วันที่ 19 เม.ย. 2565 ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียด ในมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงาน อันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ดังนี้
1. การปรับปรุงถ้อยคำมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) ให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน -จากเดิมที่ให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ปรับเป็นโดยให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก (ไม่รวมส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ) ที่มียอดการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน เป็นระยะเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2565 ซึ่งจะทำให้มาตรการมีความชัดเจนและเป็นการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า
2. มาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง โดยให้ส่วนลดราคาน้ำมัน “กลุ่มเบนซิน” จากเดิมที่ให้ส่วนลดราคา “น้ำมันแก๊สโซฮอล” แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ (รถมอเตอร์ไซต์รับจ้าง) ที่มีใบอนุญาต ที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 106,655 คน (จากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมการขนส่ง ณ วันที่ 22 มีนาคม 65) ในรูปแบบรัฐร่วมจ่ายร้อยละ 50 ไม่เกิน 50 บาท/คน/วัน และไม่เกิน 250 บาท /คน/เดือน ในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2565 พร้อมทั้งให้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะที่ได้รับเงินจากโครงการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน โดยภาครัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 79.992 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ขอบเขตการช่วยเหลือค่าน้ำมันครอบคลุมทั้งน้ำมันเบนซินและน้ำมันแก๊สโซฮออล์ และสามารถให้ความช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายได้อย่างคล่องตัวด้วย
โดยผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สาธารณะ สามารถกดยืนยันสิทธิ์และเงื่อนไขผ่านแอปพลิเคชัน และจ่ายเงินโดยสแกน QR Code ณ สถานีบริการน้ำมัน ที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับสถานีบริการน้ำมันสามารถแจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการผ่าน แอปพลิเคชันฝั่งผู้ขาย เพื่อสร้าง QR Code เพื่อรับชำระเงินจากผู้ใช้สิทธิ์ด้วย
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวมุ่งลดภาระค่าครองชีพของประชาชนจากการปรับขึ้นค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ และลดค่าใช้จ่ายโดยการให้ส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยและประเภทกิจการขนาดเล็ก ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ อนุมัติงบประมาณจำนวน 2,054.054 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการช่วยเหลือเกษตร ที่ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยให้การสนับสนุนโครงการของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ประกอบด้วย 5 โครงการย่อย ได้แก่
1) โครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการพัฒนายกระดับทักษะอาชีพในภาคเกษตรกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจำนวน 3,500 กลุ่ม
2) โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โดยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1,200 กลุ่ม
3) โครงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตรกรรมและสมุนไพร สร้างความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพสู่ชุมชน เพื่อเพิ่มมูลค่าเสริมสร้างความเข้มแข็ง ของเศรษฐกิจฐานรากในภาวะวิกฤตโควิด-19 กลุ่มเป้าหมายได้แก่ เกษตรกร ชุมชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,700 กลุ่ม
4) โครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้แก่เกษตรกรไทยฝ่าวิกฤติโควิด 19 ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม เกษตรสมัยใหม่ (Modern Agriculture -BCG) โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ หมู่บ้านวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น จำนวน 5,001 กลุ่ม
5) โครงการวิจัยและพัฒนาการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อฟื้นฟู เศรษฐกิจฐานราก จากผลกระทบการระบาดของโรคโควิด-19 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน อสม. กลุ่มสหกรณ์การเกษตร และกลุ่ม OTOP ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จำนวน จำนวน 3,300 กลุ่ม
พบทุจริตโครงการรัฐ “เราเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง เราชนะ” แล้ว 435 คดี
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินคดีอาญากับผู้ทุจริตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการเราชนะ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นการรายงานการดำเนินคดีอาญาระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2564 - 1 มกราคม 2565 มีคดีรวมทั้งสิ้น 435 คดี แบ่งเป็นโครงการเราเที่ยวด้วยกัน 323 คดี โครงการคนละครึ่ง 110 คดี และโครงการเราชนะ 2 คดี
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินคดี มีคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน 363 คดี สอบสวนเสร็จส่งพนักงานอัยการแล้ว 37 คดี และอื่นๆ 35 คดี เช่น ชดใช้ค่าเสียหายก่อนร้องทุกข์ และถอนคำร้องทุกข์ สำหรับข้อหาของผู้ทุจริตโครงการรัฐส่วนใหญ่เกี่ยวกับร่วมกันฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น ฉ้อโกง ฉ้อโกงประชาชน ฉ้อโกงและนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์