ไม่พบผลการค้นหา
ชาติพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) หลายประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ได้ประกาศไม่สนับสนุนการส่งกองกำลังภาคพื้นดินไปยังยูเครน หลังจากที่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส กล่าวถึงตัวเลือกการส่งกองกำลังของ NATO เข้าไปในยูเครนว่า "ไม่มีอะไรที่ควรจะถูกยกเว้น"

ทั้งนี้ มาครงได้ออกมากล่าวว่า ชาติพันธมิตร NATO "ไม่มีความเห็นพ้องต้องกัน" ในการส่งทหารของชาติพันธมิตรตะวันตกไปยังยูเครน ในขณะที่ ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกสำนักประธานาธิบดีรัสเซีย ออกมากล่าวเตือนว่า หาก NATO ตัดสินใจส่งกองกำลังของตัวเองเข้ามาในพื้นที่ยูเครน อาจทำให้รัสเซียกับ NATO เกิดความขัดแย้งโดยตรงได้ 

ก่อนหน้านี้ กองกำลังรัสเซียเพิ่งได้รับชัยชนะในพื้นที่เมืองอาฟดิฟกาในแคว้นโดเนสตก์ของยูเครน ในขณะที่ยูเครนยังคงร้องขอการสนับสนุนจากชาติพันธมิตรอย่างเร่งด่วน สำหรับการรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมด้านอาวุธ

มาครงกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 ก.พ.) ว่า “เราไม่ควรยกเว้นว่าอาจมีความจำเป็นด้านความมั่นคง ที่จะช่วยปรับองค์ประกอบบางประการของการะดมพลเข้าประจำการ” ก่อนที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศสจะกล่าวเสริมว่า “แต่ผมได้บอกคุณอย่างชัดเจนแล้วว่า ฝรั่งเศสรักษาจุดยืนของตนไว้อย่างไร ซึ่งเป็นความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์ที่ผมยืนหยัดมา”

การแถลงของมาครงในครั้งนี้เกิดขึ้นที่กรุงปารีส ในฐานะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมช่วงวิกฤตเพื่อการมอบความสนับสนุนแก่ยูเครน โดยมีประมุขจากรัฐต่างๆ ในยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ และแคนาดาเข้าร่วมการประชุมด้วย

ปัจจุบันนี้ การรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบโดย วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้กินเวลาเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว โดยสงครามที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงครั้งนี้ ยังคงไม่มีสัญญาณว่าจะสิ้นสุดลงในไม่ช้านี้

ในทางตรงกันข้ามกับมาครง โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมากล่าวตามแถลงการณ์ของทำเนียบขาวว่า เขาเชื่อว่า "เส้นทางสู่ชัยชนะ" ในยูเครน คือการที่ชาติพันธมิตรคอยให้ความช่วยเหลือทางทหาร "เพื่อให้กองทหารยูเครนมีอาวุธและกระสุนที่จำเป็นสำหรับการป้องกันตัวเอง"

“ประธานาธิบดีไบเดนแสดงให้เห็นชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ส่งทหารไปสู้รบในยูเครน” แถลงการณ์ของทำเนียบขาวระบุย้ำ

โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่าชาติพันธมิตรยังคงมีจุดยืนที่ตกลงกันไว้ว่า จะไม่มีประเทศใดในยุโรปหรือรัฐสมาชิก NATO ที่จะส่งกองทหารเข้าไปยังยูเครน เช่นเดียวกันกับสำนักงานนายกรัฐมนตรีอิตาลีของ จอร์เจีย เมโลนี ที่ออกออกแถลงการณ์ระบุว่า "การสนับสนุนของอิตาลีไม่รวมถึงการมีอยู่ของทหารจากยุโรปหรือรัฐ NATO ในดินแดนยูเครน"

ในอีกด้านหนึ่ง โฆษกของ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สหราชอาณาจักรไม่มีแผนที่จะส่งกำลังทหารจำนวนมากไปยังยูเครน นอกเหนือไปจากบุคลากรจำนวนไม่มากที่คอยทำหน้าที่ฝึกกองกำลังยูเครนเพื่อใช้อาวุธที่สหราชอาณาจักรเคยส่งไปยังยูเครนอยู่แล้ว

เปสคอฟในนามของสำนักประธานาธิบดีรัสเซีย ออกมาเรียกข้อเสนอแนะของมาครงว่าเป็น "องค์ประกอบใหม่ที่สำคัญมาก" และระบุเสริมว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิก NATO เลย “ในกรณีนี้ เราจะต้องไม่พูดถึงความน่าจะเป็น แต่เกี่ยวกับความหลีกเลี่ยงไม่ได้ (ของความขัดแย้งโดยตรง)” เปสคอฟกล่าวเตือนไปยังข้อเสนอของมาครง

ก่อนหน้านี้ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO ออกมาปฏิเสธในการจะเปิดให้มีการพิจารณาถึงการส่งทหารไปยังยูเครนหรือไม่ แม้ว่าเขาจะยืนกรานว่ากลุ่มพันธมิตร NATO จะยังคงสนับสนุนยูเครนต่อไป ถึงแม้ว่ายูเครนจะไม่ได้เป็นสมาชิกของ NATO ก็ตาม โดยจุดยืนดังกล่าวยังสอดคล้องกับรัฐสมาชิก NATO จำนวนหนึ่ง รวมถึงสเปน โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก

ในขณะนี้รัสเซียมีปืนใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก และรัสเซียยังคงมีกำลังทหารที่ใหญ่กว่ายูเครนมากเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้กองทัพยูเครนจำเป็นต้องพึ่งพาอาวุธสมัยใหม่ที่ชาติพันธมิตรตะวันตกจัดหาให้ โดยเฉพาะอาวุธจากสหรัฐฯ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (27 ก.พ.) ไบเดนออกมาเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐฯ อนุมัติชุดความช่วยเหลือของสหรัฐฯ มูลค่า 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งรวมถึงเงิน 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.15 ล้านล้านบาท) หลังจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงส่วนใหญ่จากพรรครีพับลิกันยังคงแสดงท่าทีต่อต้าน

สหรัฐฯ นับเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่ที่สุดแก่ยูเครน โดยนับจนถึงปัจจุบันนี้ สหรัฐฯ ได้มอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนคิดเป็นเงินแล้วกว่า 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ในขณะที่เยอรมนีเป็นชาติที่มอบความช่วยเหลือแก่ยูเครนมากสุดเป็นอันดับที่สองกว่า 17,700 ล้านยูโร (ประมาณ 6.9 แสนล้านบาท) ในช่วงเวลาเดียวกัน ตามมาด้วยสหราชอาณาจักรที่ 9,100 ล้านยูโร (ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท)

โวโลดีเมอร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ซึ่งเข้าร่วมการประชุมที่กรุงปารีสเมื่อวันจันทร์ผ่านระบบวิดีโอลิงก์ กล่าวว่า "ทุกสิ่งที่เราทำร่วมกันเพื่อป้องกันการรุกรานของรัสเซีย จะเพิ่มความมั่นคงที่แท้จริงให้กับประเทศของเราไปอีกนานหลายทศวรรษ"


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-europe-68417223?fbclid=IwAR3A_gva_GMYVCTWKCO_1b7UMq4lI4vWocLmCIp0AtlSYjGg8qgMfc2Lm1Q