ไม่พบผลการค้นหา
เงื่อนไขอะไรทำให้ คฝ. ระเบิดอารมณ์ใส่ผู้ชุมนุม แล้วอนาคตที่เขาอยากเห็นเหมือนหรือต่างไปจากผู้ชุมชุมอย่างไร

ในหน้าที่อายุการงาน นับว่ายังสด-เขาเริ่มรับราชการช่วงรัฐบาลเผด็จการ คสช. สังกัดงานกองบัญชาการตำรวจนครบาล รับผิดชอบงานประจำสถานีตำรวจในเมือง

แต่พอกลางปี 2563 เขาถูกเรียกตัวเข้ามาประจำการเป็นชุดควบคุมฝูงชน มีหน้าที่เผชิญหน้ากับม็อบเป็นหลัก

ในสายตาของตำรวจหนุ่ม การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของ 'ราษฎร' ในช่วงที่ผ่านมา ถือว่าได้ใจตำรวจรุ่นใหม่จำนวนมาก หลายคนเห็นด้วยกับข้อเสนอทั้ง 3 ข้อ ตั้งแต่ขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไปจนถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในฐานะคนหน้างานที่อยู่คนละฝั่งกับผู้ชุมนุม เขามองว่า “การออกมาชุมนุมเป็นเรื่องปกติ มันคือการเรียกร้องสิทธิของประชาชน"

สำหรับเขา จากที่ไม่เคยมีความรุนแรงใดๆ ถึงเวลาม็อบยุติกลับบ้าน และวันหลังมาใหม่ เขาเห็นว่่าตอนนี้กลุ่มวัยรุ่นตั้งใจมาปะทะ และข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมเริ่มจางหายไป

“ตำรวจหน้างานจะรู้ว่าแก๊งนี้มาอีกแล้ว พวกนี้ไม่ได้มาปราศรัย ไม่ได้มาฟังแกนนำพูด แต่มาเพื่อจุดประสงค์อื่น เรามองออกหมดใครเป็นใคร แต่งตัวลักษณะนี้ มากันเป็นกลุ่มๆ"

เขาสารภาพตรงไปตรงมาว่า เมื่อต้องเผชิญหน้ารู้เจตนาว่าม็อบต้องการปะทะ เจ้าหน้าที่ก็ต้องตอบโต้ไปเป็นตามนโยบายของผู้บังคับบัญชา

"บางกลุ่มแค่เห็นเรา เขาก็ขวางข้าวของเข้ามาเลย เหมือนเราเป็นโล่มนุษย์ มันพูดยาก เหนื่อย หลายคนไม่ได้เต็มใจมาคุมม็อบอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม เขาสะท้อนถึงทิศทางคำสั่งที่เปลี่ยนแปลงจากผู้บังคัญบังคับว่า ระยะเวลาที่สั่งให้เข้าสลาย คำสั่งจะออกมาเร็วกว่าปีที่ผ่านมา

แน่นอนว่าขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์หน้างานของผู้ออกคำสั่ง ตัวเขาเองก็บอกไม่ได้ว่าเงื่อนไขที่ผู้บังคับบัญชาประเมินมีอะไรบ้าง

"ทุกสิ่งทุกอย่างมันเร็ว แป๊บๆ สั่งให้สลาย ผมแค่ทำตามหน้าที่" เขายืนยัน

เป้าของม็อบ ไม่ทำเนียบ ก็กรมทหารราบที่ 1 หรือพระบรมมหาราชวัง สำหรับตำรวจไม่มีทางที่จะยออมให้ม็อบบุกถึง

“ผู้บังคับบัญชาเน้นย้ำเสมอว่าอย่าปล่อยให้เข้าไปได้ เจ้าหน้าที่จะปิดกั้นพื้นที่เขตพระราชฐานอย่างแน่นหนา มันเป็นคำสั่งมาอย่างเด็ดขาดว่าห้ามผ่าน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”


'ดินแดง' แดนเผชิญหน้า

“ที่ดินแดง นอกจากผู้ชุมนุมทั่วไป จะมีแก๊งเด็กๆ วัยรุ่นแยกตัวมาออกมา ใส่เสื้อลายสก็อต ใส่หมวกกันน็อกเต็มใบ แค่เห็นตำรวจก็ขับมอเตอร์ไซค์เข้ามาเพื่อจะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทั้งขวางปาข้าวของ ยิงลูกแก้ว ลูกหิน ระเบิดเพลิง ระเบิดปิงปอง”

เขาเชื่อว่าคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่หน้างานจะมองไม่เห็นว่าจริงๆ สิ่งเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับม็อบ แต่จะมีกลุ่มที่แยกตัวออกมาเพื่อปะทะโดยเฉพาะ ซึ่งเขายืนยันว่าตำรวจมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้มีการลุกล้ำเข้ามาในพื้นที่เท่านั้น 

แต่ถ้าให้มองจากฝั่่งม็อบ เขาเห็นด้วยกับมุมมองของผู้ชุมนุมที่บอกว่าปีก่อน คฝ. เห็นม็อบล้มแล้วชะลอให้วิ่งต่อไปได้ โดยไม่มีความตั้งใจจับกุม แต่ปีนี้การเข้าสลายของเจ้าหน้าที่ คฝ. ดุเดือดมากขึ้น

เขายืนยันว่าแม้ว่าหน้างานไม่มีหลักฐานการสั่งการจากผู้บังคับบัญชาให้ใช้ความรุนแรงได้เต็มที่ ไม่มีคำสั่งจัดหนัก แต่ก็อีกนั่นแหละ ตำรวจร้อยคน ร้อยความคิด บางคนห้ามเพื่อนไม่ให้ตีผู้ชุมนุม แต่บางคนก็มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์สูง นี้คือข้อเท็จจริง

“คฝ. บางคนก็ทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ แต่เราทำได้แค่ไปห้าม พี่ทำเด็กมันแรงไปไหม แต่ยอมรับว่าเอาไม่อยู่"

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ภาวะเกรี้ยวกราดของชุดควบคุมฝูงชนเมื่อเข้าสลายก็ไม่ได้เกิดจากการปะทะเท่านั้น แต่่ความเครียดและเหนื่อยล้าสะสมต่อเนื่องบังคับให้เกรี้ยวกราด 

“งาน คฝ. มันเหนื่อย ไม่มีใครอยากจะมา งานที่ สน. ก็มากอยู่แล้ว อย่างผมเข้าเวรสี่โมงเย็นเลิกเที่ยงคืน พอตีหนึ่งมีคำสั่งว่าต้องไปคุมม็อบพรุ่งนี้ เข้าตีสี่ นอนก็ไม่ได้นอน กว่าจะจบห้าทุ่ม

"ตำรวจที่ไปคุมม็อบมีทั้งหนุ่ม ไปถึงวัย 30-40 ทุกคนก็ล้า แถมผู้บังคับบัญชากดดันอีก พวกคุณปลวกเปียกอ่อนแอ แต่เขาไม่รู้ว่าวันหนึ่งเราทำอะไรบ้าง”

นอกจากนี้เขายังชี้เป้าด้วยว่า ภาพดุเดือดของชุดควบคุมฝูงชนนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลับสับเปลี่ยนกำลัง

หลักใหญ่ใจความคือมีการนำตำรวจตะเวนชายแดนเข้ามาที่หน้างานด้วย ในฐานะตำรวจเมือง บางครั้งเขามองว่าการกระทำของสายตะเวนชายแดนเกินกว่าเหตุไปมาก และความใกล้ชิดเข้าอกเข้าใจประชาชนแทบไม่มี

“ผมอยู่ สน. เรารู้จักคนในพื้นที่เป็นยังไง คนเมือง เด็กวัยรุ่นเป็นแบบไหน เพราะนี่บ้านเรา เรารู้ว่าคนในบ้านเป็นยังไง แต่ผู้บังคับบัญชาอาจจะมองว่าถ้าเอาพวกตำรวจ สน. อย่างเดียวมันจะรู้กัน พอเหนื่อยแล้วก็พอ แต่ถ้าเป็น ตชด. เขาจะทำเต็มที่”

ในส่วนของการฝึกอบรม สังคมคลางใจว่าถูกฝึกมาแบบไหน อะไรทำให้ความดุเดือดถูกนำมาลงกับผู้ชุมนุม เขาระบุว่าเจ้าหน้าที่ทุกคนล้วนผ่านหลักสูตรฝึกฝนเกี่ยวกับม็อบและการควบคุมฝูงชนมาก่อนหน้าอยู่แล้ว ถูกฝึกกันตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนนายสิบ เรียนจบพอบรรจุก็จะมีการฝึกซ้อมกันตลอด แต่ความเข้มข้นของการฝึกแบบ ตชด. จะมีมากกว่า

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่่อเจ้าหน้าที่ได้อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ความดุดันก็จะมากตามไปด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือหลังเคอร์ฟิว

"ใครก็ตามอยู่ในพื้นที่หลังเวลาเคอร์ฟิว ผู้บังคับบัญชามองว่าการกระทำนั้นขัดกฎหมาย"


ตำรวจเป็นเป้าของผู้ชุมนุมทุกยุคทุกสมัย 

เมื่อถอดบทเรียนว่าทำไมตำรวจกลายเป็นเป้าของกลุ่มวัยรุ่น เขาเห็นว่าผู้ชุมนุมไม่ว่าจะกลุ่มไหนก็ต้องการขับไล่รัฐบาล แต่เมื่อทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ เป้าต่อมาคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ถึงตอนนี้ผมยังไม่เข้าใจว่าทำไมม็อบแค่เห็นพวกผมตั้งแนวกัน หิน ลูกแก้ว ขวดโซดา ก็ลอยมาเต็มไปหมด เขาอาจจะโกรธแค้นรัฐบาล แล้วไม่รู้ว่าจะลงตรงไหนดี พอเห็นตำรวจอยู่ใกล้ ก็ใส่เลย

"ไม่ใช่ว่าเราออกมาจะใส่ผู้ชุมนุมเลย ถ้าทำแบบนั้นมันผิดกฎหมาย พอเขาเปิดก่อนก็ทำให้เราต้องยิงแก๊สน้ำตา กระสุนยางออกไป”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าการบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ถือว่าเล็กน้อย ที่ผ่านมาตัวเขาเองโดนแค่ลูกแก้ว ก้อนหิน แต่ก็ยังมีโล่

"มีโดนบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ถึงขั้นมือหักแขนหัก ส่วนพลุไฟมีแค่แรงอัด แต่ถ้าโดนเข้าเต็มๆ อาจจะเจ็บหนัก แต่ก็ไม่ได้ทำอันตรายถึงชีวิต แต่นี่เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น เขายังไม่เคยโดนพลุใส่ตรงๆ

"กลุ่มวัยรุ่น อยากจะบอกว่ามันไม่เท่หรอกที่ออกมาทำร้ายเจ้าหน้าที่ หรือออกมาทำลายข้าวของ ไม่สนุกเลย บางคนมาตามเพื่อนเห็นเพื่อนทำ กูก็ทำตาม เห็นเพื่อนปาระเบิด กูปาบ้าง

มันมีอุทาหรณ์ อย่างน้องคนหนึ่งที่จุดปะทะยักษ์ แล้วระเบิดในมือตัวเองขาด ตำรวจอย่างผมไม่ได้อยากมีปัญหากับใครเลย คุณจะมาทำร้ายเรา เรายังเป็นห่วงคุณด้วยซ้ำ มันอันตรายจริงๆ บางคนยังเป็นเด็กอยู่เลย ควรไปทำอะไรที่มันสร้างสรรค์กว่านี้"

หนึ่งในข้อเท็จจริงที่เขาพบ คือกลุ่มที่เข้ามาอยู่ในแนวปะทะกับตำรวจทั้งที่ถูกจับหน้างาน ถูกดักจับ และตามไปจับ ไม่ได้พกพาแค่ของเบา หากแต่มีของหนักปะปนอยู่ด้วย ทั้งปืนไทยประดิษฐ์ ระเบิดทำมือ ดินปืนอัดในท่อ PVC ระเบิดขวด ระเบิดเพลิง

เขาเล่าต่อว่าสิ่งที่เขาเจอกับตัวเองพร้อมทีมคือมีเด็กช่างที่ขับรถมาจอดฝั่งตรงข้ามประมาณ 10 คัน สักพักมีเด็กคนหนึ่งลงมาจากรถ เขาเดินออกมาให้เพื่อนถ่ายคลิปวีดิโอ จากนั้นก็หันมาชูนิ้วกลางและเปิดฉากด่า

"ไอ้เหี้ยตำรวจ ควย พ่อมึงตาย มึงเก๋ามากเหรอวะ ไอ้สัส อะไรวะ ผมยังไม่ได้ทำอะไรเขาเลย เหมือนเรากลายเป็นเครื่องมือให้คุณได้ทำเท่"

"ตำรวจ ไม่ว่าจะยุคไหน รุ่น กปปส. ก็มีพี่ๆ ที่เขาเป็น คฝ. ตอนนี้เหมือนกัน เขาดูแลปกป้องฝ่ายประชาธิปไตย แล้วก็ถูกฝั่ง กปปส. จัดหนัก แต่พอยุคนี้ฝ่ายประชาธิปไตยออกมาขับไล่รัฐบาล หน้าที่เราก็ต้องออกมาทำงานตามหน้าที่เหมือนเดิม คือไม่ว่าจะยุคไหน เราก็ต้องยืนอยู่ตรงข้ามกับผู้ชุมนุมอยู่ดี มันเลือกไม่ได้จริงๆ"


เห็นร่วม: รัฐบาลคือตัวปัญหา 

เขาเล่าให้เห็นถึงความคิดของตำรวจ โดยเฉพาะกลุ่มตำรววจรุ่นใหม่ ที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมืองในเวลานี้ว่า หากนับเพียงปัญหาเฉพาะหน้า อย่างการจัดการปัญหาโควิด-19 แทบจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเห็นร่วมกันว่าต้นต่อของปัญหาทั้งหมดอยู่ที่รัฐบาล แต่อาจจะมีบางคนที่ยังสนับสนุนรัฐบาลอยู่ ซึ่งเป็นส่วนน้อย

เขาชี้ว่า ตำรวจเองก็ประสบปัญหาโรคระบาดเหมือนกับประชาชน เพราะวัคซีนที่ได้รับจากรัฐบาลเป็นวัคซีนที่ไม่มีคุณภาพ และมีโอกาสติดเชื้อสูง

“ปกติเราทำงาน เราเจอคนเยอะอยู่แล้ว ออกตรวจก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะเจอคน พอถูกเรียกมาเป็น คฝ. มันคือการเอาคนที่ออกตรวจพื้นที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยงมารวมตัวกัน และทุกครั้งที่ไปคุมม็อบ จะมีตำรวจติดโควิดกลับมาทุกครั้ง กลับบ้านไปก็ไม่รู้จะเป็นเราไหมที่ติดโควิด”

เขาชี้ว่า ตำรวจรุ่นใหม่เองก็อยากเห็นบ้านเมืองพัฒนา ไม่อยากให้จมปรักอยู่กับเผด็จการ อยากเห็นความเจริญ รัฐมีความเป็นประชาธิปไตย มีนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน หากประชาชนอยู่ดีกินดี ทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปเอง


ผู้ชุมนุมขอหันกระบอกปืนทำลายระบบ 

ต่อข้อเรียกร้องหลายครั้งของผู้ชุมนุม ที่ต้องการให้ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้ทำหน้าที่ให้สมชื่อ

“วันที่เสียงปืนดัง ขอท่านจงหันกระบอกปืนขึ้นฟ้าอย่าหันหาประชาชน” เป็นสิ่งที่นายตำรวจทั้งที่อยู่หน้างาน และติดตามข่าวสารต่างรับรู้

แต่เอาเข้าจริงแล้ว เขาเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตำรวจจะเลือกทำตามหัวใจของตัวเอง เพราะการเป็นตำรวจต่างผูกรัดตัวเองไว้กับสวัสดิการของรัฐ ระบบงานของตำรวจไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้สิทธิเสรีภาพ แบบตำรวจสหรัฐฯ ที่หันโล่ปกป้องผู้ชุมนุมในการประท้วงกรณีเหยียดสีผิว 

“มันไม่ได้มีอะไรการันตีได้เลยว่าการที่เราจะยืดอก เดินออกจากแถว ไปอยู่ฝั่งคุณ แล้วเราจะปลอดภัย เรื่องแบบนี้จะส่งผลกระทบต่อพวกเรามาก และเราคาดเดาไม่ได้ว่ามันจะมาในลักษณะใด เป็นความกลัวของพวกเราด้วย เพราะบ้านเราไม่เหมือนบ้านเขา”

“ตำรวจจะหันปืนกระสุนจริงใส่ประชาชน ไม่มีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะให้ยืดอกออกมาฝั่งคุณ กล้าพูดอย่างเต็มปากมันยากจริงๆ เพราะทุกวันนี้แค่ตำรวจโพสต์โซเชียลว่าเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของม็อบก็โดนติดตามเป็นรายบุคคลเลย เราเป็นข้าราชการเงินเดือนเราก็ดูแลคนในครอบครัว ทุกอย่างมันพัวพันไปหมด”

อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่า พื้นที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์กลายเป็นพื้นที่ซึ่งมีนัยทางการเมือง เพราะพื้นที่นี้ถูกโอนย้ายเป็นหน่วยราชการในพระองค์ เป็นเขตพระฐาน นอกจากนี้ยังเป็นภาพแทนเชิงสัญลักษณ์ของกองทัพ และสำคัญไม่แพ้กันคือเป็นบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

การไปทำกิจกรรมบริเวณริมถนนด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 เป็นพื้นที่สำคัญของการเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และทุกครั้งที่มีความพยายามจะไปก็จบลงที่การสลายการชุมนุม จนทำให้ผู้คนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า หากไม่มีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาปิดกั้น หรือนำกำลังเจ้าหน้าที่ออกมา ทุกอย่างก็จะดำเนินไปตามปกติ 

เขาพูดออกมาเต็มเสียง “เราเข้าใจอยู่แล้วว่าคุณต้องการอะไร เราก็ต้องการเหมือนกัน”

แต่เมื่อถึงเวลาหน้างาน ความเป็นตำรวจกับความเป็นผู้ชุมนุม ต่างทำให้แต่ละคนยืนอยูกันคนละบทบาทหน้าที่ และหน้าที่ของตำรวจคือ การเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย เมื่อกฎหมายไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมใกล้เขตพระราขฐาน บวกคำสั่งจากนายอย่างเด็ดขาด ตำรวจที่อยู่หน้างานก็ต้องปฏิบัติตามนั้น 

“อย่างที่เห็นมา การเข้าไปเจรจาในม็อบที่มีแกนนำ เช่น ขอให้ไปจุดอื่นๆ หรือเดินผ่านเส้นทางอื่นได้ไหม ผมก็ไม่รู้จะตอบยังไง มันก็ใจเขาใจเรา เราเองก็รู้ว่าเขาต้องการอะไร ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไร แต่กฎหมายมันกำหนดไว้แบบนี้ ก็ไปไม่ได้ ยิ่งเป็นเขตพระราชฐาน มันก็ยิ่งมีความผิดเพิ่มเข้ามาอีก”

แต่เมื่อถามต่อไปว่า ฐานะที่เป็นตำรวจ เคยตั้งคำถามต่อกฎหมายหรือไม่ว่า มีความชอบธรรมในการนำมาบังคับใช้หรือไม่ เขาย้ำว่า ตำรววจหลายคนรู้ว่ากฎหมายบางฉบับไม่ชอบธรรม แต่ก็ไม่รู้ว่าด้วยเสียงตำรวจตัวเล็กคนหนึ่ง จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ 

“เราไม่ใช่คนที่จะไปเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้ เราเป็นเพียงคนที่ต้องทำตามตัวบทกฎหมาย เราไม่มีสิทธิจะไปพูดอะไร จะไปเถียงนายว่ากฎหมายตัวนี้มันเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ก็ทำไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนที่ด้วยคนออกกฎหมาย”


ทางออก

ในมุมของตำรวจแบบเขา คำตอบไม่ได้อยู่ที่การปะทะ แจ่การเจรจากันสำหรับทุกฝ่ายต่างหากเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น หากวันนี้เขาคือผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจหน้าที่ตัดสินเพื่อแก้ไขปัญหานี้

สิ่งแรกที่เขาจะทำคือการเปิดพื้นที่พูดคุย ความต้องการของประชาชนคืออะไร กรอบกฎหมายวางไว้ขนาดไหน เรื่องเหล่านี้ควรหาทางออกร่วมกัน

"มันควรจบที่โต๊ะเจรจา ไม่ใช่จบที่แยกดินแดง"

เขาย้ำว่าเรื่องแบบนี้ต้องหาทางออกร่วมกัน แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ตำรวจแม้จะมีความคิดความเชื่อแบบใดแบบหนึ่ง ก็ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายไหน

ผมเองก็ไม่ใช่คนยศใหญ่โตอะไร แค่มองจากที่ไปเห็นมา"