ไม่พบผลการค้นหา
‘ทวี​’ ชี้​เงื่อนไข​พักโทษ​ ไม่มีข้อห้ามเคลื่อนไหวการเมือง​ บอก​ ‘ทักษิณ​’ รายงานตัวกรมคุมประพฤติตามปกติ​ ไม่ห่วง สส.นำมาเป็นประเด็นอภิปราย​ 152 ก่อนย้อนเกล็ด​ สว.​ส่วนหนึ่งเป็น สนช. แก้​ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์​เอง​ โอด​ตนเป็นเพียงผู้ปฏิบัติ​ ยึดตามรัฐธรรมนูญ​

วันที่ 26 มี.ค. พ.ต.อ.ทวี​ สอดส่อง​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​ยุติธรรม​ กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ​ ชิน​วัตร​ ​อดีต​นายก​รัฐมนตรี​ จะเดินทางเข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทย​ จะทำให้เป็นประเด็นทางสังคมและเป็นเป้าทางการเมืองในการอภิปรายทั่วไป​ ตามมาตรา 152 ว่า​ คงเป็นการอภิปรายคล้ายกับ สมาชิกวุฒิสภา หรือ​ สว. แต่อาจจะมีเนื้อหาที่เข้มข้นกว่า 

ส่วนจะทำให้สังคมเคลือบแคลงใจหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ ​ กล่าวว่า​ ปกติเราจะดูแค่หลักเกณฑ์การคุมประพฤติ การพักโทษก็อยู่ในเรื่องของโทษของกรมราชทัณฑ์​ ยังอยู่ในเงื่อนไขของการเป็นนักโทษ เพราะกรมราชทัณฑ์จะไปลดโทษให้ใครไม่ได้​ แต่มีกระบวนการเรียกว่าการบริหารโทษ การพักโทษหรือการใช้ที่คุมขังอื่น ในกฎหมายกรมราชทัณฑ์และกฎกระทรวง พร้อมกับมองว่าโรงพยาบาลเป็นที่คุมขัง ซึ่งนักโทษเมื่อไปนอนที่โรงพยาบาล เราก็หักจากการต้องโทษ แต่ถ้าหากถามนักโทษอยู่โรงพยาบาลกับเรือนจำนักโทษอยากอยู่เรือนจำมากกว่า อยู่โรงพยาบาลสภาพลำบาก เหมือนเราไปอยู่โรงพยาบาล​ ส่วนการเคลื่อนไหวอื่นๆ กรมคุมประพฤติมีข้อห้าม คือห้ามไปมั่วสุมยาเสพติด และห้ามไปเยี่ยมนักโทษด้วยกัน ส่วนเรื่องอื่นๆมีสิทธิและเสรีภาพ โดยกรมคุมประพฤติมีหน้าที่ควบคุมดูแล

ส่วนการที่ ทักษิณ​ เดินทางไปพบสมาชิกพรรคเพื่อไทยวันนี้​ จะผิดเงื่อนไขการพักโทษหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ เลี่ยงที่จะตอบคำถาม พร้อมระบุว่ากรมคุมประพฤติให้มารายงานตัว จะไปไหน​ ไปพบใครไม่เกี่ยว​ และในกฎกระทรวง ไม่ได้เขียนเงื่อนไขการพักโทษว่าห้ามเกี่ยวข้องกับการเมือง 

เมื่อถามย้ำว่า กรณี ทักษิณ มีการตั้งข้อถึงสังเกตถึงมาตรฐานของขบวนการยุติธรรม จะชี้แจงต่อสังคมอย่างไร พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า​ กระบวนการยุติธรรมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะรัฐธรรมนูญบอกให้รัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย​ หากทำนอกกฎหมายถือเป็นการทำตามอำเภอใจ อย่างที่ตนพูด การถูกกฎหมายต้องพยายามพัฒนากฎหมาย​ ในบางช่วงที่ออกมาก่อน จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นใหม่ จะต้องมีการแก้ไขอย่างเช่นกฎหมายราชทัณฑ์ ซึ่งหากดูจริงๆกฎหมายของกรมราชทัณฑ์ เกิดจาก สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ​ สนช.เป็นผู้ร่าง​ ในปี​ 2559 และมีการประชุมถึง 21 ครั้ง จน 1 ธันวาคม 2559 ออกมาเป็นกฎหมายราชทัณฑ์​ ปี 2560​ ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่นำกฎหมายลูกมาใส่ ซึ่งภายหลัง สมศักดิ์​ เทพสุทิน​ ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น​ มาออกเป็นกฎกระทรวง ซึ่งเดิมถ้าออกเป็นแพ็คเกจใหญ่จะเป็นการคิดในห้องแอร์เกินไป​ ผู้ปฏิบัติอาจจะลำบาก ถึงแยก​ เช่นการรักษาพยาบาล หรือการไปที่คุมขังอื่น หรือการพักโทษ เป็นขั้นตอนไป​ พร้อมยืนยันว่า กฎหมายถูกร่างมาโดยสนช. และเป็นกฎหมายที่เกิดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งตนก็มาปฏิบัติตาม หากดูดีๆคนราชทัณฑ์แทบไม่มีอำนาจ เช่นการพักโทษ ก็มีคณะกรรมการพักการลงโทษ มีปลัดกระทรวงยุติธรรม และมีข้าราชการอื่น รวมถึงจากศาลยุติธรรม เป็นคณะกรรมการ

พ.ต.อ.ทวี​ ยังกล่าวอีกว่า​ ถ้าเรายอมรับกติการัฐต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าปฏิบัตินอกกฎหมายเราถือว่าไม่ใช่หลักนิติธรรม

เมื่อถามว่า กรมราชทัณฑ์​จะเตือน ทักษิณ​ ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองน้อยลงเนื่องจากถูกสังคมจับจ้อง พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า เราเคารพในความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี กระทรวงยุติธรรมคงไม่มีหน้าที่ไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัว นอกจากภารกิจหน้าที่ที่เรารับผิดชอบ 

ส่วนที่ผ่านมามีนักการเมืองที่ถูกพักโทษเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับ ทักษิณหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า คนพักโทษแต่ละปีมีเป็นหมื่น แต่อาจจะไม่มีสื่อฯไปตาม​ ซึ่งมองว่าจากรายงานที่กรมคุมประพฤติส่งมาเมื่อคืนนี้ นายทักษิณก็ปฏิบัติตามเงื่อนไขทุกอย่าง​

เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า หนักใจหรือไม่ ทักษิณมีการเคลื่อนไหว เดินทางในหลายพื้นที่ ซึ่งถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก พ.ต.อ.ทวี​ กล่าวว่า อยากให้สังคมแยกส่วน กระทรวงยุติธรรมไม่ได้หนักใจ เมื่อวานนี้ครบ 133 ปี​กระทรวงยุติธรรม ที่เราจะมุ่งมั่นลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนทุกคนได้รับความยุติธรรมถ้วนหน้า ซึ่งคำว่ายุติธรรมอาจเป็นนามธรรมเกินไป ต้องทำตามรัฐธรรมนูญกฎหมายที่บัญญัติไว้ก่อน​ ส่วนกฎเกณฑ์ต่างๆที่ไม่เป็นธรรมก็ต้องแก้ไข แต่ในที่สุดก็ต้องให้สภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นงานสภาที่มาจากผู้ที่ถูกแต่งตั้ง โดยเฉพาะคนในสภาเมื่อวานส่วนใหญ่ก็เป็นคนร่างฯ​พ.ร.บ.ราชทัณฑ์​ฉบับนี้ทั้งหมด