กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก และวาตภัย ในพื้นที่ภาคใต้ 9 จังหวัด 70 อำเภอ 358 ตำบล 2,318 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบ 261,253 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 3 ราย ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมขังใน 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส
ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหาร จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และคลี่คลายสถานการณ์ โดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมและสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือ ตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดพัทลุง หลังจากมีฝนตกหนักตลอดทั้งคืนที่ผ่านมา มวลน้ำป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดพัทลุง ได้ไหลหลากลงมาตามน้ำตกต่างๆ อีกรอบ โดยเฉพาะที่น้ำตกไพรวัลย์ น้ำตกมโนราห์ อำเภอกงหรา น้ำตกโตนแพรทอง อำเภอศรีนครินทร์ โดยมวลน้ำก้อนใหญ่กำลังหลากลงมาท่วมยังพื้นที่ด้านล่าง ของ ตำบลชะรัด ตำบลคลองทรายขาว ตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา
ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวระดับน้ำเพิ่งลดลงไปได้กว่า 20 ชั่วโมงที่ผ่านมา น้ำกลับมาท่วมอีกครั้งรอบนี้เป็นรอบที่ 3 น้ำได้เพิ่มระดับอย่างต่อเนื่องและมีสีแดงขุ่น เจ้าหน้าที่เขตรักษาธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดพัทลุงเร่งเฝ้าสังเกตการณ์ก่อนแจ้งยังพื้นที่รับน้ำเตรียมรับมือกับมวลน้ำก่อนใหญ่อีกระลอก คาดอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าน้ำไหลหลากลงถึงพื้นที่ลุ่มของ อำเภอกงหรา อำเภอเขาชัยสน อำเภอเมือง และอำเภอบางแก้ว
ขณะที่มวลน้ำป่าบวกน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำหลากท่วมในพื้นที่ ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง ฟาร์มหมูของชาวบ้านถูกกระแสน้ำพัด หมูต้องลอยไปกับน้ำ เจ้าของทำได้เพียงยืนมองไม่สามารถลงไปช่วยได้เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชียว
ส่วนพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา ใน 5 อำเภอของจังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย อ.ควนขนุน อ.เมือง อ.เขาชัยสน อ.บางแก้ว และ อ.ปากพะยูน ระดับน้ำยังเพิ่มต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ต.ลำปำ บริเวณหน้าบริษัททีโอที น้ำหลากท่วมผิวทางจราจร ทางแขวงการทางต้องน้ำป้ายปิดเส้นทางเพื่อป้องกันรถผ่าน โดยมีน้ำท่วมสูง 50-60 ซม. ขณะเส้นทางทะเลน้อย บ้านลำปำ ตำบลพะนางตุง จนไปถึง ตำบลลำปำ บนผิดทางจราจรมีน้ำไหลผ่านและเพิ่มระดับขึ้น ชาวบ้านริมถนนต้องขนย้ายสิ่งของอพยพครอบครัวมากางเต็นท์นอนบนถนน พร้อมทั้งสัตว์เลี้ยง ขณะที่พื้นที่อำเภอเมือง เขตเทศบาลพัทลุงเจ้าหน้าที่ต้องเร่งสูบน้ำระบายออกอย่างเนื่องหวั่นท่วมพื้นที่เศรษฐกิจภายในเขตเทศบาลเมือง กับสภาพฝนที่ตกหนักในพื้นที่กับวกน้ำที่ไหลหลากลงมา
อนุชา บูรพชัยศรี เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ โดยนายกรัฐมนตรีได้รับรายงาน 7 จังหวัด 58 อำเภอ ที่ได้รับความเสียหาย
ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประกาศเตือนว่าจะมีฝนตกตกต่อเนื่องในช่วงนี้ โดยนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ระดมกำลังพล เครื่องมือ เครื่องจักร ทหาร ตำรวจ พลเรือน ประชาชนจอตอาสา เพื่อเข้าช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ พร้อมเตรียมการฟื้นฟูหลังจากน้ำลด
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ยังไม่มีกำหนดการลงพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่
สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.นครศรีธรรมราช ว่า ได้สั่งการให้เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช เฝ้าระวังติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในเบื้องต้นจากข้อมูล เรือนจำมีที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สูงไม่เคยมีประวัติการมีน้ำท่วมขังภายในที่ส่งผลต่อมาตรการการควบคุม แต่อาจได้รับผลกระทบในเส้นทางเข้า-ออก การนำตัวผู้ต้องขังไปศาล โรงพยาบาล การขนส่งอาหารดิบ เครื่องอุปโภคบริโภค การสื่อสาร พลังงานกระแสไฟฟ้า ตลอดจนการให้บริการญาติและประชาชนที่เกี่ยวข้องได้ โดยสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบัน (2 ธ.ค. 2563) มีน้ำหลากและท่วมขังรอบแนวกำแพงภายนอกสูงประมาณ 20-30 ซม.และถนนเข้า-ออกเส้นทางหลักของเรือนจำประมาณครึ่งเมตร รถจักรยานยนต์และรถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ แต่ระดับน้ำยังทรงตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หากไม่มีฝนตกหนักต่อเนื่องจะสามารถระบายและลดระดับอย่างรวดเร็ว
สมศักดิ์ กล่าวว่า เบื้องต้นเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ได้มีแผนเผชิญเหตุและมาตรการจัดเตรียมยานพาหนะรถยนต์บรรทุกสูง รถควบคุมผู้ต้องขัง รถหุ้มเกราะสูง พร้อมพนักงานขับรถสำรอง สำหรับใช้ในการโดยสารหรือขนส่งปกติและเมื่อมีการร้องขอ เตรียมประสานผู้ประมูลและผู้ประกอบการเพื่อสำรองอาหารดิบ เครื่องอุปโภคบริโภค ให้เพียงพอต่อความต้องการ และเตรียมแก้ไขปัญหากรณีมีข้อจำกัดในเส้นทางการขนส่ง ร่วมกับสำนักงานจังหวัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประสารการปฏิบัติเมื่อมีปัญหาขัดข้อง เช่น กรณีต้องการกระแสไฟฟ้าสำรอง หากมีการตัดไฟฟ้า และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองของเรือนจำขัดข้องหรือไม่เพียงพอ รวมทั้งให้การช่วยเหลือประชาชนในชุมชนรอบบริเวณหรือใกล้เคียงเรือนจำที่ประสบภัย ตามที่ได้เคยปฏิบัติเมื่อครั้งพายุปลาบึก และเฝ้าติดตามประเมินสถานการณ์ กวดขันมาตรการด้านการควบคุมอย่างใกล้ชิด และรายงานผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง
การรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่าสถานการณ์ระดับน้ำในพื้นที่ยังไม่คลี่คลาย การรถไฟฯ จึงได้ประกาศปรับเปลี่ยนการเดินรถสถานีต้นทางปลายทาง และงดเดินขบวนรถบางขบวนในเส้นทางสายใต้ ในวันนี้ อีก 1 วัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์และความปลอดภัยในการเดินทางของผู้โดยสาร โดยให้ขบวนรถที่มีปลายทางสถานีตรัง กันตัง และนครศรีธรรมราช เดินรถถึงสถานีชุมทางทุ่งสง และสถานีคลองจันดี และทำการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์ไปยังสถานีปลายทางต่อไป ดังนี้
ขบวนรถที่งดให้บริการ
ขบวนรถที่ปรับเปลี่ยนปลายทางที่สถานีชุมทางทุ่งสง และทำการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์
ขบวนรถที่ปรับเปลี่ยนต้นทางในเที่ยวกลับ จากสถานีตรัง กันตัง นครศรีธรรมราช เป็นที่สถานีคลองจันดี และทำการขนถ่ายผู้โดยสารทางรถยนต์
ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนัก และทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคใต้ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา พัทลุง ตรัง สตูล และนราธิวาส ซึ่งมีพื้นที่ปลูกยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ทั้งหมดประมาณ 5,274,333 ไร่ เป็นเกษตรกรจำนวน 478,760 ราย โดยได้สั่งการให้ กยท.เขต และ กยท.จังหวัดในภาคใต้เร่งสำรวจสวนยางที่เกิดความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่ง กยท.มีมาตรการช่วยเหลือกรณีสวนยางประสบอุทกภัยผ่านกองทุนพัฒนายางพารา โดยมีหลักเกณฑ์ต้องเป็นสวนยางที่ถูกน้ำท่วมจนได้รับความเสียหายจนเสียสภาพสวน หรือได้รับความเสียหายในคราวเดียวกันไม่น้อยกว่า 20 ต้นต่อไร่ เกษตรกรจะได้รับเงินช่วยเหลือรายละ 3,000 บาท
นอกจากนี้ กรณีสวนปลูกแทนที่ประสบอุทกภัยซึ่งหากพบว่าเสียสภาพสวนจะให้ระงับการปลูกแทน โดยไม่เรียกเงินคืนในส่วนที่เสียหาย จากนั้นจึงอนุมัติให้การปลูกแทนใหม่ แต่ต้องไม่เกินเนื้อที่ที่ระงับการปลูกแทน กรณีไม่เสียสภาพสวน ต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น (พืชหลัก) อายุไม่เกิน 2 ปีครึ่ง ได้รับความเสียหายหนัก ไม่สามารถค้ำยันได้ ต้องปลูกซ่อมเท่านั้น กยท.จะช่วยเหลือเป็นเงินค่าปลูกซ่อมครั้งเดียว อัตราต้นละ 45 บาท ส่วนต้นยางหรือไม้ยืนต้นชนิดอื่น ที่เสียหายเอนล้ม แต่สามารถตัดแต่งและค้ำยันให้ตรงได้ กยท. จะช่วยเหลือค่าค้ำยันครั้งเดียว โดยต้นยางที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่งขึ้นไป แต่ไม่เกิน 3 ปี อัตราต้นละ 35 บาท และต้นยางฯ อายุตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป อัตราต้นละ 110 บาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :