พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกปี 2563 เผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ อาทิ ภัยแล้ง สงครามการค้า ค่าเงินบาท โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกหยุดชะงักจากมาตรการล็อกดาวน์อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบต่อรายได้ธุรกิจและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อีกทั้งพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป การรักษาระยะห่างเพื่อป้องกันโรคระบาด และระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
สินค้าส่งออกที่เคยสร้างรายได้ให้ประเทศและเป็นสินค้าดาวรุ่งเดิมหลายรายการได้รับผลกระทบ ซึ่งโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ในเทคโนโลยีดั้งเดิม ไม่สอดคล้องกับทิศทางในอนาคต เป็นเรื่องท้าทายที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือขับเคลื่อนพัฒนาให้ประเทศยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขัน รวมทั้งสร้างความสะดวกในการทำธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในยุคหลังโควิด
อย่างไรก็ดี ในช่วงนี้ที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ไทยก็ยังสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งสำคัญที่มีอยู่ พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสจากการมีสินค้าส่งออกที่หลากหลาย และผู้ประกอบการไทยมีความยืดหยุ่นปรับตัวได้รวดเร็ว จากการมีพื้นฐานวัตถุดิบและห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสามารถปรับกำลังการผลิต และผลิตสินค้ากลุ่มใหม่ที่สอดคล้องกับวิถี new normal ได้
สนค. ได้ศึกษาวิเคราะห์สินค้าส่งออกของไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกใน 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย. 2563) สูงกว่าค่าเฉลี่ยสามปีที่ผ่านมา (2560 – 2562) สะท้อนให้เห็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขัน และเติบโตสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส โดยพบว่าสินค้าส่งออกที่มีการเติบโตสวนกระแสโลก และเป็นสินค้าที่ตอบรับกระแสนิวนอร์มอล แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 อาหาร และอาหารแปรรูป สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อาหารสด อาหารกระป๋อง เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และน้ำผลไม้
กลุ่มที่ 2 สินค้าป้องกันการติดเชื้อและการแพร่ระบาด ได้แก่ ถุงมือยาง สบู่
กลุ่มที่ 3 สินค้าเครื่องใช้ภายในบ้านและสำหรับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัว เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเฟอร์นิเจอร์
กลุ่มที่ 4 ยานพาหนะ คือ รถจักรยานยนต์ (ขยายตัว 17.85% ขยายตัวในจีน ญี่ปุ่น เบลเยียม)
นอกจากนี้ ยังเห็นแนวโน้มภาพรวมการส่งออกของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีทิศทางดีขึ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ได้ดีในหลายประเทศ ส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการปิดสถานที่และควบคุมการเดินทาง อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทยหดตัวน้อยลงตามลำดับ แสดงถึงศักยภาพในการปรับตัวของธุรกิจทั้งฝั่งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาค การส่งออกของไทยยังหดตัวน้อยกว่าหลายประเทศ ทั้งนี้ คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2563 จะหดตัวไม่เกิน -7% และจะค่อยๆ ฟื้นตัวในปี 2564 ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: