ไม่พบผลการค้นหา
‘จุลพันธ์’ แจงละเอียดมาตรการแก้หนี้นอกระบบ ขอประชาชนมั่นใจกลไกเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ เชิญชวนลงทะเบียนรับการช่วยเหลือ ย้ำเจรจาเจ้าหนี้ละมุนละม่อม แต่หากลองของต้องดำเนินการทางกฎหมาย

วันที่ 14 ธ.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ที่มี ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม วาระกระทู้ถาม ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ โดยก่อนอื่น ขอขอบคุณรัฐบาลที่ให้ความสำคัญเรื่องการแก้หนี้นอกระบบ 

ลิณธิภรณ์ ชี้ว่า ปัญหาหนี้สินมีความเรื้อรัง และนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ผู้มีอิทธิพล การใช้ความรุนแรงทวงหนี้ และปัญหายาเสพติด นายกรัฐมนตรีได้เปิดช่องทางให้ประชาชนมาลงทะเบียนช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบ มีผู้ลงทะเบียนสูงสุดถึง 8.8 หมื่นคน และมีเจ้าหนี้มาลงทะเบียน 5.8 หมื่นคน มูลหนี้รวม 4.89 พันล้านบาท เฉลี่ยลูกหนี้ 1 ราย มีมูลหนี้กว่า 5.5 หมื่นบาท

ทั้งนี้ ลิณธิภรณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า สัดส่วนการลงทะเบียนในแต่ละจังหวัด พบว่ามีเจ้าหนี้มาลงทะเบียนมากกว่าลูกหนี้ เท่ากับว่าลูกหนี้ 1 คน มีเจ้าหนี้หลายคนหรือไม่ และตั้งสมมติฐานได้ว่า เจ้าหนี้มีความเกี่ยวพันกับผู้มีอิทธิพล หรือเกี่ยวพันกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ เป็นเหตุให้ลูกหนี้เกรงกลัวไม่กล้ามาลงทะเบียน และจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร

ลิณธิภรณ์ ยังถามด้วยว่า รัฐบาลมีมาตรการและแรงจูงใจอย่างไรให้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ ร่วมกันแก้ปัญหาหนี้ด้วยกัน อีกทั้งนอกจากแนวทางแก้ปัญหาหนี้แล้ว รัฐบาลมีมาตรการอย่างไรในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชน เพื่อตัดวงจรหนี้


รมช.คลัง แจงกลไกรัฐจริงใจ ประชาชนเชื่อมั่น

ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงว่า ในการลงทะเบียนลูกหนี้ มี 5 ช่องทาง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ หรือสายด่วน 1599, ศูนย์ดำรงธรรม สำนักงานเขต หรือสายด่วน 1567, ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดนายกรัฐมตรี หรือสายด่วน 1111, ศูนย์รับแจ้งนอกระบบ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือสายด่วน 1359 และ www.debt.dopa.go.th 

จุลพันธ์ กล่าวต่อไปว่า ประชาชนทุกคนที่ลงทะเบียน จะได้รับ tracking number เพื่อติดตามกระบวนการแก้หนี้ แต่ลูกหนี้ต้องมีความสมัครใจในการแก้ไขหนี้ และรัฐบาลจะติดต่อไปยังเจ้าหนี้ เพื่อดำเนินการไกล่เกลี่ยให้อยู่ในกรอบกฎหมายที่เป็นธรรม หากลูกหนี้เคยชำระจนคุ้มกับเงินต้นแล้ว ก็จะมีช่วยเจรจาจนถึงที่สุด 

สำหรับประชาชนที่ลังเลหรือหวาดกลัวกับความปลอดภัยในการขอความช่วยเหลือ ความชัดเจนของภาครัฐจะเป็นสิ่งยืนยันต่อประชาชน ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ได้มีการเจรจาหนี้ในลักษณะใกล้เคียง แต่ช่วงต้นก็มีปัญหาคล้ายกันคือประชาชนยังลังเลและไม่แน่ใจ แต่ด้วยสัญญาณที่ชัดเจนและความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา จึงเชื่อได้ว่าประชาชนจะมั่นใจ

ส่วนเจ้าหนี้ รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาด้วยความละมุนละม่อม หากลูกหนี้ยังไม่ได้ชำระเป็นจำนวนที่เหมาะสม ก็จะมีการตั้งโต๊ะพูดคุยหาทางออก และทำความเข้าใจ แต่หากเจ้าหนี้บางคนลองของ ยังไม่ยอมรับกลไกของรัฐ ใช้กำลังข่มขู่คุกคาม ภาครัฐจะดำเนินการตามกฎหมาย รวมถึงเจ้าหนี้ที่เก็บดอกเบี้ยอย่างไม่เป็นธรรมด้วย