เมื่อเวลา 16.30 น. วันที่ 9 ก.พ. 2566 ที่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (The Honourable Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย
โดยผู้นำไทยและมาเลเซียได้ร่วมตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ ณ บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายกรัฐมนตรีเชิญนายกรัฐมนตรีมาเลเซียไปยังห้องสีงาช้างด้านนอก เพื่อลงนามในสมุดเยี่ยมและชมของที่ระลึกที่ทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กัน ก่อนหารือข้อราชการเต็มคณะ ในเวลา 17.20 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยฝ่ายไทยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วม ดังนี้
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติที่ได้ให้การต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และคณะผู้แทน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนภาคพื้นทวีป สะท้อนความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์โดยธรรมชาติ (Natural Strategic Partners) และการเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดในครอบครัวอาเซียน โดยการเยือนในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองฝ่ายจะได้หารือเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน และผลักดันโครงการที่คั่งค้างให้มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีชื่นชมวิสัยทัศน์ “มาเลเซีย มาดานี” (Malaysia Madani) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลไทย และเป็นพื้นฐานที่สำคัญในความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งนี้ รัฐบาลไทยพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น ยินดีที่ไทยและมาเลเซียมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่แน่นแฟ้นในทุกมิติ โดยไทยถือเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของมาเลเซีย นายกรัฐมนตรีมาเลเซียชื่นชมความมุ่งมั่นของนายกรัฐมนตรีในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือระหว่างกันให้มีก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งมาเลเซียพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างเต็มที่เช่นกัน
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียชื่นชมศักยภาพของไทยในด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร และการแสวงหาความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนจากนานาประเทศ โดยมาเลเซียพร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีจากไทย และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไป
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้หารือร่วมกันในประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ ดังนี้
การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่โอกาสทางเศรษฐกิจร่วมกัน โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องวางรากฐานพื้นที่บริเวณชายแดนให้เป็น “เสาหลักแห่งความมั่งคั่งร่วมกัน” (pillar of prosperity) พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และ 4 รัฐภาคเหนือของมาเลเซีย ให้มีความสงบสุข มั่งคั่ง มีความเจริญ เป็น “แผ่นดินทอง” (golden land) ที่แท้จริง โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายควรเร่งรัดโครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดนที่สำคัญให้มีความคืบหน้า ได้แก่ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนนเชื่อมด่านสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย และการก่อสร้างสะพานสุไหงโก-ลก – รันเตาปันยัง แห่งที่ 2 ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้าข้ามแดน กระตุ้นเศรษฐกิจไทยและมาเลเซีย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ของทั้งสองประเทศ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมร่วมมือกับฝ่ายไทยอย่างใกล้ชิด โดยมาเลเซียจะเร่งดำเนินการลดอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้โครงการเหล่านี้มีความคืบหน้าและประชาชนของทั้งสองประเทศจะได้ใช้ประโยชน์โดยเร็ว
สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้และความมั่นคงในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นวาระแห่งชาติ โดยเน้นการสร้างความมั่นคงควบคู่กับการพัฒนาอย่างรอบด้าน บนพื้นฐานของการเคารพความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ตามหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และพยายามดำเนินการใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวที่เข้มแข็ง พร้อมทั้งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงสนับสนุนกิจกรรมแลกเปลี่ยนระดับเยาวชนระหว่างทั้งสองประเทศ
2) ความมั่นคง โดยมีเป้ามายหลักในการยุติความรุนแรงในพื้นที่
และ 3) การพูดคุยเพื่อสันติสุข โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง เพื่อผลประโยชน์ของทั้งสองประเทศ ทางด้านนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมมีความร่วมมือกับฝ่ายไทย ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลและบูรณาการด้านข่าวกรองระหว่างกัน ตลอดจนการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับประสิทธิภาพความมั่นคงชายแดน ซึ่งจะช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน อันเป็นรากฐานสำคัญในการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธี
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการค้ามูลค่า 30,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 โดยให้ความสำคัญกับการขจัดหรือลดอุปสรรคทางการค้าการลงทุนทั้งระบบ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากกลไกที่มีอยู่ร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายยังมีศักยภาพที่จะขยายความร่วมมือระหว่างกันได้อีกมาก โดยเฉพาะด้านความมั่นคงพลังงาน และการซื้อขายพลังงาน รวมถึงความร่วมมือในสาขาใหม่ที่มีศักยภาพ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งทางนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมขยายความร่วมมือกับฝ่ายไทยมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการส่งออกน้ำมันปาล์ม
สำหรับประเด็นการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket ของไทย นายกรัฐมนตรีขอให้มาเลเซียสนับสนุนไทยในการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังไม่เคยได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานในระดับ Expo ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้ทุกประเทศได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม นำเสนอจุดแข็งของตัวเอง ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และความร่วมมือเพื่อสร้างอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียพร้อมให้การสนับสนุนไทยอย่างเต็มที่ โดยเห็นว่าจังหวัดภูเก็ตของไทยมีความพร้อมในทุกด้าน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีโอกาสเดินทางมาท่องเที่ยวหลายครั้ง เปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาอย่างเปิดกว้างและสร้างสรรค์ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องกันในการกระชับความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับผลกระทบจากความท้าทายในสถานการณ์โลก
ผู้นำไทย-มาเลเซีย แถลงมุ่งพัฒนาพื้นที่ชายแดนร่วม สร้างความสุขสงบ
จากนั้น เวลา 18.20 น. ที่ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม
โดย อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีมาเลเซียถือเป็นมิตรที่เข้าใจไทย มีส่วนสำคัญในการสานสัมพันธ์ไทย-มาเลเซียให้แนบแน่น
ในระหว่างการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและมุมมองครอบคลุมในทุกมิติ เพื่อความมั่นคงและก้าวหน้าให้แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน เห็นพ้องถึงการผสานความร่วมมือ ผลักดันความเชื่อมโยงทุกมิติเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนไทยและมาเลเซีย ให้เป็นเสาหลักแห่งความมั่งคั่ง เพื่อให้พื้นที่ชายแดนร่วมเป็น “แผ่นดินทอง” ที่มีความสุขสงบ ซึ่งมีผลลัพธ์สำคัญ ดังนี้
ด้านการส่งเสริมการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ ทั้งสองฝ่ายมีเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะสนับสนุนการไปมาหาสู่และการค้าขายระหว่างไทยและมาเลเซีย โดยเฉพาะการสร้างถนนเชื่อมต่อระหว่างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ของไทยกับด่านศุลกากรบูกิตกายูฮิตัมของมาเลเซีย ตลอดจนการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งใหม่ รวมถึงการเชื่อมโยงที่ครอบคลุม ทั้งในกรอบทวิภาคีและไตรภาคีอย่าง IMT-GT ที่ช่วยให้การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืน และสามารถยังประโยชน์ถึงประชาชนได้ทุกระดับถึงรากหญ้า
ด้านการยกระดับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจอย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่า การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับมาเลเซียยังมีศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาได้อีกมาก จึงต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อเพิ่มมูลค่าและพลวัตของการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการค้า คือ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568
ด้านการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ ทั้งสองฝ่ายหารือถึงแนวทางการเชื่อมโยงระหว่างเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และรัฐชายแดนภาคเหนือของมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนระยะยาว และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในสาขาที่มีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น
ด้านการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชน โดยเฉพาะด้านสังคมและวัฒนธรรม ผ่านความร่วมมือ ด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งชาวมาเลเซีย ถือเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มใหญ่ที่สุดที่มาท่องเที่ยวไทยในปี 2565 และคนไทยจำนวนไม่น้อยต่างชื่นชอบที่จะไปท่องเที่ยวที่มาเลเซีย
ด้านการร่วมมือกันในระดับภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ เพื่อรักษาสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนมุมมองของการพัฒนาในภูมิภาคและในระดับโลก พร้อมย้ำความมุ่งมั่นในการรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนและการมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และสังคมของโลก
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรียืนยันเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการทำงานร่วมกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และรัฐบาลมาเลเซียอย่างเต็มที่ในทุกระดับ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในสาขาที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ มาเลเซียมาดานี (Malaysia Mandani) ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียที่มุ่งขับเคลื่อนประเทศสู่ความก้าวหน้าอย่างโปร่งใสและมีธรรมาภิบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเช่นกัน รวมทั้งได้สนับสนุนให้เอกชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ช่วยดูแลนักลงทุนไทยในมาเลเซียเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างกัน
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลง 4 ฉบับ ได้แก่
1. บันทึกความเข้าใจระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ Tenaga Nasional Berhad (TNB) ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของข้อเสนอในการเสริมสร้างศักยภาพการเชื่อมต่อโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าระหว่างคาบสมุทรมาเลเซียและไทย
2. บันทึกความเข้าใจระหว่าง TNB Renewable Sdn. Bhd. (“TRe”) และ Planet Utility Co., Ltd. (“Planet Utility”) เกี่ยวกับข้อเสนอในการร่วมมือสำรวจศักยภาพของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนและการผลิตพลังงานในประเทศไทย
3. บันทึกความตกลงระหว่าง TNB Power Generation Sdn. Bhd. (“GenCo”) และ B Grimm Power Public Co. Ltd. (“B Grimm”) ซึ่งเกี่ยวกับข้อเสนอในการแสวงหาโอกาสในการทำงานร่วมกัน การมีส่วนร่วม และการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
4. บันทึกความเข้าใจระหว่าง Malaysia Digital Economy Corporation SDN. BHD. (MDEC) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa)