เมื่อเวลาประมาณ 15.30 น. วันที่ 17 พ.ย. 2563 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาเรื่องด่วนในญัตติที่ 7 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับประชาชนที่ จอน อึ๊งภากรณ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 98,041 คนเป็นผู้เสนอร่วมกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) โดย จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ชี้แจงต่อรัฐสภา ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่ของไอลอว์ แต่เป็นของประชาชน 1 แสนกว่าคนที่ลงชื่อใน 1 เดือนโดยประชาชนอยากเห็นประเทศเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาใหญ่ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบให้ คสช.ยังคงอำนาจอยู่ แม้รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่เป็นเรื่องโกหก เพราะความจริงประชาชนมีสิทธิแค่เลือกผู้แทนราษฎร แต่ไม่มีโอกาสกำหนดว่าใครจะมาตั้งรัฐบาลใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี
"พวกเราต้องการรรงค์รัฐธรรมนูญ ตัดสินใจจะช่วยกันลงร่างแก้ไขรัฐธรรมนุญให้เป็นประชาธิปไตย ถอนพิษของระบบเผด็จการออก แล้วเปิดโอกาสให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญต่อไป" จอนย้ำ
จอนระบุว่า คนรุ่นใหม่รอไม่ได้แล้วอยากเห็นประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตย เราจึงนำร่างของเราตั้งโต๊ะให้ประชาชนลงชื่อ และหวังว่าสมาชิกรัฐสภาให้ความสำคัญกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชน ไม่ใช่ปฏิเสธตั้งแต่วาระแรกแต่ควรให้ข้อดีๆ หลายอย่างได้เข้าไปร่วมพิจารณากับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่างๆ แล้วที่สำคัญ ถ้าประเทศไทยจะพ้นวิกฤตแล้วมีพัฒนาการใกล้เคียงกับอารยะประเทศไทย เราจำเป็นต้องพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด
ไอลอว์ ยก 5 ฝัน ตั้ง ส.ส.ร.ป้องกันสืบทอดอำนาจ
ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ ในฐานะผู้แทนริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน ชี้แจงหลักการว่า ความฝันของเรามี 5 ข้อ 1.ฝันว่าจะมีการปกครองที่ประชาชนเลือกนายกฯ 2.ฝันว่าจะได้อยู่ในประเทศที่รัฐบาลโปร่งใส และถูกตรวจสอบได้ 3.ฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ประชาชนกำหนดอนาคตตัวเอง 4.ฝันว่าจะอยู่ในประเทศที่ระบบยุติธรรมเท่าเทียมกัน และ 5.ฝันว่าจะอยู่ในกติกาสูงสุดที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานที่เขียนขึ้นโดยประชาชน
ยิ่งชีพ ระบุว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องดำเนินการโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน 100 % เพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจอำนาจตามกลไกต่างๆ ทั้งนี้ หากรัฐสภาจะลงมติรับหลักการจะเป็นโอกาสที่ดี ในการพัฒนาประชาธิปไตย แต่หากรัฐสภาไม่รับไว้พิจารณาในขั้นตอนต่อไป สมาชิกรัฐสภาจะต้องอธิบายต่อประชาชนนับแสนคน และเจ้าของอำนาจอีกหลายล้านคนที่กำลังติดตามและรอฟังคำอธิบายอยู่เช่นเดียวกัน
เวลา 16.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว. อภิปรายว่า หมวด 17 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในมาตรา 261/1 และ 261/2 โดยให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งประชาชน โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองเข้ามาควบคุมการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญผ่านการส่งบุคคลเลือกตั้ง ส.ส.ร.
'ไพบูลย์' ชำแหละร่างไอลอว์รับเงินต่างชาติมีเนื้อหาปฏิปักษ์สถาบัน
ต่อมา ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับไอลอว์ได้รับเงินต่างชาติและทุนบางแห่งมาจาก จอร์จ โซรอส สิ่งที่อยากจะพูดให้ประชาชนฟัง มูลนิธิของไอลอว์ได้ระบุถึงการจัดตั้งว่าส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยด้วยความเป็นกลาง ไม่มีคำว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตนเห็นว่าญัตติไอลอว์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ส่วนหมวด 1 ที่ไอลอว์อยากแก้ไขนั้น ไอลอว์จะแก้เป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเป็นกลางหรือไม่ หรือเป็นระบอบประชาธิปไตยเฉยๆ และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 6 องค์พระมหากษัตริย์ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดไม่ได้ และผู้ลงรายชื่อกับไอลอว์ต้องการให้ฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ได้ ถือเป็นปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น ร่างของไอลอว์จัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะราษฎร 2563 ล้วนปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ร่างของไอลอว์เป็นการกระทำก้าวล่วงไม่บังควร เป็นการขัดต่อมาตรา 6 อีกทั้ง ร่างไอลอว์ให้คนวิกลจริตมาสมัครเป็น ส.ส.ร.ได้
การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไอลอว์เสนอมาเป็นรายมาตรา ย้อนแย้งหรือเปล่า รังเกียจสมาชิกรัฐสภาในแห่งนี้มากมายเหลือเกิน แล้วให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งพวกท่านเท่านั้นผู้ร่างถูกต้อง แล้วเสนอให้รัฐสภาพิจารณาร่างรายมาตราทำไม แต่ท่านเสนอมาให้เห็นชอบกับสิ่งของท่าน เมื่อไม่ประสงค์ให้สมาชิกรัฐสภาเกี่ยวข้องเรื่องนี้ท่านเสนอมาทำไม
"ร่างรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ให้ตั้ง ส.ส.ร. ก็ครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของหลายฝ่ายที่ออกมาคัดค้านอยู่แล้ว ผมจะรับร่างที่ 1 และ 2 ท่านสมาชิกรัฐสภาท่านใดหากสนับสนุนร่างที่ปฏิปักษ์ต่อสถาบัน สนับสนุนให้แก้หมวด 1 -2 ขอให้ท่านใช้เอกสิทธิ์โหวตรับร่างไอลอว์รับทุนต่างชาติ แต่หากปกป้องสถาบันเหมือนประชาชน ขอให้พิจารณาโหวตเหมือนผม ผมขอเป็นสมาชิกรัฐสภา 1 เสียง ขอใช้เอกสิทธิ์โหวตคว่ำร่างที่ 7 ของไอลอว์ไม่เห็นด้วย เพราะปฏิปักษ์ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย" ไพบูลย์ ระบุ
'ศุภชัย' พาดพิงม็อบถูกฉีดน้ำ วอร์มอัพรับสงกรานต์
เวลาประมาณ 16.30 น.ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาเรื่องด่วนในญัตติที่ 7 ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ตนอ่านร่างของไอลอว์ ก็ยังมีเวลาศึกษาว่า พรรคภูมิใจไทยจะเอายังไงกับไอลอว์ สิ่งที่ผู้แถลงได้ชี้แจงเป็นเหมือนกวีที่ไพเราะเกิดขึ้นในบรรยากาศงดงามในระบอบประชาธิปไตยที่เบ่งบาน ข้างนอกอาจมีการฉีดน้ำก็ได้ เพราะมะรืนนี้จะมีวันหยุดชดเชยสงกรานต์ ก็อาจมีการฉีดให้มันวอร์มอัพ แต่นั่นไม่ใช่สาระ ผมเข้าใจว่าเรื่องที่กลับเข้ามาคุยคือเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ ผมอยากเรียกร้องขั้นตอนในวันที่ 18 พ.ย. การร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องว่าในวันดังกล่าว แต่ที่เกิดขึ้นแน่คือมีการแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง ส.ส.ร. โดยไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงหมวด 1-2 จุดยืนของ ภท. ขออย่าแตะตรงนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค ภท. ยืนยันตรงนี้มาตลอดเด็ดเดี่ยวมั่นคงไม่เปลี่ยน
"ร่างของไอลอว์เป็นร่างที่ถ้ามีการแก้ไขจะแก้ไขหมวด1-2 ได้หรือไม่ ผมต้องการฟังเรื่องนี้ชัดๆ ภูมิใจไทยต้องการฟังเรื่องนี้ชัดๆ ส.ส.ในทุกเขตเลือกตั้งอยากฟังเรื่องนี้ที่มีสาระสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องนี้ที่เราต้องรับรู้ก่อนที่คืนนี้จะไปพูดคุยกัน ก่อนไปคิดว่าเราควรจะแสดงจุดยืนอย่างไรในญัตติของไอลอว์" ศุภชัย ระบุ
พท.ลุกท้วงประธาน ม็อบเดือดนอกสภา "ฝ่ายหนึ่งได้น้ำส้ม ฝ่ายหนึ่งได้แก๊สน้ำตา"
เวลา 17.00 น. ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นหารือต่อที่ประชุมถึงความเดือดร้อนของประชาชนที่ชุมนุมอยู่ภายนอกรัฐสภา ว่าขณะนี้รัฐสภาหาทางออกประเทศชาติ แต่ข้างนอกรัฐสภาเกิดอะไรขึ้นมีสมาชิกรัฐสภาบอกเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์กันเกิดขึ้น ออกไปกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ใช่น้ำ แต่เป็นน้ำผสมแก๊สน้ำตา แสบไปหมด ข้างในรัฐสภาถ้าสุมไฟให้ประเทศชาติ มันหาทางออกไม่ได้ ท่านประธานรัฐสภาเป็น ส.ส.มาจากประชาชนจะเข้าใจประชาชนที่สุด ขอให้ออกไปดูแล และให้ดูแลประชาชนให้เท่าเทียม อีกฝ่ายหนึ่งก็ประชาชน อีกฝ่ายหนึ่งก็ประชาชน ฝ่ายหนึ่งได้รับน้ำส้ม อีกฝ่ายหนึ่งได้รับแก๊สน้ำตา
'ชวน' ย้ำชุมนุมสงบไม่มีปัญหา ถ้าเกินเหตุต้องรับผิดชอบ
ชวน บอกว่าได้ติดตามการชุมนุม ได้ปฏิบัติเหมือนกัน และให้เลขาธิการรัฐสภาได้รวบรวมข้อมูล ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมแต่อย่างใด ส่วนการดูแลได้กำชับ ตนขอให้การชุมนุมยินดีต้อนรับเพราะเราเป็นผู้มาจากประชาชน ก็ได้กำชับเจ้าหน้าที่ไม่ประมาท อย่าไปวิตกเกินไป ถ้าเขาชุมนุมโดยสงบก็ไม่มีปัญหา โดยย้ำอย่างนี้มาตลอด ซึ่งตนได้ติดตามดูเหตุการณ์ตลอด กำชับเจ้าหน้าที่ ถ้ามาชุมนุมโดยสงบอย่าทำอะไรที่เกินเหตุ
"เขามีสิทธิชุมนุม เราปฏิบัติอย่างนี้มาตลอด ขอร้องผู้ชุมนุมโดยสงบ อย่าคุกคามด้วยวาจาหรือด้วยวิธีอะไรก็ตาม เข้าใจวิตกกังวลแต่ละฝ่าย ส่วนหน้าที่ข้างนอกให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติ" ชวน ระบุ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุว่า เหตุการณ์ปรากฏข้างนอกรัฐสภานั้น ด้วยอำนาจบารมีของประธานขอให้ใช้มาตรการนุ่มนวลเจรจา การใช้น้ำฉีด เพียงแต่ฉีดน้ำเปล่า 3 ครั้ง ครั้งที่ 4 ผสมสีและแก๊สน้ำตา ขนาดนักข่าวใส่หน้ากากทะลุเข้าไปสำลัก แสบร้อน ไอ จาม สภาเป็นที่ใช้อำนาจของประชาชนเราจะมีลานประชาชน สถานที่รัฐสภาไม่ต้องเว้น 50 เมตร ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ชุมนุม ถ้าชุมนุมโดยสงบไม่ต้องเข้าไปสลายการชุมนุม
ทำให้ จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร พรรคพลังประชารัฐ ขอให้ควบคุมการประชุม ถ้าเกิดมีการชุมนุมโดยสงบคงไม่มีตัดแผงลวดหนาม ขว้างพลุสีใส่เจ้าหน้าที่
ทั้งนี้ ชวน ชี้แจงอีกครั้งว่า ตนเข้าใจกับ นพ.ชลน่าน "ถ้าชุมนุมสงบมีอะไรเกินเหตุคนนั้นต้องรับผิดชอบ เพราะไม่มีการปกปิดกันหรอกครับ"
โดย ชวน กำชับว่าไม่มีสิทธิยุ่งภายนอกเพราะมีผู้รับผิดชอบแล้ว ภายในรัฐสภาก็ได้บอกเลขาธิการให้รวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจง ทำให้ ทัศนีย์ ลุกขึ้นชี้แจง ตนมาหารือไม่ได้มาดราม่า ที่จะต้องมาแสดงบทดราม่า แต่ตนพูดเพราะความเดือดร้อนของประชาชน ตนเคารพท่าประธานรัฐสภา
สมชาย แสวงการ ส.ว.ในฐานะวิปวุฒิสภา ระบุว่า สิ่งที่ตนติดตามคือการถ่ายทอดสดการชุมนุมของผู้ชุมนุม ตราบใดการชุมนุมสงบสามารถทำได้ และเจ้าหน้าที่ก็ทำตามกฎหมายแล้ว
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ย้ำว่ามีการขว้างแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม เป็นความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่ ขณะนี้ก็ยังใช้แก๊สน้ำตากับผู้ชุมนุม ให้ประธานรัฐสภาเจรจาผู้บัญชาเหตุการณ์ให้ยุติการใช้แก๊สน้ำตา ตนเห็นรูปแบบการฉีดน้ำเป็นการฉีดกดลงมาที่ตัวผู้ชุมนุม ซึ่งไม่ใช่หลักสากลแน่
จากนั้น ชวนตัดบทให้เข้าสู่การประชุม
ด้าน จอน อึ๊งภากรณ์ ชี้แจงว่า สำหรับ 1 แสนรายชื่อที่ลงชื่อรับรองเสนอร่างรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นที่หลากหลายแต่ได้ยินสมาชิกหลายคนวาดภาพเกินไปในความหลากหลายนั้น เราเชื่อเรื่องสิทธิเสรีภาพ เราต้องไว้ใจประชาชนที่จะทำในสิ่งที่ตรงกับที่จะนำประเทศไปข้างหน้า เราไม่ได้คิดว่าหมวด 1-2 แก้ไม่ได้เลย อาจจะแก้ได้ในบางจุด อาจจำเป็นต้องแก้ เรื่องรับเงินต่างประเทศ จริงๆไม่อยากจะพูดมาก มันเป็นธรรมดาที่องค์การพัฒนาเอกชนในประเทศไทย รวมถึงสถาบันที่มีชื่อหลายสถาบันรับทุนจากหน่วยงานในต่างประเทศ แต่ไม่ได้ถูกชี้นำหรือบงการ แล้วตนรับรองได้ในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งไอลอว์ว่าในองค์กรของไอลอว์ไม่มีใครสามารถมาบงการการทำงานของไอลอว์ได้
จิรนุช เปรมชัยพร ผู้ริเริ่มเสนอกฎหมาย ระบุว่า กระบวนการรับทุนของไอลอว์นั้นเป็นไปโดยโปร่งใส ไม่ใช่ได้มาด้วยการงุบงิบและปิดซ่อน ข้อกล่าวหาว่ารับทุนต่างชาติเปิดโอกาสให้ต่างชาติมาแทรกแซงนั้น เป็นข้อกล่าวหาเกินจริง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นความต้องการของประชาชน 1 แสนคน ไม่มีแหล่งทุนหรือต่างชาติที่ไหนมาบงการได้ วาทกรรมดังกล่าวควรจะจบได้แล้ว
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ชี้แจงว่า ระบุว่า ที่บอกว่าเป็นร่างของคณะราษฎร 2563 คงห้ามจินตนาการไม่ได้ ถ้าทำการบ้านศึกษามา ทางไอลอว์ได้เข้าชื่อเมื่อวันที่ 7 ส.ค. และคณะราษฎรเพิ่งตั้งเมื่อเดือน ต.ค. พร้อมขอบคุณ ตนฟังมายังไม่มีสมาชิกท่านใดเห็นค้านในหลักการความฝัน 5 ข้อร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ให้เลือกนายกฯเอง มีความฝันองค์กรอิสระที่เป็นอิสระ ซึ่งตนก็ดีใจ
ยิ่งชีพระบุว่า วันนี้ตนได้เข้ามาห้องประชุมรัฐสภาไม่เคยทำงานในวงการนิติบัญญัติและสถานที่ต่างๆ มีเพียงหลักการอยากเห็นและเสนอ ดังนั้นถ้าติดใจว่ารับไปก่อนแล้ววาระที่สองจะทำอย่างไร จะแก้อย่างไร ไม่ต้องถามเรา ถ้าเห็นด้วยในหลักการใหญ่ๆ อยากจะเห็นการเมืองปกติให้รับหลักการไปก่อนได้ วิงวอน ส.ส.และ ส.ว.ที่อยู่มานาน ปัญหาทางเทคนิคนิติบัญญัติแก้ไขอุดรอยรั่วในวาระที่สอง ส่วนประเด็นที่มี การยกเรื่องพูดถึงการยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ นิรโทษกรรมคดีทุจริตนั้น ตนไม่ต้องการให้มีการนิรโทษกรรมแม้แต่ใครก็ตาม แต่ที่ยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกที่มาองค์กรอิสระที่ไม่ชอบธรรม
ยิ่งชีพ ย้ำว่า ไม่มีเจตนาสร้างสุญญากาศทางการเมืองขึ้นมา ภายใต้หลักการความฝันที่จะเห็น และจะแก้ไขประเทศอย่างไรไม่ให้ประเทศเกิดสุญญากาศ แต่ขอให้รัฐสภารับหลักการในวาระแรก และแก้ไขในวาระที่สอง ที่มีการบอกว่าปฏิรูปประเทศมีปัญหาอย่างไรให้ยกเลิก
ยิ่งชีพย้ำว่าปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องดี แต่กระบวนการปฏิรูปประเทศต้องมีส่วนร่วมที่มาแผนการปฏิรูปต้องตั้งโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว จากการแต่งตั้งมา 120 คน มี 46 คนเคยปฏิบัติหน้าที่ สปช. และ สปท. รวมทั้งถูกตั้งมาเป็น ส.ว.ชุดปัจจุบันอีก หากปฏิรูปประเทศสำเร็จ แผนการปฏิรูปถูกอนุมัติในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชุดที่แล้ว ตนได้อ่านหลายฉบับหลายด้านก็เข้าใจไม่หมด
ส.ว.ย้ำรักสถาบัน หวั่นไม่กำหนดคุณสมบัติ ส.ส.ร.
ต่อมา เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายว่า ร่างไอลอว์ไม่ไว้วางใจ ตนรักสถาบัน ถ้าตั้งบุคคลเป็น ส.ส.ร.ไม่จำกัดใครก็ได้ คุณสมบัติไม่คำนึง คนผิดกฎหมายทำอะไรไม่ถูกต้องมาเป็นได้ทั้งหมดแล้วเกิดข้อเรียกร้องลักษณะนี้เกิดขึ้น เรากังวลใจถ้ารับร่างนี้ไปแล้ว
ขณะที่ อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ตนได้ฟังร่างของไอลอว์ ยิ่งชีพบอกไม่มีความรู้ทางกฎหมาย แต่เสนอมาเพื่อสานความฝันของตัวเอง แต่ร่างที่ยื่นมามีข้อบกพร่องหลายร่าง ถ้ารับร่างจะมีผลทางกฎหมายที่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะข้อบังคับรัฐสภา การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ต้องไม่ขัดหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม
"ที่บอกให้รับไปก่อนแล้วการที่ท่านยื่นมาไม่มีประสบการณ์การร่างข้อกฎหมายในฝ่ายนิติบัญญัติ ผมอยากให้ท่านถอนญัตติร่างที่ท่านเสนอมา ที่เสนอร่างกฎหมายเข้ามาเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ท่านทำเหมือนสุกเอาเผากิน ให้ไปแก้เอาข้างหน้า เพราะมันแก้ไขไม่ได้ ถ้าแก้ไขไม่ได้จะมีผลกระทบต่อประชาชน 70 ล้านคน แล้วท่านจะรับผิดชอบยังไง" อัครเดชระบุ
อัครเดช ระบุว่า การเลือกตั้ง ส.ส.ร.ให้ประเทศเป็นเขตเลอืกตั้งแล้วจังหวัดเล็กๆจะมี ส.ส.ร.มาร่วมเป็น ส.ส.ร.หรือไม่ ถ้ารับไปแล้วแก้ไขไม่ได้ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา แล้วจะมีหลักประกันอะไรจะไม่แก้ไขในหมวด 1-2
'ทัศนีย์' ท้วงอีกครั้งมีกระสุนดังในม็อบ
เวลา 20.55 น. ทัศนีย์ ลุกขึ้นหารือที่ประชุมรัฐสภา ระบุว่ารัฐสภาจะเป็นโรคเฉยเมยไม่ได้ เพราะรถพยาบาลได้นำคนเจ็บที่ชุมนุมนอกรัฐสภาไป อีกทั้งมีกระสุนที่ดังขึ้นจะเป็นกระสุนจริงหรือกระสุนยางไม่ทราบได้ ขอให้ประธานรัฐสภาให้ดูแลประชาชน จะเฉยเมยไม่ได้ ที่สี่แยกเกียกกายก็มีเหตุการณ์รถพยาบาลที่หามคนออกไป
โดย พรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภาซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ชี้แจงว่าได้ให้เลขาธิการรัฐสภาติดตามมาตลอด ล่าสุดตอนนี้ผู้ชุมนุมกำลังตั้งเวทีปราศรัย ยังไม่มีเหตุร้ายแรง และยืนยันตนเองไม่ได้นิ่งนอนใจ ให้เจ้าหน้าที่ติดตามทุกขั้นตอน
แนน บุณย์ธิดา สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้เดินทางไปที่หน้ารัฐสภาเดินทางไปติดตามสถานการณ์ด้วยตัวเอง การทำหน้าที่ของพวกเราขอให้ดำเนินการไปต่อ
ส.ว.รุมถล่มคว่ำร่างไอลอว์
สมชาย แสวงการ อภิปรายว่าถ้าโหวตให้ร่างของไอลอว์ผ่านแล้วมีผู้ยื่นภายหลังว่ามีการแทรกแซงจากต่างชาติครอบงำการเมืองไทยก็จะนำไปสู่การยุบพรรคในที่สุด พร้อมย้ำไม่เห็นชอบกับร่างของไอลอว์ เพราะตนต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถรับร่างไอลอว์ที่ไปรวบรวมรายชื่อมาเสนอต่อรัฐสภาได้
ด้าน ถวิล เปลี่ยนศรี ส.ว.ระบุว่ามาตราเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่มีคำไหนที่เขียนไว้ให้จัดทำใหม่หรือร่างขึ้นใหม่ มีแต่แก้ไข และเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ อีกทั้งร่างของไอลอว์ก็เหมือนร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านที่ให้มี ส.ส.ร. โดยฉบับไอลอว์ที่ตนตัดสินใจยากจะยอมรับได้ เพราะมีบทบัญญัติไม่ห้ามแก้ไขหมวด 1-2 ถ้าแตะเมื่อไรจะเกิดความแตกแยกในสังคมไทยทันที อีกทั้งยังแก้ไขรายมาตราหลายเรื่อง โดยให้ ส.ว. 250 คนพ้นทันทีแล้วเลือกใหม่ ซึ่งมองพวกตนเป็นสิ่งที่เป็นปัญหาในขณะนี้ เป็นข้อเสนอและไม่ติดใจ เรื่องยกเลิกอำนาจโหวตนายกฯ คงขัดหูขัดตาเรื่องโหวตนายกฯ
เพื่อไทย ชม ไอลอว์รวมชื่อได้ 1 แสนคน เตือน รบ.- ส.ว.คว่ำร่างขยายขัดแย้ง
ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าหลักการร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาลและประชาชนมีหลักการเหมือนกันในการตั้ง ส.ส.ร. การแก้ไขของภาคประชาชนที่เข้าชื่อเสนอมามีหลักการ 11 ประการสอดคล้องกับของพรรคเพื่อไทยเกือบทั้งหมด แม้พรรคเพื่อไทยไม่ได้เขียนไว้แต่ก็เห็นด้วย ที่บอกให้ยกเลิกกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยยุทธศาสตร์ชาติที่นายกฯเป็นประธาน คือ คสช.แปลงร่างและยังมีอำนาจยับยั้งมติ ครม. แต่ถ้าพรรคฝ่ายอื่นเป็นรัฐบาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจะแผลงฤทธิ์ทันที ทั้งนี้ ไม่วิจารณ์ว่าตั้ง ส.ส.ร.แล้วเขียนเหมือนหลายฝ่ายวิจารณ์ ท่านเป็น ส.ส. และส.ว.ทำไมจินตนาการ หลังรับหลักการแล้วจะตั้งกรรมาธิการ แล้วให้ประชาชนมาร่วมด้วย อะไรที่เขียนผิดก็อย่าเขียน
ขจิตรระบุว่าเขาจะไม่รับหลักการร่างของท่านแต่ท่านประสบความสำเร็จสูงมาก เพราะท่านรวบรวมเดือนครึ่งได้ 1 แสนเป็นเรื่องที่เก่งมาก แล้วท่านเสนอเข้ามาในรัฐสภาเมื่อวันที่ 22 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้รับการพิจารณาในวันนี้เป็นเรื่องอัศจรรย์ ไม่เคยมีประชาชนที่เสนอเข้ามา ดังนั้น จงภูมิใจ
"พรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านโหวตให้ท่าน แต่วิงวอนรัฐบาลและ ส.ว.จะหยุดวิกฤตประเทศชาติไหม หรือไม่รู้สึกรู้สา เพียงอยากรักษาอำนาจของการสืบทอดอำนาจ ท่านต้องรับผิดชอบต่อการขยายวงความไม่พอใจของประชาชน ท่านต้องรับผิดชอบรวมทั้งท่านประธานด้วย" ขจิตร ระบุ
เวลา 23.25 น. ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับภาคประชาชนดำเนินมาถึงช่วงท้ายของวันนั้น จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย แจ้งที่ประชุมรัฐสภาว่า เวลาการอภิปรายของ ส.ว.เหลือไม่เกิน 25 นาที พรรคฝ่ายค้านเราได้เดินตามข้อตกลงไว้โดยจะเตรียมอภิปรายอีก 7 - 8 คน ในวันที่ 18 พ.ย.นี้ ใน 1 ชั่วโมง 40 นาที ถ้า ส.ว.จะอภิปรายต่อก็ไม่ขัดข้อง แต่ถ้าดึงการประชุมอย่างประธานวิปรัฐบาลบอกจะให้อภิปรายให้จบในเวลา 01.00 น.วันที่ 18 พ.ย.นี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่ฟังอยู่ เวลาก็ดึกแล้ว
ก้าวไกลโต้ ส.ว.ฉวยซักฟอกไอลอว์
ด้าน กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. อภิปรายว่า แหล่งเงินของไอลอว์เป็นเงินแหล่งเดียวกับม็อบฮ่องกง และไอลอว์ตีคู่ขนานมากับม็อบ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอ 10 ข้อตรงกับนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิและม็อบที่ก่อความวุ่นวายทุกวันนี้ อีกทั้งไอลอว์มีความคิดจะช่วยเหลือหรือต้องการจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เหมือนเช่นม็อบ ร่างไอลอว์เป็นร่างขายเอกราช
ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงกิตติศักดิ์ พาดพิงบุคคลภายนอกเป็นบุคคลเลวร้าย ทั้งที่ไอลอว์ริเริ่มเสนอร่างรัฐธรรมนูญแต่พูดเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ใช่ใส่ร้ายโจมตี ตนเห็นว่า ส.ว.ใช้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไอลอว์
ต่อมา จิรนุช เปรมชัยพร ผู้แทนผู้ริเริ่มเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ชี้แจงว่าเจ็บปวดกับการถูกกล่าวหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า การกล่าวหาเป็นการคุกคามหรือไม่ ประสบการณ์การคุกคามเกิดขึ้นจากกองทัพรัฐประหาร การคุกคามให้ลงประชามติในภาวะไม่เป็นประชาธิปไตยและถูกคุกคามแท้จริง และเหตุการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นหน้ารัฐสภา เพราะหลายคนร่วมลงชื่อเขาตั้งใจมารับฟังผลักดันจะได้รับการตอบสนองอย่างไร
ชวน เสียใจเหตุการณ์สลายม็อบหน้าสภา
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ชี้แจงว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายนอกรัฐสภาและได้เยี่ยมชาวบ้าน พร้อมให้คณะทำงานได้เยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลไม่มีใครอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ตนได้ถามว่าจะมีผู้มาชุมนุมหรือไม่ ซึ่ง จอน บอกว่าไม่มี ตนได้พบเจ้าหน้าที่ก็มีบาดเจ็บมากจากการดึงกันไปกันมา ส่วนการจะปิดประชุมก็ช่วยอะไรไม่ได้ สิ่งสำคัญคือวุฒิภาวะความรับผิดชอบของเขาอย่าให้ปัญหาบางเรื่องเป็นอุปสรรคในการทำงาน บางท่านบอกลงมติตอนค่ำไม่ได้ เพราะบางท่านเคยถูกคุกคามด้วยคำพูด
เวลา 23.45 น. วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล แจ้งว่า ส.ว.บอกอยากให้อภิปรายให้จบในคืนนี้และลงมติในช่วงเช้าวันที่ 18 พ.ย.นี้ ถ้าไม่มีผู้ใดอภิปรายตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาถือว่าเป็นที่ยุติ แต่ ชวน กำชับว่าขอให้รักษาสัญญาสุภาพบุรุษ เพราะตอนนี้จะบอกว่าไม่พร้อมก็ยินดีก็เลื่อนไปให้ในวันที่ 18 พ.ย.นี้
เวลา 00.05 น. วิรัช แจ้งอีกครั้ง รัฐบาลเหลือ 55 นาทีในการอภิปรายเหลือ 7-8 คน ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ย้ำว่าอยากจะอภิปรายให้จบในวันเดียวแต่เวลาไม่พอ อีกทั้งการอภิปรายขณะนี้ได้อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชน โดยสมาชิกสามฝ่ายมีสิทธิให้ข้อคิดเห็นที่จะฟังได้ การจะมาตัดสิทธิสมาชิกรัฐสภาฝ่ายใดไปถือว่าไม่ชอบ หากจะใช้ข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อที่ 49 ควรหลีกเลี่ยงโดยการประชุมร่วมรัฐสภา ถ้าจะใช้จะขู่นับองค์ประชุมให้ลงมติเลย
สั่งพักประชุมนัดถกต่อก่อนโหวตวาระหนึ่ง
เวลา 00.08 ชวน หลีกภัย สั่งพักการประชุมและให้ประชุมต่อในวันที่ 18 พ.ย. เวลา 09.30 น. หลังใช้เวลาในการประชุมมาเป็นเวลา 14 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง