ไม่พบผลการค้นหา
‘ภูมิธรรม’ รมว.พาณิชย์ เผยมาตรการแก้ไขปัญหาราคา ‘ข้าวเปลือก-ข้าวสาร’ ระบุ รัฐบาลทุ่ม 5.6 หมื่นล้าน ออก 4 มาตรการพยุงราคา พร้อมช่วยดอกเบี้ยสหกรณ์-โรงสี อุดหนุนราคาเก็บเกี่ยวแก่เกษตรกร ย้ำต้องใช้เทคโนโลยีปรับเปลี่ยนการผลิต

วันที่ 21 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) พลากร พิมพะนิตย์ สส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามถึงนายกรัฐมนตรีถึงการแก้ไขปัญหาราคาจำหน่ายข้าวตกต่ำแต่ผู้บริโภคซื้อด้วยราคาสูง โดยมี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้แทน 

พลากร กล่าวว่า ปัญหาราคาข้าวเปลือกถูก แต่ในทางกลับกันข้าวสารมีราคาแพง พบว่า ราคาขายส่งข้าวเปลือกอยู่ที่ 11-12 บาท/กิโลกรัม ราคาขายส่งข้าวเหนียวใหม่อยู่ที่ 28.75 บาท/กิโลกรัม ราคาขายส่งข้าวเจ้า 30 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกข้าวเหนียวใหม่อยู่ที่ 32 บาท/กิโลกรัม และราคาขายปลีกข้าวเจ้าอยู่ที่ 35 บาท/กิโลกรัม ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมาถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 108.8 แสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตของประชาชน และเกษตรกรพุ่งสูงขึ้น 

ด้าน ภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร และรัฐบาลเพิ่งเข้ามาได้ 3 เดือน แต่ต้องเจอกับสภาพปัญหาเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติเพื่อเห็นชอบการรักษาเสถียรภาพข้าวเปลือกในปีการผลิต 2566-2567 จำนวน 4 โครงการ เพื่อให้ข้าวมีการออกสู่ตลาด 8 ล้านตัน โดยให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง หรือฝากไว้ที่สหกรณ์ 1-5 เดือน เพื่อทำให้พยุง และรักษาดุลยภาพราคาข้าว ซึ่งเกษตรกรที่มียุ้งฉางจะมอบให้ตันละ 1,500 บาท 

ส่วนเกษตรกรไม่มียุ้งฉางไปฝากที่สหกรณ์การเกษตรซึ่งเป็นตัวแทนเกษตร ซึ่งทางเกษตรกรจะได้ 500 บาท/ตัน และสหกรณ์จะได้ 1,000 บาท/ตัน และรัฐบาลจะช่วยดูดซับในเรื่องค่าดอกเบี้ย 3.5% และสหกรณ์จ่ายเอง 1% อีกทั้งโรงสีที่สามารถมีเงื่อนไขเก็บสต็อกสินค้า รัฐบาลช่วยค่าดอกเบี้ย 4% ในเวลา 2-6 เดือน และใช้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) เพื่อช่วยหมุนเวียนเกษตรกร รวมถึงช่วยค่าเก็บเกี่ยว หรือค่าบริหารจัดการแก่เกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 20 ไร่ รวม 20,000 บาท 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกังวลใจว่า ในการดูแลเกษตรกรต้องนำเงินมาช่วยอุดหนุนเป็นอย่างมาก การแก้ปัญหานี้จะถาวรมากยิ่งขึ้นคือ ปรับปรุงการผลิตให้ใช้เทคโนโลยี และเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการวิจัย ให้ปริมาณการผลิตมีจำนวนมากขึ้น จึงชวนให้เกษตรกรมาร่วมลงทะเบียนเพื่อปรับเปลี่ยนการผลิต หาตลาดให้ เปลี่ยนแปลงทางด้านนวัตกรรม 

ภูมิธรรม กล่าวอีกว่า หากดำเนินการตามนี้แล้วได้ผลไม่ถึงเป้าหมาย ในส่วนของรัฐบาลจะยังคงช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป แต่จะมีการจัดการตรงนี้น้อยลง โดยรัฐบาลได้ใช้เงินประมาณ 56,000 ล้าน หรือรวมทั้งกระบวนการ 67,703.03 บาท ทั้งหมดคือการดูแลข้าว 8 ล้านตัว เพื่อสามารถสร้างความสมดุล ดูดซับ และพยุงราคาข้าวต่อไป 

ในส่วนของราคาขายส่ง-ขายปลีกราคาข้าว ภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตรการกำกับดูแลเรื่องนี้ โดยประเด็นแรกเรากำกับดูแลการรับซื้อข้าวเปลือกของผู้ประกอบการโรงสีอย่างใกล้ชิด พบว่า ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มีการคิดค่าชั่งน้ำหนักกับเกษตรกร พบว่า เรียกเก็บค่าชั่งน้ำหนักจากเกษตรกร ได้นำไปสู่การฟ้องร้องคดี ศาลได้มีการพิพากษาถึงที่สุดแล้ว 3 ราย 

โดย ระหว่างอยู่ในดำเนินการ พาณิชย์จังหวัดมีความเข้มข้นในการลงไปตรวจสอบ และติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่เพียงแค่ข้าว แต่ยังเป็นพืชผักผลไม้อื่นๆ ประสานกับทูตพาณิชย์ใน 66 ประเทศ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหากับพี่น้องประชาชน 

ทั้งนี้ ภูมิธรรม เปิดเผยว่า ได้มีการติดตามกำกับดูแลเครื่องชั่งตวงวัด 1,735 เครื่องทั่วประเทศ ซึ่งมีการตรวจวัดค่าความชื้นให้แก่ชาวนามีความยุติธรรมหรือไม่ ซึ่งทางกระทรวงพาณิชย์ได้พยายามที่จะใช้กำลังทั้งหมดให้เกิดความยุติธรรมมากที่สุด