สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า หม่าเสี่ยวกวงโฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะรัฐมนตรีจีนยืนยันในวันที่ 18 ก.พ.ว่า แนวคิดที่ว่าจีนเข้าไปแทรกแซงการซื้อขายวัคซีนโควิด-19 จากบริษัท BioNTech ของเยอรมนีนั้น "ล้วนเป็นข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้น" ขณะที่ CNN ชี้ว่าเพียงหนึ่งวันก่อนหน้า เฉินสือจง รัฐมนตรีสาธารณสุขของไต้หวันให้สัมภาษณ์ผ่านรายการวิทยุว่า ไต้หวันกำลังจะลงนามในสัญญาการซื้อขายมูลค่ามหาศาลเพื่อซื้อวัคซีนโควิด 5 ล้านโดสจาก BioNTech ในเดือน ธ.ค. 2563 อย่างไรก็ตามทางผู้ผลิตถอนตัวและขอระงับการขายกระทันหัน
เฉินสือจงเผยโดยไม่ระบุชื่อประเทศที่กำลังกล่าวถึงว่า "ระหว่างกระบวนการการเจรจาซื้อขายวัคซีน ผมมีความกังวลอย่างต่อเนื่องว่าอาจมีการแทรกแซงจากอำนาจภายนอก เราเชื่อว่าความกดดันทางการเมืองนั้นมีอยู่ ซึ่งขณะนั้นเราเตรียมเอกสารข้อมูลเพื่อแถลงข่าวกับสื่อมวลชนกันเรียบร้อยหมดแล้ว แต่มีคนบางกลุ่มไม่ต้องการให้เราพบกับความสุข"
ในเดือน มี.ค. 2563 ทางบริษัท BioNTeach ได้มีการแถลงความร่วมมือในการผลิตวัคซีนกับบริษัทฟู่ซิงฟาร์มา (Fosun Pharma) ของจีน ด้วยเม็ดเงินการลงทุนรวมมากกว่า 5,900 ล้านบาท แบ่งเป็นเม็ดเงินที่ฟู่ซิงฟาร์มาจ่ายลงทุนให้ BioNTech 4,300 ล้านบาท และการเข้าถือหุ้น BioNTech อีกกว่า 1,600 ล้านบาท ถือเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ของ BioNTech ที่มีจุดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยี และจุดเด่นเชิงพาณิชย์จากบริษัทฟู่ซิงฟาร์มา โดยการลงนามของสองบริษัทในครั้งนี้ทำให้ฟู่ซิงเป็นบริษัทที่มีสิทธิ์ในการพัฒนาและขายวัคซีนให้กับจีน ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน จณะที่ BioNTech เองก็มีสิทธิพัฒนาและจำหน่ายวัคซีนในประเทศอื่นๆด้วย
อย่างไรก็ตาม หม่าเสี่ยวกวง โฆษกสำนักงานกิจการไต้หวันแห่งคณะรัฐมนตรีจีนระบุในวันที่ 18 ก.พ.ว่า ไต้หวันมีความพยายามเลี่ยงการซื้อวัคซีนผ่านบริษัทฟู่ซิงฟาร์มา และต้องการซื้อจาก BioNTech โดยตรงตามที่ควรจะเป็น ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขไต้หวันยืนยันว่าได้หวันไม่เคยเจรจาการซื้อวัคซีนโควิดผ่านบริษัทฟู่ซิงฟาร์มาตั้งแต่แรก เพราะดำเนินการติดต่อบริษัทแม่ในเยอรมนีโดยตรงมาโดยตลอด และที่สำคัญ BioNTech ก็ไม่เคยขอให้ไต้หวันติดต่อผ่านบริษัทฟู่ซิงฟาร์มาแม้แต่ครั้งเดียว
ด้านผู้สื่อข่าวจาก CNN พยายามติดต่อไปทางบริษัทฟู่ซิงฟาร์มา และTTY Biopharm บริษัทยาจากไต้หวันซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับดีลการซื้อขายครั้งนี้ แต่ไม่ได้รับความเห็นแต่อย่างใด เพราะทั้งสองฝ่ายอ้างว่าข้อมูลทั้งหมดยังเป็นความลับ
ในวันที่ 18 ก.พ. บริษัท BioNTech แถลงว่าการเจรจากับไต้หวันนั้นยังคงดำเนินต่อไป "BioNTech มีความยึดมั่นต่อภารกิจในการทำให้สถานการณ์โรคระบาดนี้เดินไปสู่จุดจบโดยเร็วเพื่อประชากรของนานาประเทศ และเราตั้งใจที่จะส่งมอบวัคซีนให้กับไต้หวันตามจุดยืนของทางบริษัท" อย่างไรก็ตาม แรงกดดันทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้สร้างความลำบากใจอย่างมากให้กับ เฉินสือจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไต้หวัน และทำให้เขาเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหานี้ต่อสาธารณะท่ามกลางการเจรจาที่ยังดำเนินต่อไป เพราะเกรงว่าอาจกระทบการปิดดีล
เดือน ธ.ค. 2563 ในช่วงเวลาที่ไต้หวันกำลังจะปิดดีลการซื้อวัคซีนจาก BioNTech เฉินสือจงกล่าวในงานแถลงข่าวว่ารัฐบาลไต้หวันประสบความสำเร็จในการลงนามซื้อวัคซีนเพื่อประชาชนแล้วมากกว่า 20 ล้านโดส ประกอบไปด้วย 4.76 ล้านโดสจากโครงการ COVAX 10 ล้านโดสจากแอสตร้าเซนเนก้า และอีก 5 ล้านโดสจาก "บริษัทที่กำลังจะปิดดีลกับไต้หวัน" และนั่นก็คือกรณีของ BioNTech ที่ระงับการขายไปล่าสุดนั่นเอง
รมว.สาธารณสุขไต้หวันแถลงโดยไม่ระบุถึงประเทศใด แต่มีจังหวะที่เขาได้หันไปกล่าวกับพิธีกรซึ่งเป็นการเผยโดยนัยถึงจีนแผ่นดินใหญ่ว่า "ก็เหมือนกับการที่เราพยายามที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งขององค์การอนามัยโลกนั่นแหละ" เนื่องจากจีนปิดกั้นไม่ให้ไต้หวันสามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ ไช่อิงเหวิน ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 2559