ไม่พบผลการค้นหา
“ฝากคนไทยทั้งหมดเป็นกำลังใจให้กับประเทศของตัวเอง ในการที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้เรามีที่ยืนในโลกใบนี้อย่างภาคภูมิใจอะนึกออกไหม หลายคนก็บอกว่าผมทำเพื่อชื่อเสียงของผม คงไม่ใช่หรอกมั้ง เป็นเพื่อคนไทยทุกคนนะจะ” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมของไทย ในการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022

ทั้งนี้ การประชุมสุดยอด APEC 2022 ณ กรุงเทพมหานคร กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 18-19 พ.ย.ที่จะถึงนี้ โดยมีผู้นำและตัวแทนจาก “เขตเศรษฐกิจ” เข้าร่วม 21 เขตเศรษฐกิจพร้อมแขกรับเชิญอีก 3 ชาติเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ท่ามกลางเสียงครหาจากประชาชนถึงประเด็นที่ว่า ผู้นำจากชาติยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย กลับเลือกจะไม่เดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยตนเอง

APEC2022

“ทุกประเทศก็คาดหวังไปเจอเราที่กรุงเทพฯ เพราะหลายคนบอกว่าอยากไป วันนี้บ้านเมืองเปลี่ยนไปเยอะ หลายปีที่ผ่านมาเราพัฒนาโน่นนี่ และเขาก็อยากเห็นหอประชุมของไทยด้วยนะ” พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวพร้อมกับรอยยิ้มอย่างมีความสุขบนใบหน้า “ผมก็บอกว่าเรามีที่ประชุมใหม่นะ เขาก็อยากไปเห็น เรามีสวนสาธารณะที่ใหญ่อยู่ใกล้ๆ เขาก็จะได้เห็นว่าหลายปีที่ผ่านมาเราพัฒนาไปแล้วถึงไหนอย่างไร”

คำกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC 2022 กลับไม่มีการกล่าวถึงวาระผลักดันหลักในการประชุมครั้งนี้ที่ชัดเจน แม้แต่คำขวัญประจำกันประชุมอย่าง “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance.)” ก็ยังยากจะหาใครท่องได้ ยกเว้นแต่เจ้าหน้าที่ตามกรมกองของกระทรวงการต่างประเทศไทย

เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้งบประมาณ 3,283 ล้านบาท กับวาระหลักในการผลักดันการประชุมไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม กลับถูกตอกย้ำถึงความไร้ประสิทธิภาพ เพราะประชาชนเห็นแค่การประชาสัมพันธ์อาหารเสิร์ฟให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจ แทนที่เจ้าของภาษีจะได้ทราบว่าการประชุมในครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อปากท้องของคนไทยทั้งชาติ ข้อวิจารณ์ของประชาชนยังสะท้อนภาพกลับไปสู่การเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2003 ซึ่งนำโดย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

000_HKG2003102105434.jpg

ในการประชุม APEC 2003 ในยุคสมัยของทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ที่ทำให้ภาคการเงินของไทยประสบกับภาวะฟองสบู่แตกเพียง 4 ปี ภายหลังจากวิกฤตลอยตัวค่าเงินบาท ไทยเลือกทักษิณขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ พร้อมนโยบายไม่เดินตามก้น IMF ในปีเดียวกันกับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC รัฐบาลพรรคไทยรักไทยระบุว่า ตนสามารถปลดหนี้ IMF ได้เด็ดขาด พร้อมกันเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ภายใต้คำขวัญ “โลกแห่งความแตกต่าง : หุ้นส่วนเพื่ออนาคต (Different worlds: Partnership for the Future)”

ผลจากการหารือในรอบ APEC 2003 ไทยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ออกปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เพื่อการตอกย้ำความร่วมมือ 3 ประการหลักอันประกอบไปด้วย การส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนในระบบพหุภาคี เพื่อให้สอดคล้องกันกับการเจรจาภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ในรอบโดฮา (DDA) ประเด็นที่น่าสนใจในครั้งนั้น คือ วลาดิเมียร์ ปูติน ในช่วงการเป็นประธานาธิบดีวาระแรกได้เดินทางเยือนกรุงเทพฯ เพื่อร่วมการประชุม โดยในแถลงการณ์ระบุถึงการสนับสนุนรัสเซียและเวียดนาม หลังจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก APEC บริบทของโลกในช่วงปี 2003 เห็นพ้องกันไปที่ความร่วมมือเพื่อเดินหน้า หลังจากวิกฤตด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการปฏิรูปภาคเกษตร เน้นการเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการ

AFP - ทักษิณ ปูติน

ในประเด็นต่อมา ไทยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ เห็นพ้องในการเสริมสร้างความมั่นคงทางมนุษย์ ผ่านการต่อต้านการก่อการร้ายและการใช้อาวุธทำลายล้างสูง ประเด็นการต่อต้านการก่อการร้ายถูกตอกย้ำอีกครั้งในการประชุมที่ไทยเมื่อปี 2003 หลังจากที่ในการประชุม APEC 2001 ณ นครเซี่ยงไฮ้ของจีน เหล่าสมาชิก APEC ได้ออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อการต่อต้านการก่อร้าย สืบเนื่องจากเหตุวินาศกรรม 9/11 ใจกลางนิวยอร์ก แถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนภาพว่า เวที APEC ไม่ได้มุ่งความสนใจเพียงแค่การหารือกันในประเด็นเศรษฐกิจ แต่หมายรวมถึงประเด็นทางด้านความมั่นคง ตลอดจนประเด็นทางการเมือง

ในประเด็นสุดท้ายที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในแถลงการณ์ร่วมของการประชุมเมื่อปี 2003 สมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจหยิบยกหัวข้อการใช้ APEC ในการช่วยเหลือผู้คนและสังคมรับประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี อีกทั้งการเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางด้านการเงิน ภาคเอกชน และองค์กรภายนอก เพื่อให้ตัวกลางดังกล่าวเป็นสะพานผสานชาติกำลังพัฒนาเข้ากันกับชาติพัฒนาแล้ว 

3 วาระหลักของการประชุม APEC 2003 สะท้อนภาพการให้ความสำคัญกับภูมิภาคแปซิฟิก ซึ่งมีประชากรในกลุ่มเศรษฐกิจดังกล่าวครอบคลุมมากกว่า 38% ของประชากรโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP รวมกันมากกว่า 60% ของ GDP โลกจากบรรดา 21 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม

ประยุทธ์ เอเปค  9-F70FC900E88E.jpeg

ในทางตรงกันข้ามกับการประชุม APEC 2022 ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาลไทยพยายามหยิบยกประเด็นการพูดคุยในหัวข้อแผนงานการขับเคลื่อน APEC สู่การเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19, การรับทราบความคาดหวังของผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ในเรื่องการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญครั้งที่ 12 (MC12), และแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเขตเศรษฐกิจ APEC ในเรื่องระบบการค้าพหุภาคี และหารือเรื่องการรับมือและดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 การมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน 

ประเด็นหลักที่น่าจับตาในการประชุมครั้งนี้ คือ ไทยและทุกเขตเศรษฐกิจในการประชุม APEC 2022 เห็นพ้องยอมรับและสนับสนุน BCG Model ที่จะขับเคลื่อน APEC ในอนาคต อันประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยเป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพของ APEC และไทยมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้คุ้มค่าเกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งนำของเหลือใช้หรือผลิตผลที่ได้มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ และนำของที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการผลิตและบริการเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อย่างไรก็ดี BCG Model ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคการเมืองและประชาสังคมว่าเป็นเพียงแค่การ “ฟอกเขียว” ของรัฐบาลไทยภายใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยการออกคำแถลงนโยบายที่ดูเป็นมิตรรักษ์โลก แต่แท้ที่จริงแล้วนั้น BCG Model กลับเต็มไปด้วยช่องโหว่ที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของภาคนายทุน ไทยในฐานะเจ้าภาพเองกลับไม่สามารถสร้างนวัตกรรมทางด้านการเกษตรระดับกลางถึงสูง ซึ่งจะทำให้ไทยไม่ได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากวาระดังกล่าว การพูดย้ำๆ ถึงการพัฒนาสีเขียวของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ช่วยให้ความคลุมเครือของไทยบนเวทีการประชุมสภาพอากาศ COP26 และ COP27 ในเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่อย่างใด

APEC2022 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

การประชุม APEC 2022 มีการหยิบยกประเด็นการรับมือและดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 การมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน การประชุมในครั้งนี้ ยังเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกของ 21 เขตเศรษฐกิจ นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 อุบัติขึ้นในอู่ฮั่นของจีนเมื่อปี 2019 ทั้งนี้ การประชุม APEC ครั้งก่อนเมื่อปี 2021 มีนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ ผ่านการประชุมแบบระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก่อนที่จะมีการส่งต่อการเป็นเจ้าภาพจาก จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ มาให้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีไทยในปีนี้

ประยุทธ์ เอเปค 4003000000.jpg

ในการประชุม APEC 2003 เอง ไทยและโลกกำลังประสบกับโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS) ซึ่งเป็นโรคระบาดร้ายแรง ไทยและเขตเศรษฐกิจยังหยิบยกประเด็นเรื่องโรคระบาด และความร่วมมือในระบบสาธารณสุขมาพูดคุยกันในการหารือครั้งนั้น อย่างไรก็ดี ในการประชุม APEC 2022 ไทยและเขตเศรษฐกิจอื่นๆ หยิบยกประเด็นการอำนวยความสะดวกให้กับการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และใช้ถ้อยแถลงของ APEC ว่าด้วยเรื่องวัคซีน ซึ่งถูกมองว่าช้ากว่าเวทีการเจรจาใหญ่ระดับโลกอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อน APEC 2022 โดยเฉพาะเวที G20 ในบาหลี อินโดนีเซีย

คำถามถึงการประชุม APEC 2022 ย้อนกลับมาที่ ในห้วงเวลาที่โลกกลับเข้าสูภาวะปกติใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 การกลับมาเชื่อมโยงกันอีกครั้งของแต่ละชาติกลับเข้าสู่ภาวะเกือบปกติ การหยิบยกประเด็นความเชื่อมโยงกันการอำนวยความสะดวกให้กับการไหลเวียนของสินค้าจำเป็นในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 อาจเป็นวาระที่มาช้าไปกว่าสถานการณ์ความเป็นจริงของโลก หากไม่นับว่าจีนยังเป็นเขตเศรษฐกิจเดียวใน APEC ที่ยังคงยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรีระหว่างเขตเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับจีนเอง ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์และการปิดพรมแดนอย่างแน่นหนาของจีน

ความล่าช้านี้ยังไม่นับรวมถึงการหารือกันระหว่างชาติ G20 ในการฟื้นตัวและโลกหลังโควิดแบบเชื่อมโยงกันผ่านห่วงโซ่อุปทานที่เกื้อกูลกัน ในขณะที่ไทยหยิบยกประเด็น BCG Model มาในการประชุม APEC 2022 อินโดนีเซียในฐานะเจ้าภาพ G20 หยิบยกประเด็นการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นตัวชูโรง การจัดสถานที่ประชุมของอิโดนีเซียบนเวที G20 ยังใช้โรงแรมบนเกาะบาหลี สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอินโดนีเซียที่ได้รับผลกระทบภาคท่องเที่ยวอย่างหนัก จากการระบาดของโควิด-19 อินโดนีเซียเองยังมีบทบาทนำในการเป็นตัวกลางเชื่อมการเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซีย จากความขัดแย้งที่กินเวลามานานกว่า 9 เดือน G20 จึงเป็นการยกบทบาทของอินโดนีเซียบนเวทีโลกอย่างปฏิเสธไม่ได้

000_32NG7GY.jpg

อีกประเด็นที่ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์ในการประชุม APEC 2022 ถึงความพร้อมและที่อยู่ที่ยืนของไทยบนเวทีโลก คือ การที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่เดินทางเยือนไทยในการประชุมดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีกำหนดการเข้าร่วมงานแต่งงานของหลานสาวตน หลังจากไบเดนเดินทางเยือนการประชุม ASEAN ที่กัมพูชา และ G20 ในอินโดนีเซีย ก่อนขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศทันที โดยสหรัฐฯ จะส่ง คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนไทยแทน ในขณะที่การประชุม APEC 2003 นั้น จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ได้เดินทางเยือนไทยถ่ายรูปคู่กับทักษิณด้วยตัวเอง

ในอีกทางหนึ่ง ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศไม่เดินทางเยือนการประชุม APEC 2022 เช่นเดียวกันกับการประชุม G20 ที่ประธานาธิบดีรัสเซียเลือกจะไม่เดินทางไปเยือน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยหลังจากการทำสงครามในยูเครนที่ยืดเยื้อ โดยทางการรัสเซียได้ส่ง อันเดรย์ เบโลอูซอฟ รองนายกรัฐมนตรีมาแทนปูติน ทั้งนี้ หากไม่นับ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนในฐานะสมาชิกเขตเศรษฐกิจ และแขกรับเชิญอย่าง เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และ โมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียแล้วนั้น การประชุม APEC 2022 แทบจะไม่มีผู้นำมากบารมี ที่ พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเทียบเคียง ไม่นับว่า พล.อ.ประยุทธ์เองเคยกล่าวกับ หลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ผ่านการเปรียบเทียบว่าจีนเป็นเหมือนราชสีห์ และไทยเป็นเพียงแค่มดที่พร้อมจะช่วยราชสีห์

นอกจากนี้ ผลจากความขัดแย้งของสงครามยูเครนยังกระทบมาถึงการประชุม APEC ระดับรัฐมนตรีก่อนหน้านี้เมื่อเดือน พ.ค. หลังรัฐมนตรีจาก 5 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น “วอล์กเอาท์” ระหว่างที่ผู้แทนรัสเซียกล่าวถ้อยแถลงเพื่อเป็นการประท้วงการรุกรานยูเครน ประกอบกับในแถลงการณ์ร่วมนั้น บางเขตเศรษฐกิจมีการเสนอให้มีการบรรจุเรื่องความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครนเข้าไปว่าเป็นต้นเหตุของความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงานโลก ส่งผลให้รัสเซียไม่เห็นด้วยกับการออกแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เช่นเดียวกันกับในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของเขตสมาชิก APEC เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา กลับมีความเห็นไม่ตรงกันเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนด้วยเช่นกัน

แม้ประชาชนจำนวนมากจะมองว่าการประชุม APEC 2022 ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ในเชิงรูปธรรมใดๆ ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยทั่วไป นอกเหนือไปจากการต่อมรดกความภาคภูมิใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ที่มีผู้นำจากนานาชาติเข้าร่วมการประชุมด้วย มันจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า การเป็นเจ้าภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ฺ ไม่ได้เป็นไปเพื่ออะไรนอกเหนือไปจากการเลียแผลอดีตผู้นำที่ยึดอำนาจ จนถูกประชาคมโลกหันหลังไม่ยอมรับ