สำนักข่าว Tass ของรัสเซีย รายงานว่า เครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล เจ้าของโรงไฟฟ้านอริลสก์-ไทเมียร์ เอนเนอร์จี ซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้น้ำมันดีเซลกว่า 21,000 ตัน รั่วไหลลงแม่น้ำและผืนดินราว 180,000 ตารางเมตร บริเวณเมืองนอริลสก์ เขตสหพันธ์ไซบีเรียของรัสเซีย ประกาศว่าบริษัทจะกำจัดดินปนเปื้อนคราบน้ำมันรั่วให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ส.ค.2563
พร้อมกันนี้ 'เซอร์เก ดียาเชงโก' รองประธานบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล แถลงเพิ่มเติมว่า บริษัทจะดำเนินการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งนี้ และจะเผยแผนฟื้นฟูเยียวยาสภาพแวดล้อมบริเวณที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ระบบนิเวศของพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว BBC ของอังกฤษรายงานอ้างอิง 'อเล็กซานเดอร์ ยุสส์' ผู้ว่าการดินแดนครัสโนยาสก์ เขตสหพันธ์ไซบีเรีย ระบุว่าน้ำมันรั่วได้ลามไปถึงทะเลสาบแปสิโน แหล่งที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์น้ำจำนวนมาก จึงต้องเร่งป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันแพร่ลงแม่น้ำแปสินา ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเลคารา ส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอาร์กติก
นอกเหนือจากการใช้ทุ่นลอยกั้นคราบน้ำมันในทะเลสาบไม่ให้ลอยไปยังแม่น้ำสาขา 'ดมิทรี โคบิลคิน' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติรัสเซีย ยังสั่งห้ามเผาเพื่อกำจัดคราบน้ำมัน เพราะปริมาณน้ำมันที่รั่วไหลนั้นมีมากเกินไป การเผาคราบน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ส่วน 'โอเลก มิตวัล' อดีตรองผู้อำนวยการองค์กรสิ่งแวดล้อมของรัสเซีย Rosprirodnadzor ประเมินว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อดินแดนในแถบอาร์กติก อาจต้องใช้เวลานานราว 5 ถึง 10 ปี และใช้งบประมาณกว่า 100,000 ล้านรูเบิล (ราว 45,685 ล้านบาท) ในการทำความสะอาดและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม
เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลในไซบีเรียครั้งนี้ ถูกสื่ออเมริกัน The New York Times เรียกว่า 'ภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อม' ครั้งใหญ่ โดยเปรียบเทียบว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงเทียบเท่าเหตุน้ำมันรั่วไหลในรัฐอลาสกาของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2532 ซึ่งเกิดจากแทงก์น้ำมันของบริษัทเอ็กซอน-วาลเดซ ชำรุด ทำให้น้ำมันกว่า 150,000 บาร์เรลไหลลงแม่น้ำและผืนดินบริเวณรอบที่เกิดเหตุ
ขณะที่เครือบริษัทนอริลสก์ นิกเกิล ผู้ผลิตนิกเกิลและพาลาเดียมรายใหญ่ของรัสเซีย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโรงไฟฟ้าต้นตอน้ำมันรั่วในเมืองนอริลสก์ครั้งนี้ ระบุว่า 'ชั้นดินเยือกแข็งคงตัว' หรือ permafrost ซึ่งเป็นที่ตั้งของแทงก์กักเก็บน้ำมันของโรงไฟฟ้าละลายเร็วกว่าปกติ เป็นเหตุให้แทงก์ทรุดและน้ำมันปริมาณมหาศาลรั่วไหลทั่วพื้นที่อย่างรวดเร็วเมื่อ 29 พ.ค.2563 และองค์กรสิ่งแวดล้อมคาดว่า การที่ชั้นดินเยือกแข็งฯ ละลายเร็วกว่าปกติในช่วงฤดูใบไม้ผลิ อาจเกี่ยวข้องกับ 'ภาวะโลกร้อน'
ส่วนผู้บริหารโรงไฟฟ้าในเมืองนอริลสก์จะถูกเบิกตัวขึ้นศาลในวันที่ 31 ก.ค. เพื่อรับฟังข้อกล่าวหาในคดีอาญา เนื่องจากทำให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะ แต่สื่อต่างประเทศระบุว่า ต้นตออาจอยู่ที่บริษัทแม่ 'นอริลสก์ นิกเกิล' ซึ่งมีประวัติเกี่ยวพันกับเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2559 ทั้งยังเกิดเหตุที่เมืองนอริลสก์เช่นกัน สะท้อนว่าบริษัทมีความหละหลวมในการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
นอกจากนี้ เหตุการณ์ล่าสุด ทางบริษัทยังไม่แจ้งเรื่องแทงก์น้ำมันทรุดจนเกิดเหตุรั่วไหลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทราบโดยทันที แต่เวลาผ่านไปแล้ว 2 วันจึงแจ้งเรื่อง ทำให้การรับมือและป้องกันต่างๆ ล่าช้า แม้ 'วลาดิเมียร์ ปูติน' ประธานาธิบดีรัสเซีย จะประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2563 ก็ยังไม่สามารถควบคุมเหตุน้ำมันรั่วไหลไม่ให้ลามไปยังบริเวณใกล้เคียงได้ทันเวลา
อย่างไรก็ตาม Financial Times รายงานว่า 'วลาดิเมียร์ โปตานิน' ประธานบริหารนอริลสก์ นิกเกิล แถลงโต้แย้งข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเมินว่าเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งนี้เป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของรัสเซีย โดยโปตานินระบุว่า น้ำมันรั่วยังไม่ลอยไปถึงทะเลสาบแปสิโน อ้างอิงจากภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งบ่งชี้ว่าคราบน้ำมันยังอยู่ในแม่น้ำอัมบาร์นายาเท่านั้น
ส่วนประธานาธิบดีปูตินได้แถลงผ่านสื่อเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยืนยันว่า นอริลสก์ นิกเกิล ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจ่ายค่าทำความสะอาดและการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ เพราะเหตุแทงก์น้ำมันทรุดตัวสามารถป้องกันได้หากบริษัทตรวจสอบมาตรฐานและซ่อมบำรุงเป็นประจำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: