ไม่พบผลการค้นหา
คณะก้าวหน้า ผุดแคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น' เริ่ม 1 เม.ย.นี้ ดันแก้ร่างแก้รัฐธรรมนูญหมวด 14

เมื่อวันที่ 14 มี.ค 2565 ที่ อาคารอนาคตใหม่ คณะก้าวหน้า นำโดย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมกันแถลงข่าวเปิดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หมวด 14 ว่าด้วยการกระจายอำนาจท้องถิ่น พร้อมเชิญชวนประชาชนร่วมเข้าชื่อ ภายใต้แคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” โดยจะเริ่มทำการล่ารายชื่อตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป ผ่านช่องทางออนไลน์และออฟไลน์

ปิยบุตร กล่าวถึงหลักการและเหตุผลของการเสนอแก้ไข้กฎหมายว่า จริงอยู่ที่ประเทศไทยกำลังจะมีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเกิดขึ้นในเดือนพ.ค. แต่การเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าประเทศไทยมีการกระจายอำนาจไปได้สมบูรณ์หรือไม่ แต่ต้องพิจารณาถึงความเป็นอิสระของค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดทำบริการสาธารณะ รวมทั้งรายได้และการใช้จ่ายงบประมาณ ความเป็นอิสระทางการคลัง โดยส่วนกลางจะทำได้เพียงกำกับดูแลท้องถิ่นเท่านั้น ไม่ใช่การบังคับบัญชา หรือการแทรกแซง

เพราะในตอนนี้ ยังพบปัญหาที่ว่า อำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่นมีความซ้ำช้อนกับราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ในสายตาของรัฐบาลคสช.ที่สืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน ยังคงมององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสมือนเป็นแขนขา เป็นกลไกรัฐบาลของพวกเขา ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น 

คณะก้าวหน้า เล็งเห็นถึงความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจ จึงได้ดำเนินการให้การสนับสนุนผู้สมัครในการเลือกตั้งท้องถิ่นหลากหลายระดับ เช่นเดียวกับการเสนอแก้ไขกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจด้วย จึงเป็นที่มาของแคมเปญรณรงค์ล่ารายชื่อร่วมกับภาคประชาชน โดยให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อยกเลิกบทบัญญัติในหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่มาตรา 249 ถึงมาตรา 254 และเพิ่มบทบัญญัติหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น มาตรา 249 ถึงมาตรา 254/6 ขึ้นมาใหม่ โดยนำเนื้อหาที่ดีๆจากรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เข้ามา พร้อมเพิ่มเติมบทบัญญัติใหม่ๆที่เป็นการแก้ไขปัญหาการกระจายอำนาจที่เรื้อรังมาเกือบ 3 ทศวรรษ

ในรายละเอียด ร่างดังกล่าวเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย ดังนี้ 

1. บัญญัติรับรองหลักความเป็นอิสระของท้องถิ่น เเละหลักกการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น 

2. บัญญัติให้ท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ทั่วไปในการจัดทำบริการสาธารณะ เว้นบางเรื่องที่ทำไม่ได้ เช่น ความมั่นคงในราชอาณาจักร ระบบเงินตรา การต่างประเทศ เเละการป้องกันประเทศ โดยสามารถร้องขอให้ส่วนกลางและภูมิภาคเข้ามาช่วย 

3. บทบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรเรื่องอำนาจหน้าที่มีความชัดเจน เพื่อทลายความซ้ำซ้อนกับการทำงานของราชการส่วนกลางเเละภูมิภาค 

4. กำหนดระยะเวลาถ่ายโอนเเผนงานจากส่วนกลางมาท้องถิ่นให้มีความชัดเจน

5. ผู้บริหารเเละสมาชิกท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้งทุกกรณี 

6. เพิ่มสัดส่วนรายรับ ให้ท้องถิ่นและส่วนกลาง ได้รับร้อยละ 50:50 เท่ากัน จากเดิมอยู่ที่ 35:65 เท่านั้น 

7. เพิ่มความคล่องตัวและความยืดหยุ่นให้กับท้องถิ่นในการคิดค้นรูปแบบและช่องทางในการหารายได้ รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะด้วยตนเอง

8. รักษาความเป็นอิสระของท้องถิ่นในการทำงานอย่างเเท้จริง ให้ส่วนกลางเเละภูมิภาคมีอำนาจเพียงการกำกับดูเเล ไม่ให้เกิดการแทรกแซงหรือบังคับบัญชา

9. สนับสนุนการมีส่วนร่วมพลเมืองในการตรวจสอบการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น อาทิ ด้วยการจัดตั้งสภาพลเมือง เป็นต้น

10. ให้ คณะรัฐมนตรี วาง Road Map เเละจัดทำประชามติ ถามประชาชนว่า ควรยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคได้แล้วหรือไม่

ทั้งนี้ ในส่วนของขั้นตอนในการดำเนินการนั้น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้ารายชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ระบุว่า จะต้องนำร่างดังกล่าว พร้อมรายชื่อผู้เชิญชวนจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ก่อนเริ่มต้นล่ารายชื่อได้