แหล่งข่าววงในระบุกับสำนักข่าว BBC พม่าว่า อองซานซูจี ในวัย 78 ปี มีอาการปวดฟันอย่างรุนแรง ส่งผลให้เธอไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อย่างไรก็ดี โฆษกเผด็จการทหารเมียนมากล่าวว่า อองซานซูจี มีสุขภาพที่ดี และเธอได้รับการตรวจสุขภาพจากทั้งแพทย์ทหารและพลเรือน
อองซานซูจีถูกควบคุมตัวในการทำรัฐประหารของกองทัพเมียนมา นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ทำให้เธอถูกล้มจากตำแหน่งมุขมนตรีแห่งรัฐ ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา อองซานซูจีได้รับการย้ายตัวออกจากเรือนจำ มาเป็นการกักบริเวณในบ้านย่านกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา อย่างไรก็ดี ยังคงไม่มีความแน่ชัดว่า อองซานซูจีถูกควบคุมตัวอยู่บริเวณใดในเมืองหลวง
“การปฏิเสธไม่ให้นักโทษป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลตามที่แนะนำนั้น ถือเป็นการกระทำที่ใจแข็งและโหดร้าย” อาริสกล่าวในข้อความที่ส่งถึง BBC พม่า ทั้งนี้ อาริสในวัย 46 ปี ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า แม่ของเขาอาเจียนและต้องทนกับ "อาการวิงเวียนศีรษะรุนแรง" เนื่องจากสุขภาพไม่ดี “ใครก็ตามที่มีโรคเหงือกอันเจ็บปวดจนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ ย่อมมีความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งหมด หากปฏิเสธการรักษาที่เหมาะสม”
คนสนิทใกล้ชิดมาเป็นเวลานานกับอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ระบุกับสำนักข่าว BBC พม่าว่า อองซานซูจีมีอาการโรคเหงือกเรื้อรัง และเป็นโรคความดันโลหิตต่ำ ในขณะที่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดอีกรายระบุเสริมว่า ปัญหาเกี่ยวกับเหงือกของอองซานซูจี "ย่ำแย่ลง" ทั้งนี้ แหล่งข่าวตั้งข้อสังเกตว่า อองซานซูจีได้รับอาหารอ่อนๆ เช่นเดียวกับยาชนิดวุ้น ที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดฟันของเธอ
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา (์NUG) ที่เป็นรัฐบาลลี้ภัย ซึ่งเป็นแนวร่วมของพรรคการเมืองทั้งหมดในประเทศ ได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ "กดดันเผด็จการทหาร" ให้ปฏิบัติต่อผู้ถูกคุมขังทางการเมือง อาทิ อองซานซูจี อย่างเหมาะสม ในขณะที่ผู้นำโลกจำนวนมาก เรียกร้องให้เผด็จการเมียนมาปล่อยตัวอองซานซูจีอย่างไม่มีเงื่อนไข พร้อมกับนักโทษการเมืองด้วยคนอื่นๆ อีกหลายพันคน ที่ถูกควบคุมตัวในการปราบปรามของเผด็จการเมียนมา ต่อผู้ประท้วงที่ต่อต้านการรัฐประหาร
หลังจากการรัฐประหาร เมียนมาได้เข้าสู่สงครามกลางเมืองเกือบเต็มรูปแบบ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปหลายพันคน ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาได้ปราบปรามฝ่ายต่อต้านอย่างโหดเหี้ยม ด้วยการใช้ยุทธวิธีที่โหดร้าย อาทิ การโจมตีทางอากาศ ซึ่งส่งผลให้มีพลเรือนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก นอกจากนี้ ผู้นำเผด็จการเมียนมายังถูกกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าก่ออาชญากรรมสงคราม ในขณะที่ผู้นำโลกได้ประณามการรัฐประหาร และกำหนดมาตรการคว่ำบาตรต่อนายพลและบริษัททหารของเมียนมา
อองซานซูจี ซึ่งครั้งหนึ่งเคยถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยเมียนมา ถูกควบคุมตัวหลายครั้งตลอดอาชีพทางการเมืองของเธอ ขณะที่เธอกำลังเดินหน้าการปฏิรูปประชาธิปไตย แต่ภาพลักษณ์ของเธอได้รับผลกระทบในระดับสากล ระหว่างที่เธอดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศโดยพฤตินัย ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่าเธอเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ที่ถูกกองทัพเมียนพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
วิกฤตจากการรัฐประหารของเมียนมายังเป็นประเด็นหลัก ในการอภิปรายของการประชุมสุดยอดอาเซียนที่อินโดนีเซีย ที่กำลังดำเนินอยู่ ทั้งนี้ ผู้นำกลุ่มอาเซียนได้ประณามเผด็จการทหาร จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเมียนมา ทั้งนี้ ในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ที่เมียนมาไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมอาเซียน นับตั้งแต่รัฐประหาร
ที่มา: