วันที่ 22 ม.ค. 2565 ไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี สมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ซึ่งเป็น 1 ใน 20 ส.ส.ที่ถูกมติพรรคพลังประชารัฐ ขับพ้นสมาชิกพรรคโดยทำหนังสือขอให้พรรคพลังประชารัฐทบทวนมติพรรค และเห็นว่าการขับสมาชิกพรรคดังกล่าวอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า "วันนี้ ส.ส. เบี้ยว ออกมาบอกว่าไม่รู้เรื่อง ในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น ในการโดนขับออกจากพรรคพลังประชารัฐ ผมเกิดความสงสัยขึ้นมากมาย ว่าพี่มาถึงประมาณบ่าย 4-5โมง พี่ (สมศักดิ์ พันธ์เกษม) มีเวลาถึงเกือบ 3ทุ่ม ขั้นตอนในการประชุม มีหลายขั้นตอนมาก ไม่ว่าจะเรียกมาคุยกันก่อน ตามด้วยประชุมกับหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรคประชุมกันเอง และมาประชุมร่วมกับสมาชิกพรรค ทุกขั้นตอนมีการหารืออย่างเผ็ดร้อน ในการประชุมทุกขั้นตอน พี่นั่งอยู่หลังผม พี่กับบอกพี่ไม่รู้เรื่องด้วยไม่รู้เรื่องมาก่อน"
ไผ่ ระบุว่า "ที่สำคัญตอนยกมือขอมติ จากสมาชิกพรรค พี่ยกมือด้วย แต่พอผ่านไป 2 วันคนไม่รู้เรื่องกลายเป็นคนเก่งขึ้นมาร่างจดหมายได้ยาวเหยียด หลักการครบทุกอย่าง ความจำดีจำทุกอย่างทุกขั้นตอนได้หมด ที่พี่จำได้อาจจะไม่ใช่ที่พี่จำได้แต่อาจจะเพราะพี่ไปพบใครมารึเปล่าครับ สุดท้ายผมสงสารประชาชนมากที่มี ส.ส. แบบนี้ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ขนาดนั่งประชุมขนาดนี้ และที่ โหวตๆมารู้เรื่องบ้างมั้ยครับ"
ไผ่ ระบุด้วยว่านี่ไม่รู้เรื่องขนาดโทรมาบอกว่า “ผมดีใจมาก ผมรอมานานแล้ว” ด้วย
"พี่ได้ยาวิเศษอะไรเข้าไปครับเลยเปลี่ยนพี่ไปขนาดนี้ แล้วสุดท้ายพี่จะไปอยู่พรรคไหน สงสารประชาชนมากที่มี ส.ส. แบบนี้ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ขนาดนั่งประชุมขนาดนี้ และที่ โหวตๆมารู้เรื่องบ้างมั้ยครับ นี่ไม่รู้เรื่องขนาดโทรมาบอกว่า ผมดีใจมาก ผมรอมานานแล้ว” ไผ่ ระบุ
ทั้งนี้ สมศักดิ์ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 21 ม.ค. 2565 ภายหลังที่พรรคพลังประชารัฐ ได้มีมติเมื่อวันนที่ 19 ม.ค. 2565 ขับออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ โดยระบุในจดหมายถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขอให้ทบทวนมติพรรคดังกล่าวที่ให้สมาชิกออกจากสมาชิกพรรค โดยระบุว่า "การมีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรค รวมไปกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และ ส.ส.รวม 21 คน โดยอ้างเหตุว่า มีการก่อให้เกิดเหตุร้ายแรงต่อหลักการแห่งพรรค เป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเป็นผลกระทบต่อประวัติของข้าพเจ้า และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ข้าพเจ้าอย่างร้ายแรง ดังนั้น กรรมการบริหารพรรค จึงควรตั้งคณะกรรมการสอบสวน หรือคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นธรรมแก่ข้าพเจ้าก่อนว่าข้าพเจ้าจะทำตามที่ถูกกล่าวอ้างจริงหรือไม่"
.
สมศักดิ์ ระบุตอนท้ายของหนังสือดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 101(9) วางหลักเกณฑ์ไว้ว่าการพ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วมกันของกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.แต่ข้อเท็จจริง ปรากฏว่า ในการลงมติในที่ประชุมนั้นมีสมาชิกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยและยังมีข้อสงสัยว่าการดำเนินการของที่ประชุมเป็นไปตามข้อบังคับพรรคและกฎหมายหรือไม่ แต่ผู้ดำเนินการประชุมกลับดำเนินการให้มีการลงมติโดยการลงมติครั้งแรกนั้น ผลการลงมติของที่ประชุมได้คะแนนไม่ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ร่วมประชุม ซึ่งถือว่าการลงมติเป็นอันสิ้นสุดแล้ว แต่ผู้ดำเนินการประชุมกลับดำเนินการให้ที่ประชุมอีกครั้งโดยการลงมติครั้งที่ 2 มีการเจรจากับผู้ที่งดออกเสียงขอให้ลงมติให้ข้าพเจ้ากับ ส.ส.อื่นรวม 21 คน พ้นจากการเป็นสมาชิก แสดงให้เห็นว่ามีการกระทำที่เจตนาจงใจให้ข้าพเจ้ากับ ส.ส.อื่นรวม 21 คน พ้นจากการเป็นสมาชิกโดยไม่เป็นธรรม เป็นการขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ จึงขอให้หัวหน้าพรรค โปรดดำเนินการยกเลิกมติที่ประชุมร่วม กก.บห.และ ส.ส.ที่มีมติให้ข้าพเจ้าออกจากการเป็นสมาชิกพรรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง