ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจมหภาค และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การที่มีผู้กล่าวว่า หากประเทศไทยลดดอกเบี้ยจะทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออกนั้น, เรามีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากเกินไป จะไปกลัวเงินทุนระยะสั้นไหลออกทำไม เงินระยะสั้นเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้น โดยแทบไม่มีประโยชน์อย่างอื่นๆ เลย
การลดดอกเบี้ย, เพิ่มอัตราเงินเฟ้อในกรอบ 2-4% แล้วปล่อยให้เงินระยะสั้นไหลออกไปบ้าง จะทำให้เงินบาทอ่อนลง ไปเพิ่มการส่งออกการท่องเที่ยว และเพิ่มการลงทุนจากตปท. (FDI) จะทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตในอัตราสูงขึ้น ประชาชนมีรายได้ดีขึ้น รัฐบาลได้ภาษีมากขึ้น ทั้งรัฐบาลและประชาชนมีสัดส่วนหนี้ต่อ GDP ลดลง จึงดูดีกว่ามาก
เราบริหารประเทศ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโตได้มากๆ ให้ประชาชนมีงานดีๆ ทำ มีฐานะดี มีความเป็นอยู่ดี เมื่อระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโตสูงขึ้น เงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาวก็จะไหลเข้ามามากขึ้นเอง (เช่นประเทศญี่ปุ่นในเวลานี้) เพราะต่างชาติดูแล้วเห็นว่าประเทศเรา เริ่มมีอนาคตดีขึ้น
การที่ประเทศเวียดนาม ในปี 2566 มีความเจริญเติบโตเกิน 5% สูงกว่าประเทศไทยมาก ซึ่งเติบโตเพียง 1.8% ส่วนใหญ่ๆ มาจากการที่ เราแข่งขันสู้เวียดนามไม่ได้ โดยใน 10 กว่าปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเทียบเงินด่อง แข็งขึ้นกว่า 44% ความจริงค่าเงินบาทแข็งขึ้นกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่งเกือบทุกสกุล 15-45%
เช่นเดียวกันการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เข้าจีนน้อยลง ไม่ได้มาประเทศไทย แต่ไปเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เพราะเงินเขาอ่อนกว่าไทยมาก ราคาพลังงานและค่าแรงงานแม้จะสูงขึ้นในสายตาคนในชาติเขา แต่ราคาจะถูกในสายตาต่างชาติ