นอกจากการจับกุมตัวรัฐมนตรีอาวุโสแล้ว เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 ก.ค. 66) ส.ส.สิงคโปร์ 2 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นเคยได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ลาออกจากตำแหน่ง หลังจากมีการเปิดเผยว่าพวกเขามีความสัมพันธ์นอกสมรส
ข่าวฉาวทางการเมืองดังกล่าวในสิงคโปร์ ได้สร้างความตกตะลึงให้กับประชาชนของประเทศ ซึ่งภูมิใจในชื่อเสียงในด้านธรรมาภิบาลของรัฐบาล และการมีการจ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้นำของประเทศที่สูงที่สุดในโลก
นักวิเคราะห์ระบุว่า เรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นอาจบั่นทอนการสนับสนุนพรรคกิจประชาชน (PAP) ซึ่งครองอำนาจปกครองสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2502 อีกทั้งยังสามารถครองเสียงข้างมากในรัฐสภาสิงคโปร์ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังกล่าวอีกว่า กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อใดที่ ลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์คนปัจจุบัน จะส่งมอบตำแหน่งผู้นำของเขาต่อแก่ทายาททางการเมืองของตัวเอง
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตันชวนจิน วัย 54 ปี และ เฉิงลี่ฮุย ส.ส.หญิง วัย 47 ปี ประกาศลาออกจากพรรคและสมาชิกรัฐสภาสิงคโปร์ เนื่องจาก "ความสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม" ของพวกเขา โดยตันนั้นแต่งงานแล้ว ส่วนเฉิงเป็นโสด
คำถามมากมายเกี่ยวกับความโปร่งใสในการเมืองสิงคโปร์เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อหน่วยเฝ้าระวังต่อต้านการรับสินบนของสิงคโปร์ ได้จับกุม สุบรามาเนียม อิสวารัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ อ่องเบ็งเส็ง นักธุรกิจโรงแรมพันล้าน โดยพวกเขาทั้ง 2 คนมีบทบาทสำคัญ ในการนำการแข่งรถประจำปี Grand Prix มาจัดในสิงคโปร์เมื่อปี 2551
ชาวสิงคโปร์ได้รับรู้ข่าวเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 ก.ค.) ว่าอิสวารันถูกขอให้ยุติบทบาทรัฐมนตรี ท่ามกลางการสอบสวน ในขณะที่ ลอว์เรนซ์ หว่อง รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ระบุกับสื่อท้องถิ่นว่า การสอบสวนการทุจริตจะดำเนินไปอย่าง "เต็มที่ ทั่วถึง และเป็นอิสระ" และจะไม่มีการซุกสิ่งใดไว้ใต้พรม
อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ประกาศการจับกุมตัวพวกเขาเพียง 3 วันหลังจากเกิดกรณีฉาวขึ้น โดยชายทั้ง 2 คนยังไม่ถูกตั้งข้อหาและขณะนี้อยู่ในระหว่างการประกันตัว การจับกุมดังกล่าวเกิดขึ้นจากข้อกล่าวหาที่ว่า รัฐมนตรีอาวุโสอีก 2 คนได้เช่าบังกะโลในยุคอาณานิคมย่านหรูในราคาต่ำกว่าตลาด
ในขณะเดียวกัน หน่วยต่อต้านการรับสินบนได้ตัดสินให้ กสิวิศวนาถัน ศานมุกัม และ วิเวียน บาลากริชนัน พ้นจากข้อกล่าวหาการกระทำผิด แต่การสืบสวนสอบสวนดังกล่าวกลับจุดประกายให้เกิดการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อน เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันในสิงคโปร์และมุมมองทางการเมือง
เหตุการณ์ผิดปกติเหล่านี้ได้สร้างมีมตลกบนโลกออนไลน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผู้ใช้อินสตาแกรมเปรียบเทียบสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศในปัจจุบัน กับการทำน้ำชาหกหรือแชร์เรื่องซุบซิบ นอกเหนือจากเรื่องตลกแล้ว ยังมีคำถามจริงจังเกี่ยวกับอนาคตของพรรคกิจประชาชน (PAP) และระยะเวลาที่พรรคจะสามารถรักษาความไว้วางใจจากชาวสิงคโปร์ต่อไป
สิงค์โปร์เคยผ่านเรื่องอื้อฉาวที่คล้ายกันในอดีตที่ผ่านมา โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประธานรัฐสภาสิงคโปร์คนก่อน และสมาชิกรัฐสภาอีกคนหนึ่งได้ก้าวลงจากตำแหน่งเพราะเรื่องการคบชู้ แต่เมื่อยิ่งใกล้เวลาของการสอบสวนเรื่องอื้อฉาวและคอร์รัปชั่น คดีต่างๆ ได้เพิ่มการตรวจสอบนักการเมืองจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้นเรื่อยๆ
พรรค PAP มีความภาคภูมิใจในตัวเองมานาน ในเรื่องมาตรฐานทางศีลธรรมอันสูงส่งของสมาชิกรัฐสภา และความสามารถในการรักษาบ้านเมืองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยสมาชิกผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของพรรคเคยเปรียบเทียบการเข้าร่วมพรรค PAP ว่าเหมือนกับการบวชเรียน
ในสัปดาห์นี้ ลีจัดการเรื่องอื้อฉาวล่าสุดของพรรคของเขา โดยกล่าวว่ามันแสดงให้เห็นว่า "ระบบที่มีทำงานอยู่อย่างไร" นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ยังกล่าวเสริมว่า “บางครั้งสิ่งต่างๆ กระจุกกันมาเป็นก้อน แต่เราแน่ใจว่าเราจะทำอย่างไรให้มันถูกต้อง” และ “มาตรฐานระดับสูงของความเหมาะสมและความประพฤติส่วนบุคคล… เป็นเหตุผลพื้นฐานที่ชาวสิงคโปร์ไว้วางใจและเคารพพรรค PAP”
อย่างไรก็ดี ผู้สังเกตการณ์คนอื่นๆ ยืนยันว่าข้อโต้แย้งเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดคำถามต่อคำกล่าวอ้างของสิงคโปร์ โดยเฉพาะพรรค PAP บนเรื่องการปกครองที่โปร่งใส
เอียน ฉง นักรัฐศาสตร์จากสิงคโปร์ กล่าวว่า "ผมคิดว่าคำถามที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวข้องกับการจำกัดอำนาจ การกำกับดูแล ความโปร่งใส ความเป็นกลางของกระบวนการรัฐสภา เช่นเดียวกับที่พรรค PAP อ้างว่าพวกเขาตรวจสอบตัวเองอย่างเพียงพอ"
ฉงตั้งข้อสังเกตว่าพรรค PAP ได้ปฏิเสธวิถีปฏิบัติทางการเมืองแบบปกติ ในประเทศที่มีระบบตุลาการพัฒนาแล้ว เช่น การเปิดเผยรายได้และทรัพย์สินต่อสาธารณะของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้าราชการระดับสูง และสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด
ไมเคิล บาร์ ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในออสเตรเลีย ซึ่งเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับการเมืองสิงคโปร์กล่าวว่า สิงคโปร์ไม่มีกลไกที่แข็งแกร่งในการจับกุมคนที่มีอำนาจ “คุณแค่ต้องเชื่อใจพวกเขา นั่นคือเหตุผลว่าทำไมสิ่งนี้จึงเป็นชุดการพัฒนาที่อันตรายและแปลกใหม่สำหรับรัฐบาล พวกเขากำลังทำลายแหล่งที่มาของความไว้วางใจจากประชาชน” บาร์กล่าว
สิงคโปร์ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศที่มีการทุจริตน้อยที่สุด ในดัชนีการรับรู้การทุจริตล่าสุดของ Transparency International โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสิงคโปร์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการจ่ายค่าจ้างระดับรัฐมนตรีจำนวน 7 หลัก เพื่อเป็นหนทางในการปราบปรามการทุจริต
บาร์ระบุว่า "หากปราศจากความไว้วางใจจากสาธารณชนในระดับที่ไม่ธรรมดาแล้ว รัฐบาลต้องพึ่งพาหนึ่งในสองสิ่งเพื่อชนะการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการปราบปรามและมาตรการอื่นๆ ที่บ่อนทำลายประชาธิปไตย หรือความชอบธรรมในระดับสูงจากผลงาน ผลงานของพวกเขาในช่วงหลังมานี้ ทำให้เราลืมเรื่องความถูกต้องตามกฎหมายในการปฏิบัติงานได้”
เหตุการณ์ล่าสุดยังทำให้เกิดข้อสงสัยว่า เมื่อใดที่ลีจะก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ โดยลีในวัย 71 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ปี 2547 ทั้งนี้ เขามักพูดถึงความปรารถนาที่จะเกษียณอายุ โดยลีมีผู้สืบทอดทางการเมือง ที่ได้รับการแต่งตั้งแล้วอย่าง ลอว์เรนซ์ หว่อง ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสิงคโปร์
อย่างไรก็ดี เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ลีกล่าวว่าเขาไม่มีแผนที่จะประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในทันที โดยการเลือกตั้งทั่วไปของสิงคโปร์ครั้งหน้า จะะเกิดขึ้นภายในเดือน พ.ย. 2568
ฉงกล่าวว่า ทั้งนี้ หว่องไม่ได้กระตือรือร้น หรือออกมาแสดงบทบาทที่ชัดเจนมากนัก ในการจัดการกับเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ โดยท่าทีของหว่องดังกล่าวได้ก่อให้เกิดคำถาม เกี่ยวกับตัวเขาและความพร้อมของคนรอบข้าง ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของสิงค์โปร์
ที่มา: