เวทีเสวนาสาธารณะว่าด้วยหัวข้อ จะทำอะไรเพื่อสื่อของเด็ก ผ่าน 6 ตัวแทนพรรคการเมือง ประกอบไปด้วย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคประชาธิปัตย์ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ พรรคเพื่อไทย น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ พรรคอนาคตใหม่ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ พรรคภูมิใจไทย นางชยิกา วงศ์นภาจันทร์ พรรคไทยรักษาชาติ นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี พรรคพลังประชารัฐ ร่วมกันแสดงวิสัยทัศน์ สะท้อนมุมมองผ่านนโยบายของแต่ละพรรค
โดย น.ส.กุลธิดา ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่าการศึกษาและสื่อไม่สามารถแยกออกจากกันได้ สำหรับการรู้เท่าทันสื่อ ควรจะเกิดขึ้นทุกเพศทุกวัย โดยมีโจทย์หลักให้เป็นหลักสูตรที่เป็นการเรียนการสอนอย่างแท้จริงได้ โจทย์หลักคือจะบูรณาการให้เกิดเป็นรูปธรรมในห้องเรียนได้อย่างไร ซึ่งผู้ใหญ่ต้องทำความเข้าใจกับการเปลี่ยนแปลงของสื่อ เพื่อที่จะสื่อสารกับเด็กและวางกฎเกณฑ์ร่วมกัน
สำหรับแพลตฟอร์มสื่อในปัจจุบัน ยังไม่สามารถเข้าถึงและเปิดโอกาสให้เด็กสร้างสื่อได้เท่าที่ควร จึงอยากเสนอให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันจัดกิจกรรม รวมถึงการกระจายการเข้าถึงสื่อในทุกพื้นที่ และเปิดโอกาสให้เด็กเข้าถึงการผลิตสื่อให้เท่าเทียมกัน เพื่อให้เกิดความหลากหลายในการผลิต
ขณะที่การกลั่นแกล้งกันในประเทศไทยมีตัวเลขค่อนข้างสูง จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวดและมีการให้ความรู้กันในทุกระดับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สื่อ ขณะที่องค์กรต่างๆต้องกำกับดูแลผ่านการพูดคุย ไม่ใช่การเซ็นเซอร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สำหรับพฤติกรรมติดเกมของเด็ก อาจต้องมองไปที่โครงสร้างของสังคม โจทย์ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวของพวกเขามีกิจกรรมที่เป็นสันทนาการ นอกเหนือจากการเดินเข้าร้านเกม นั่นอาจจะเป็นการสร้างทางเลือกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็กได้
นางชยิกา ตัวแทนพรรคไทยรักษาชาติ ให้ความเห็นว่าถ้าเราอยากให้เด็กไทยก้าวทันโลกในยุคศตวรรษที่21 สิ่งที่ต้องทำคืออยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแล ควบคู่ไปกับการปฎิรูปการศึกษา ด้วยความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เช่น การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเด็กและเยาวชนมีความรู้ตรงนี้ จะสามารถแยกแยะได้ว่าสื่อแบบใหนดีหรือไม่ดี ดังนั้นสิ่งที่อยากเสนอคือให้ความรู้กับผู้ใหญ่ ส่วนรัฐต้องไม่ใช่ผู้ควบคุมเนื้อหาที่ถูกสื่อสาร แต่ต้องมองในลักษณะส่งเสริม โดยไม่ใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปกป้องความมั่นคงของประเทศอย่างเดียว แต่ต้องปกป้องประชาชนด้วย
สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมเกม สิ่งที่ภาครัฐจะต้องทำคือการตรวจสอบว่ามีเนื้อหาเหยียดเพศหรือมีความรุนแรงเกินไปหรือไม่ จึงจำเป็นต้องดูที่ความเหมาะสมเป็นหลัก
นายพริษฐ์ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นว่าถึงแม้สิ่งที่นำเสนอจะมีสาระน่าสนใจเพียงใด แต่ไม่สนุกพบว่าไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เช่นเดียวกับโลกโซเชียลมีเดียไม่ได้เลวร้ายเสมอไป แต่ยังสามารถทำให้เยาวชนได้ติดตามข้อมูลข่าวสาร โดยพรรคปชป. เห็นว่ารัฐไม่ควรเข้าไปควบคุมหรือผลิตเอง แต่ความเป็นจริงต้องปล่อยให้กลไกของตลาดดำเนินตามกระบวนการไป โดยมีสามแนวทางที่อยากเสนอคือ กำหนดการส่งเสริมประสิทธิภาพสื่อผ่านกองทุน ขณะที่ตัวแทนในการผลิตสื่อต้องมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย รวมถึงการลดหย่อนภาษี ในที่สุดแล้วต้องทำให้สถาบันการศึกษาสามารถผลิตสื่อเองได้
อย่างไรก็ดี ต้องมีการคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดังปรากฎว่ามีบางรายการถูกจัดเรทติ้งต่างกันแม้จะนำเสนอเนื้อหาที่ไม่หล่อแหลม ขณะที่เดียวกันต้องคุ้มครองดาราเด็ก ที่จำเป็นต้องมีกำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน
“สิ่งที่น่ากังวลคือการแก้ปัญหาไซเบอร์บุลลี่ ที่ต้องอบรมให้ครอบคลุมทั้งผู้ปกครอง ครู และเด็ก ทางพรรคปชป. เห็นว่าต้องพัฒนาสื่ออย่างสรร้างสรรค์ และปกป้องเหยื่อทั้งในฐานะผู้ชมและผู้ผลิต” พริษฐ์ กล่าว
ส่วนการพัฒนาอุสาหกรรมเกมไม่ใช่เพียงเรื่องความสนุกอย่างเดียว หลายประเทศได้ใช้เกมให้เรียนรู้ปัญหาคอร์รัปขัน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยจะช่วงชิงการเจริญเติบโตของธุรกิจอุตสาหกรรเอมเกมได้
นางลดาวัลลิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยจะใช้สื่อในโลกยุคใหม่ เป็นแรงขับเคลื่อนทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาสื่อไทยล่มสลายในทุกมิติ โดย กสทช. มองข้ามการส่งเสริมไปโฟกัสที่การแข่งขันทำให้สื่อหลายแห่งขาดทุนกันถ้วนหน้า สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลว
ดังนั้นภาครัฐต้องเป็นผู้ควบคุมไม่ให้ทุนเข้ามาควบคุมการนำเสนอเนื้อหา แต่ที่ผ่านมาอายุรัฐบาลสั้น ทำให้ไม่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้ที่เข้ามาดูแลไม่มีความรู้และความเข้าใจ โดยประเด็นนี้พรรคเพื่อไทยมีแนวทางในการยกระดับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้ทุกคนมีศักดิ์ศรีอย่างเท่าเทียมกัน
"การพัฒนาเด็ก อย่าได้เห็นเพียงรายได้และผลประโยชน์ การที่เห็นแต่ผลกำไร ยากที่จะเห็นสื่อที่สร้างสรรค์ ดิฉันคิดว่าถ้าเด็กเข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้เด็กได้รับสื่อที่พวกเขาสนใจ” โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว
สำหรับสื่อวิทยุต้องตั้งคำถามว่าคลื่นของทหารมีเยอะไปหรือไม่ จึงอยากให้ส่งเสริมให้วิทยุชุมชนกลับมาคึกคักอีกครั้ง
น.ส.วทันยา ตัวแทนพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า สำหรับสื่อเพื่อเยาวชนในยุคปัจจุบันรัฐบาลต้องเป็นแกนนำในการจัดตั้งกองทุนให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามาจัดสรรงบร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดเลยว่าให้จัดทำสื่อเพื่อเยาวชนของชาติ จึงจำเป็นต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนเพื่อสนับสนุนสื่อให้ผู้ผลิตมีกำลังในการผลิตสื่อที่เนื้อหาตอบโจทย์
ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเกาหลีใต้เสนอผ่านซีรีย์ ที่ปลูกฝังให้เยาวชนในประเทศสร้างจิตสำนึก และซึมซับวัฒนธรรมของประเทศ ขณะในแง่ของผู้ประกอบการก็ต้องหมนุวนตามวงจรของระบอบทุนนิยม ที่จำเป็นต้องเสนอเนื้อหาเพื่อแข่งขันเรทติ้งให้ตอบโจทย์กลุ่มทุน หากมีการจัดตั้งกองทุนดังที่เสนอจะทำให้มีการผลิตสื่อที่มีจริยธรรมและสร้างจิตสำนึกของเยาวชนที่ดีได้
ส่วนภาพลักษณ์ของอีสปอร์ตต้องผลักดันและสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่ารายได้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างกล่าวกระโดด ตราบใดที่เรามาถกเถียงกัน มันก็ไม่สามารถทำให้การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ตรงจุด
นายสิริพงศ์ ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคือภาครัฐมีอำนาจมากเกินไป จึงอยากเสนอให้ลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจให้ประชาชน สำหรับเวลาพาร์มไทม์ที่ถูกกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติมองว่ามันล้าสมัย ขณะหน่วยงานต่างๆเข้ามากำกับแต่ไม่คิดถึงคนดูว่าจะทำให้ใครดู ดังนั้นรัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ต้องเปลี่ยนเป็นวิธีคิดแบบเอกชน ว่าจะสร้างสังคมอย่างไรให้เด็กเติบโตขึ้นมา
สิ่งแรกที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดคือผู้ปกครอง ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ ต่างจากประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างชาติด้วย การ์ตูน ที่สร้างสำนึกให้คนในประเทศ วันนี้เราจะสอนเด็กอย่างเดียวไม่พอ ต้องสอนผู้ปกครองด้วย โดยสร้างภูมิกันให้เด็กเพื่อพิจารณาความเหมาะสมในการเข้าถึงเนื้อหา