลือ 15 บาท ว่า “นโยบายนี้ผมไม่ได้เป็นคนพูด แต่ผมขอยันยันว่าจะทำ ให้ได้ แต่จะต้องไม่กระทบต่อภาระงบประมาณของรัฐบาล เบื้องต้นคาดว่าจะเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ต่อเส้นทาง ไม่ใช้ตลอดเส้นทางที่ผู้โดยสารเดินทาง โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแนวทางและให้นำมาตรการมาเสนอภายใน 3 เดือน”
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าอาจจะใช้วิธีการไปเจรจากับเอกชนเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อขอให้ปรับลดราคาโดยแลกกับผลประโยชน์จากรัฐ อาทิ การขยายระยะเวลาสัมปทานนั้น ขณะนี้ยังไม่อยากพูดแต่ขณะนี้คิดวิธีไว้แล้ว แต่ก็ต้องรอผลการศึกษาและมาตรการที่แต่ละหน่วยงานที่เสนอมาก่อน ซึ่งภายใน 3เดือนนี้จะได้ข้อสรุปแน่นอน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :