เว็บไซต์บลูมเบิร์กรายงานข่าว Banks Get Punted From Thailand’s List of Most Valuable Companies เมื่อ วันที่ 2 ก.ค. ระบุ กิจการธนาคารของไทยไม่ติด 10 อันดับบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด โดยเทียบกับตลาดหลักทรัพย์ใน 5 ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
แม้แต่ธนาคารเก่าแก่อย่างไทยพาณิชย์ที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดก็ยังอยู่ที่อันดับ 11 เท่านั้น ไทยจึงเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ไม่มีกิจการธนาคารติด 10 อันดับบริษัทมูลค่าตลาดสูงสุด
บลูมเบิร์กระบุด้วยว่า ไทยกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวครั้งใหญ่สุดนับตั้งแต่ยุค 1990 เป็นต้นมา ประกอบกับประชากรในไทยเข้าสู่วัยสูงอายุเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีการปรับมาตรการกำกับดูแลด้านการเงิน ทำให้การเติบโตของรายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกรรมและสินเชื่อลดลง และหลายธนาคารยังได้สั่งปิดบางสาขาที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า ผนวกกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวเพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
นักวิเคราะห์ของบลูมเบิร์กมองว่า ธนาคารไทยยังมีแนวโน้มจะขยายตลาดไปยังประเทศกลุ่ม CLMV อันได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องขยายตลาดใดๆ เลยก็ได้ เพราะสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สถาบันการเงินในไทยมีอยู่เพียงไม่กี่ราย และการบริหารกิจการเหล่านี้จะดำเนินไปอย่างสอดคล้องกัน จนเกือบถึงขั้นที่เรียกได้ว่าผูกขาด การขยายตลาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้นจึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป เพราะกลุ่มธนาคารยังสามารถทำกำไรได้อย่างน่าพอใจ
ทั้งนี้ กิจการที่มีมูลค่าตลาดสูงสุด 10 อันดับแรกของไทย คือ กลุ่มพลังงานต่างๆ นำโดย ปตท. ตามด้วยบริษัท ท่าอากาศยานไทย, เอไอเอส, ซีพีออลล์, ไทยเบฟ และ BDMS (กรุงเทพดุสิตเวชการ) ส่วนบริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ บริษัท ซี จำกัด (มหาชน) หรือ Sea Ltd. ธุรกิจชอปปิงและเกมออนไลน์ของสิงคโปร์ที่ก่อตั้งมาได้ 11 ปี แซงหน้ามูลค่าตลาดของธนาคาร BCA จากอินโดนีเซียไปเมื่อเดือน มิ.ย.
เว็บไซต์ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ (SCMP) สื่อของฮ่องกง รายงานอ้างอิงแถลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจในเอเชียจะหดตัวประมาณร้อยละ 1.6 ซึ่งถือว่าหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจทุกประเทศได้รับผลกระทบระยะยาวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้กิจการบางประเภทถึงขั้นหยุดชะงักและอาจต้องเลิกกิจการถาวร เพราะมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลหลายประเทศจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ บางประเทศพยุงเศรษฐกิจด้วยการสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อป้องกันการล้มละลายและไม่ให้ปลดพนักงานจำนวนมากในคราวเดียว ส่วนบางประเทศพิจารณาเงินช่วยเหลือประชาชนแต่ละครัวเรือน แต่บอกไม่ได้ว่ามาตรการใดจะได้ผลดีที่สุด เพราะต้องประเมินจากสถานการณ์ในแต่ละประเทศ
กรณีของอินโดนีเซียจะมีการปรับเปลี่ยนองค์กรที่จะมากำกับดูแลนโยบายการเงินและมาตรการของธนาคารต่างๆ ในประเทศ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคโควิด-19
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่า 'โจโก วิโดโด' (โจโกวี) ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระบุว่า จะปรับเปลี่ยนให้ธนาคารแห่งชาติรับหน้าที่กำกับดูแลตรวจสอบสถาบันการเงินการธนาคารในประเทศแทนสำนักงานบริการการเงิน (OJK) ซึ่งมีผลงานไม่เป็นที่พอใจ โดย OJK เป็นองค์กรอิสระที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2554 โดยยึดตามสหราชอาณาจักร ซึ่งมีหน่วยงานกลางที่เป็นอิสระจากธนาคารแห่งชาติมากำกับดูแลสถาบันการเงินต่างๆ ทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซียจะเปลี่ยนมาใช้โมเดลกำกับดูแลทางการเงินการธนาคารแบบฝรั่งเศสแทน คือ การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการภายใต้ธนาคารแห่งชาติ เพื่อจะกำกับดูแลกิจการธนาคารและสถาบันการเงิน ซึ่งแหล่งข่าวรายหนึ่งบอกรอยเตอร์ว่า รัฐบาลไม่ได้ต้องการให้ธนาคารแห่งชาติดูแลแค่เรื่องสกุลเงินและเงินฝืดเงินเฟ้อ แต่ต้องการให้ดูแลไปถึงเรื่องอัตราว่างงานและสินเชื่อต่างๆ ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: