นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โพสต์เฟสบุ๊ก ให้ความเห็นกรณีศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ พ้นสถานภาพสมาชิกผู้แทนราษฎร กรณีหุ้นสื่อมวลชน ว่า ดูจะมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ในสังคมพอสมควร แม้ในคณะตุลาการที่ตัดสินก็มีความเห็นแตกต่างกันอยู่ มิได้มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เชื่อว่าเมื่อมีการเผยแพร่คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการแต่ละท่านออกมาแล้ว ก็คงมีผู้รู้หรือผู้สนใจวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบยุติธรรมและเพื่อทำให้การเมืองสุจริตเที่ยงธรรมอย่างที่ควรจะเป็นต่อไป
เนื่องจากเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินว่ากระทำผิดกฎหมายดูจะค่อนข้างเป็นเรื่องทางเทคนิค เกี่ยวกับการโอนหุ้นและการถือครองหุ้นเสียมาก จึงขอยังไม่แสดงความเห็นต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในขั้นนี้ แต่อยากแสดงความเห็นต่อผลของการวินิจฉัยในเชิงระบบและผลในทางการเมือง ที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้มากกว่า
ประเด็นที่จะเป็นที่น่าสนใจติดตามก็คือมีรัฐมนตรีและ ส.ส.อีกหลายสิบคน ที่ถูกร้องเรื่องการถือหุ้นเป็นเจ้าของบริษัทที่ทำกิจการสื่ออยู่ ผลการพิจารณาเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังมีกรณีอื้อฉาวที่คู่สมรสของ ส.ส.เป็นเจ้าของสื่อมวลชน และกำลังใช้สื่อในทางให้คุณให้โทษทางการเมืองอย่างโจงแจ้ง ก็คงเป็นที่สนใจไม่แพ้กัน เรื่องเหล่านี้นอกจากน่าสนใจติดตามว่าจะถูกดำเนินการอย่างไรแล้ว ผลสุดท้ายยังอาจบอกสังคมได้อย่างดีว่ากฎกติกาที่ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อมวลชนนั้น มีผลตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้สวยหรูแต่แรกหรือไม่
อย่างไรก็ตามการที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำหลายสิ่งหลายอย่างในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งการห้ามมีและใช้สื่อของตนเองก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเอาเปรียบกันและให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม แต่ถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นายธนาธรต้องแข่งขันกับแคนดิเดตนายกฯบางคนที่สามารถใช้โครงการและงบประมาณของรัฐอย่างไม่จำกัด
ทั้งยังสามารถใช้สื่อของรัฐทั้งหมด รวมทั้งยังมีอำนาจพิเศษแทรกแซงสื่อมวลชนทั้งของรัฐและเอกชนในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้โดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ เมื่อการเลือกตั้งผ่านไป นายธนาธรซึ่งไม่ได้ใช้สื่อของตนเองในการหาเสียง กลับเป็นผู้ถูกลงโทษถึงขั้นต้องพ้นจากการเป็นส.ส.เช่นนี้ ย่อมมีคำถามตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ว่าระบบและการบังคับใช้กฎหมายมีผลทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นหรือไม่
ดังนั้นการทำให้ ส.ส.พ้นสมาชิกภาพซึ่งเป็นเรื่องใหญ่นี้ยังถูกทำให้ผิดเพี้ยนไปมากถึงขั้นทำให้สส.พ้นสมาชิกภาพทั้งๆที่ไม่ได้กระทำผิดกฎหมายหรือยังไม่เป็นที่ยุติว่ากระทำผิดกฎหมายใดๆด้วยการเชื่อมโยงเรื่องนี้เข้ากับการยุบพรรคการเมือง ทำให้สส.ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคพ้นจากความเป็นสส.เพราะถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง การลงโทษบุคคลเพราะความเกี่ยวพันกับองค์กร ทั้งๆที่ไม่ได้กระทำผิดใดๆ เช่นนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในการเลือกตั้ง แต่กลายเป็นวิธีการที่ใช้เพื่อให้เกิดผลทางการเมืองในภาพใหญ่เช่นการตัดกำลังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเพื่อล้มหรือเปลี่ยนรัฐบาลเสียมากกว่า
"น่าเสียดายที่คุณธนาธรไม่มีโอกาสทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่ประชาชนได้เลือกมา แต่ก็น่าชื่นชมที่คุณธนาธรยังมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ทางการเมืองตามอุดมการณ์ของตนอย่างมั่นคงต่อไป กรณีของคุณธนาธรอาจจะทำให้คนจำนวนหนึ่งผิดหวังเสียใจ แต่กรณีนี้จะทำให้คนจำนวนมากทั้งผู้ที่เห็นความเป็นไปของบ้านเมืองมานานๆและคนรุ่นใหม่ทั้งหลายสนใจศึกษาปัญหาของบ้านเมืองเพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศนี้ร่วมกันต่อไป"