ไม่พบผลการค้นหา
ถ้าจะพูดถึงโต๊ะจีน แทบจะไม่มีใครรู้จักโต๊ะจีนนครปฐม ที่เปรียบเป็นสินค้าขาออกทั้งในและต่างประเทศ นำรายได้และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด แต่ ณ วันนี้ แทบไม่มีใครพูดถึง
โต๊ะจีนล่มสลาย!

ทำไมถึงใกล้ล่มสลายหรือล่มสลาย ‘ประพฤติ อรรฆธน’ เจ้าของโต๊ะจีนยุทธพงษ์โภชนา นครปฐม เล่าว่า โต๊ะจีนเป็นอาชีพที่ลูกค้าจะต้องสั่งจองก่อนล่วงหน้าตั้งแต่ 1 เดือนไปจนถึง 1 ปีแล้วแต่กรณี กรณีเร่งด่วนเท่านั้นที่จะสั่งวันนี้ หรือ พรุ่งนี้ เช่น งานศพ

ส่วนใหญ่จะมีโครงการมาก่อน เช่น งานจะบวช เพราะจะต้องเตรียมงานไปเป็นปี เป็นการสั่งจองล่วงหน้าแทบทั้งหมด แต่เมื่อมาเจอโควิด-19 แน่นอนว่าไม่มีใครที่จะแพลนจัดงานล่วงหน้าได้อีก

โต๊ะจีน
  • ประพฤติ อรรฆธน

แม้ว่าบางพื้นที่จะเริ่มกลับมาจัดงานได้บ้าง แต่ก็มีเพียงงานเล็กๆจากผู้ที่จากเคยจัดงาน 100 โต๊ะจัดเหลือ 50 โต๊ะ จาก 50 โต๊ะก็จัดเหลือ 30 โต๊ะ จาก 30 โต๊ะ เหลือ 15 โต๊ะ หรือน้อยสุดเหลือเพียง 5 โต๊ะเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มทุน

สาเหตุเพราะค่าใช้จ่ายต่อวันค่อนข้างสูง ตำแหน่งกุ๊ก 1,200 บาท ผู้ช่วยกุ๊กมี ตั้งแต่ 800-1,000 บาท ส่วนเด็กเสิร์ฟ ค่าแรงต่ำสุดวันละ 600 ยากที่จะอยู่ได้ และยิ่งไปต่างจังหวัดค่าแรงต้องเพิ่มเป็นทวีคูณ

“อย่าคิดว่าโต๊ะจีนจะอยู่ได้ มันอยู่ไม่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายมันเยอะ...เงินทุนที่สำรองไว้เอามากินหมดแล้ว”


คนนอกพื้นที่รังเกียจ

แม้ว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเริ่มเบาบางลง แต่พื้นที่นครปฐมยังเป็นสีแดง-สีส้ม “ไปที่ไหนสังคมก็ยังรังเกียจอยู่ คุณมาจากไหนนครปฐม ผมไม่อนุญาตให้จัดเลี้ยง” เป็นเสียงสะท้อนที่ ‘ประพฤติ’ เล่าให้ฟังถึงกรณีล่าสุดที่มีลูกค้าจากจังหวัดอุดรธานีไปสอบถามผู้หลักผู้ใหญ่ของจังหวัดว่าสามรถจัดงานแต่งได้หรือไม่

ผลที่ได้คือเป็นโต๊ะจีนจากจังหวัดนครปฐม “ปฏิเสธทันที” ไม่อนุญาตให้เข้า เป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการทำกินไม่ได้

โต๊ะจีน

หรือต้องจัดโต๊ะจีนแบบ New normal แต่ลูกค้าก็ยากที่จะยอมรับ ยกตัวอย่าง 1 โต๊ะ ราคา 2,000 บาท นั่งได้ 8 คน แต่ให้เหลือโต๊ะละ 2,000 เหมือนเดิมแต่ไปนั่ง 5 คน ไม่มีใครที่จะจัดงานแบบนี้

“วันนี้ต้องกล้ำกลืนทนรอวันเวลาว่าเมื่อไหร่เราถึงจะมีโอกาสเราจะได้ไปหาน้ำเพื่อมาทำขวดที่มันหมดไปแล้ว”


เศรษฐกิจซบ

หนึ่งในข้อเท็จจริงของธุรกิจโต๊ะจีน ‘ประพฤติ’ เล่าว่า เริ่มกระท่อนกระแท่นมาเกือบสองปีจากปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้การจ้างงานลดน้อยลง และยิ่งมารวมกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รายรับนับว่าเป็นศูนย์

“จากน้ำ 100% เหลือ 25% เอามาเพื่อต่อทุนหวังว่าจะได้น้ำมาเติมใส่ขวด แต่เติมได้ไม่ถึง 5% โควิด-19 ครั้งที่สองกลับมาน้ำที่เหลืออยู่ 25% ในขวดตอนนี้หมดแล้วเหลือแต่ขวดเปล่า”

โต๊ะจีน

 

ไม่มีแหล่งเงินทุน

ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการโต๊ะจีน ณ ปัจจุบัน คือ การที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือจากมาตรการภาครัฐ โดยเฉพาะเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ที่เปรียบเสมือนเครื่องช่วยหายใจของผู้ประกอบการรายเล็กๆ

ผู้ประกอบการในพื้นที่เปรียบตนเองไม่ต่างจาก ‘พลเมืองชั้นสอง’ เพราะแทบไม่ได้รับการดูแลหรือเยียวยา ทั้งที่ก่อนหน้านี้โต๊ะจีนกว่า 200 รายในจังหวัด ส่งหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรีให้ช่วยเหลือเยียวยา เดือนละ 10,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน และเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ 1% รายละไม่เกิน 500,000 แสน แต่ก็ยังไร้วี่แวว

“พวกเราเป็นอาชีพที่ไม่เข้าตาเขา เป็นอาชีพที่ไม่เข้าตาเขาก็เลยกลายเป็นอะไรที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือแม้แต่คุณจะเดือดร้อนอะไรก็เรื่องของคุณ”


ส่งเสริมแต่นายทุน

‘ประพฤติ’ ระบุว่า เงินทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยเฉพาะที่จัดสรรผ่านสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) อัตราดอกเบี้ยที่ 1% ควรเข้าถึงผู้ประกอบการทุกกลุ่ม ไม่ใช่เป็นเงินทุนเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้น เพราะ “คนจนมากกว่าคนรวย” หากส่งเสริมแต่นายทุน “คนจนก็จะยิ่งเป็นหนี้นายทุน”

หนึ่งในข้อจำกัดสำคัญที่ผู้ประการไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คือ หนึ่งไม่มีไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอในการขอแหล่งเงินกู้ สองคือผู้ประกอบการไม่ได้เตรียมตัวว่าจะเจอวิกฤตที่จะต้องล่มสลาย หรือเตรียมตัวที่จะกู้เงิน

สามโต๊ะจีนเป็นการทำธุรกิจแบบบ้านๆ ไม่มีหลักฐานการซื้อขายหรือการทำบัญชี จึงเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงสินเชื่อ

“ฝากถามผู้เกี่ยวข้องไปถึงรัฐบาลด้วยว่าให้ตอบผมหน่อยว่าเราอยากรู้ช่วยเราเปล่าช่วยซ้ำ หรือ ว่าช่วยยืดชีวิต”


เกาไม่ถูกที่คัน

“รู้ไม่จริง รู้ปัญหาของพวกเราไม่จริง” คือข้อสังเกตที่ผู้ประกอบการมองไปยังภาคส่วนต่างๆที่ดำเนินนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซ้ำยังผ่านกระบวนการผักชีโรยหน้า แก้ปัญหามันไม่ตรงกับจุดที่ประชาชน หรือ ผู้ประกอบการต้องการ

ดังนั้นรัฐบาลควรลงมาดูพื้นที่จริงให้เห็นว่าผู้ประกอบการ และเศรษฐกิจระดับรากหญ้าเป็นอย่างไร และทลายข้อจำกัดที่มีอยู่ออกไปให้หมด โดยเฉพะหลักเกณฑ์การช่วยเหลือ หรือผ่อนปรนเงื่อนไขต่างๆที่มีอยู่

“หากไม่ได้รับการการแก้ไขเศรษฐกิจที่เน่าวันนี้ จะเปลี่ยนอีกกี่รัฐบาล กี่รัฐมนตรีก็อยู่ไม่ได้”


เสนอขึ้นทะเบียนจังหวัด

“ไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง เอาเงินรัฐบาลมาให้เขากู้ให้ถูกต้อง” คือ หนึ่งในข้อเสนอของผู้ประกอบการโต๊ะจีนในพื้นที่จังหวัดนครปฐมออกมาเรียกร้อง เพราะเงินทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ณ เวลานี้

โดยอย่างง่ายที่สุดคือให้แต่ละจังหวัดรวบรวมรายชื่อ ความต้องการของผู้ประกอบการแล้วขึ้นทะเบียนทั้งหมด จัดลำดับความสำคัญ เช็กลิสต์ว่าใคร หรือกลุ่มใดที่จะได้รับการเยียวยาลำดับต้น

อย่าให้เหมือนว่า “รัฐบาลอย่ากลัวประชาชนโกง” เพราะผู้ประกอบการไม่ได้ต้องการเป็นหนี้จำนวนมาก หรือเอาหนี้ก้อนใหญ่มาถ่วงธุรกิจ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการเงินทุนหมุนเวียนต่อลมหายใจเพียง 100,000-200,000 บาทเท่านั้น