ตามนโยบายนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้กำหนดนโยบายในการเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดย พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร จตช. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่าน พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้รับผิดชอบควบคุมสั่งการ บช.สอท. และ พล.ต.ท.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะ รอง ผอ.ศปอส.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท. นำเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดสืบสวนจับกุมผู้ต้องหาที่กระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์ และดำเนินคดีให้ถึงที่สุด จนนำมาสู่ปฏิบัติการดังกล่าว
วันที่ 13 ก.พ.2568 พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผบช.สอท., พล.ต.ต.วิวัฒน์ คำชำนาญ รอง ผบช.สอท., พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ ผบก.สอท.4 พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ปฏิบัติการ "ฟ้าสางที่แม่สอด" ทลายเหมืองบิทคอยน์เถื่อน ลอบใช้ไฟฟ้า เสียหายกว่า 4 ล้านบาท พร้อมจับอาวุธปืนผิดกฎหมายพร้อมกระสุน
สืบเนื่องจาก บช.สอท. โดย กก.2 บก.สอท.4 ได้สืบสวนพบข้อมูลว่าได้มีกลุ่มบุคคลใช้อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งเพื่อลักลอบเปิดกิจการขุดเหรียญบิทคอยน์ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จึงได้ประสานกับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.แม่สอด ทำให้ทราบว่า สถานที่ดังกล่าวมีการแจ้งหยุดใช้กระแสไฟฟ้าไปแล้ว จากการตรวจสอบย้อนหลังไปถึงพ.ศ.2561 พบว่ามีปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าจำนวนมาก รวมเป็นเงินค่าไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 3,189,072 บาท แต่หลังจากนั้นไม่พบว่ามีการใช้กระแสไฟฟ้าอีกเลย
แต่จากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ พบว่าในเวลากลางคืน อาคารพาณิชย์ดังกล่าวยังได้ยินเสียงการทำงาน ของอุปกรณ์ที่คาดว่าเป็นเครื่องขุดบิทคอยท์ดังออกมาจากตัวอาคารอยู่ตลอดเวลา และพบว่าที่บริเวณชั้นที่ 2 ยังมีแสงไฟฟ้าจากหลอดไฟส่องสว่างอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีการแจ้งหยุดการใช้กระแสไฟฟ้าไปแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงเชื่อว่าอาจมีการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าของทางราชการในการประกอบกิจการเหมืองขุดบิทคอยน์
อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสืบสวนทราบข้อมูลการกระทำผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.แม่สอด ด้วย จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติหมายค้นจากศาลจังหวัดแม่สอด เข้าทำการตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายใน อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน 6 จุด ในคราวเดียวกัน กระทั่งช่วงเช้ามืดของวันที่ 13 ก.พ.68 พล.ต.ต.กฤตัชญ์ บำรุงรัตนยศ ผบก.สอท.4 ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายทั้ง 6 จุด ดังนี้
จุดที่ 1 อาคารพาณิชย์ ในพื้นที่ชุมชนดอนไชย ถ.อินทรคีรี ต.แม่สอด อ.แม่สอด จ.ตาก ผลการตรวจค้นพบ
1. เครื่องขุดบิทคอยน์ จำนวน 12 เครื่อง
2. ตรวจสอบพบการลักลอบใช้กระแสไฟฟ้าโดยดัดแปลงมิเตอร์ให้จ่ายค่าไฟฟ้าน้อยลง สร้างความเสียหายให้แก่การไฟฟ้ามูลค่ากว่า 4 ล้านบาท
จุดที่ 2 จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 1 ราย ผลการตรวจค้นพบ
1. อาวุธปืนสั้น ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก
2. อาวุธปืนลูกซองยาว จำนวน 1 กระบอก
3. อาวุธปืนยาวไทยประดิษฐ์ จำนวน 1 กระบอก
4. เครื่องกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 10 นัด
5. เครื่องกระสุนปืนลูกซอง เบอร์ 12 จำนวน 24 นัด
จุดที่ 3 จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 2 ราย ผลการตรวจค้นพบ
1. บุหรี่ไฟฟ้า 4 ตัว
2. หนังสือสัญญาเงินกู้ 1 ฉบับ
3. โทรศัพท์มือถือ จำนวน 2 เครื่อง
จุดที่ 4 จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 1 ราย ผลการตรวจค้นพบ
1. อาวุธปืนแบบประดิษฐ์เองไม่ทราบขนาด จำนวน 1 กระบอก
2. เครื่องกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 12 นัด
3. เครื่องกระสุนปืน ขนาด 9 มม. จำนวน 15 นัด
4. เครื่องกระสุนปืนขนาด .32 จำนวน 10 นัด
5. เครื่องกระสุนปืนลูกซอง จำนวน 1 นัด
6. เครื่องกระสุนปืนอัดลม จำนวน 1 กล่อง
จุดที่ 5 จับกุมผู้ต้องหาจำนวน 1 ราย ผลการตรวจค้นพบ
1. อาวุธปืนพกสั้น ขนาด 9 มม. จำนวน 1 กระบอก
2. อาวุธปืนลูกซองยาว 1 กระบอก พร้อมแม็กกระซีน 2 อัน
3. กระสุนปืนขนาด 9 มม.จำนวน 388 นัด
4. ขนาด .38 . จำนวน 16 นัด
5. กระสุนปืน .22 จำนวน 6 นัด
ส่วนจุดที่ 6 ผลการตรวจค้น ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย
โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างติดตามผู้ก่อเหตุลักลอบใช้ไฟฟ้าเพื่อทำเหมืองบิทคอยน์มาดำเนินคดี ซึ่งมีความผิดฐาน “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดยประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242” ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ ตำรวจไซเบอร์ได้ร่วมกับ กสทช. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ ได้นำหมายค้นเข้าตรวจสอบเสาเครื่องส่งสัญญาณโทรศัพท์กลางสวนยางพารา ใกล้ริมแม่น้ำเมย ในพื้นที่ หมู่ 7 ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก จากการตรวจสอบพบเสาส่งสัญญาณและตู้สัญญาณ แต่แผงสัญญาณได้ถูกถอดออกไปแล้ว เมื่อตรวจสอบไปยังการไฟฟ้า ทราบว่า สายไฟที่จ่ายกระแสไฟฟ้ามายังจุดดังกล่าว การไฟฟ้าไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการและไม่มีการขออนุญาต รวมทั้งสัญญาณโทรศัพท์ที่ใช้ ก็ไม่พบว่ามีการขออนุญาตจาก กสทช. แต่อย่างใด
โดยเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าว ซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางต้นไม้รกทึบในสวนยางพาราริมแม่น้ำเมย ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามเมืองอพอลโล่ ตอนปลายของเมืองชะเวโก๊กโก โดยก่อนการเข้าตรวจค้นเมื่อวันที่ 11 ก.พ.68 ยังพบว่ามีการปล่อยสัญญาณเต็มอยู่ และยังพบมีแผงปล่อยสัญญาณหันไปยังฝั่งพม่าอยู่ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
นอกจากนี้ บริเวณใกล้เคียงเสาสัญญาณดังกล่าว ไม่มีบ้านเรือนประชาชนพักอาศัยอยู่แต่อย่างใด จึงคาดว่าเสาดังกล่าวถูกติดตั้งเพื่อลักลอบส่งสัญญาณข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนการกระผิดของกลุ่มแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศเมียนมา โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ระหว่างสืบสวนขยายผลเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป