ไม่พบผลการค้นหา
หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ เผยบรรยากาศการพูดคุยกับกลุ่ม BRN เป็นไปด้วยดี รับพิจารณาข้อเสนอ "มหาเธร์" ให้ชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษ

เมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงผลความคืบหน้าการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ได้พบปะพูดคุยร่วมกับคณะผู้แทนของกลุ่มขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี หรือบีอาร์เอ็น (BRN) ที่นำโดยนายอานัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย มีเจตจำนงร่วมกันที่ต้องการแก้ปัญหาสันติสุขชายแดนภาคใต้โดยใช้สันติวิธี

โดยบรรยากาศในการพูดคุยนัดแรกเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีท่าทีที่ดีต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย คณะพูดคุยจะใช้ความพยายาม ผลักดันให้ขบวนการสันติสุข นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปประธรรม และพัฒนาการเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

การพูดคุยจะใช้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดการตกผลึกทางความคิดและกระบวนการที่จะเป็นข้อตกลงกัน อย่างไรก็ตามยอมรับว่า การพูดคุยต้องมีอุปสรรคระหว่างทางอย่างที่เคยผ่านมา

มั่นใจคุยตัวจริง

พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า ทีมงานมั่นใจว่าได้พูดคุยกับแกนนำตัวจริง และยังอยากให้กลุ่มอื่นๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งในวันข้างหน้ามีความเป็นไปได้

หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ยืนยันว่าการพูดคุยครั้งนี้ไม่ใช่การนับหนึ่งใหม่ เพราะการพูดคุยครั้งแรกก็พูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นมาลาปาตานี และกลับมาเป็น BRN อีกครั้ง ซึ่งการพูดคุยครั้งแรกเป็นการสร้างความคุ้นเคย กำหนดกรอบที่จะนำไปสู่การพูดคุยต่อไป โดยการส่งตัวแทนเข้ามาร่วมพูดคุยกับไทยนั้น ไม่ใช่ฝั่งมาเลเซียเป็นผู้กำหนดอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับความต้องการของไทยด้วย

พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า ปัจจัยที่เลือกพูดคุยกับกลุ่ม BRN ก่อน เนื่องจากต้องการพูดคุยกับกลุ่มที่มีอิทธิพลในพื้นที่มากที่สุด แต่ยอมรับว่าการพูดคุยครั้งนี้ เป็นการพูดคุยแบบแยกกลุ่ม

ส่วนความเชื่อมโยงของการทำงานในพื้นที่ได้มอบหมายให้กองทัพภาค 4 รวบรวมข้อมูลให้กับคณะพูดคุยนำไปวิเคราะห์ อย่างไรก็ตามต้องมีความรวมความเห็นจากทุกภาคส่วน ประชาชน พรรคการเมือง เพื่อนำมาสู่การตกผลึกข้อมูล

เปิดใจรับข้อเสนอมหาเธร์

ข้อเสนอของ มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียให้ไทยเปิดใจรับข้อเสนอในการให้ 3 จังหวัดชายแดนใต้เป็นเขตปกครองพิเศษอยู่ในเงื่อนไขที่สามารถพูดคุยกันได้หรือไม่

พล.อ.วัลลภ กล่าวว่า เราเปิดใจรับฟังและจะนำมาพิจารณา ทั้งนี้ถือเป็นบรรยากาศที่ดีทีมีการพูดคุยระหว่างกัน ยืนยันว่าหลักการของเรายังคงเดิม ซึ่งการเริ่มต้นพูดคุยครั้งนี้ แสดงว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมจะยอมรับข้อคิดเห็นข้อแตกต่างของกันและกัน ถ้าเรารักษาบรรยากาศอย่างนี้ไปได้ ก็เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี โดยการพูดคุยครั้งต่อไป จะมีขึ้นในต้นเดือนมีนาคม 2563 นี้