ไม่พบผลการค้นหา
ดร.วีรพงษ์พร้อมด้วยนักการเงิน อดีตคนแบงก์ชาติร่วมลงชื่อส่งจม.เปิดผนึกถึง "นายกฯ-ผู้ว่า ธปท." แจงเหตุผลยุติใช้ 4 แสนล้านบาท รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน ผิดหลักการธนาคารกลาง ทำเสียภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ ฟาก ธปท.ย้ำดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ใช้เป็นเครื่องมือรองรับปัญหาในอนาคต

นายวีรพงษ์ รามางกูร นักเศรษฐศาสตร์และอดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมลงชื่อจดหมายเปิดผนึก ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยุติการดำเนินการเรื่องการใช้วงเงิน 400,000 ล้านบาท รับซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน เนื่องจากมองว่าจะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคต แต่ควรให้นโยบายสถาบันการเงินภายใต้การกำกับของรัฐบาล ดำเนินการได้ และธปท. ทำหน้าที่จัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้ ไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเองโดยตรง อีกทั้งไม่ต้องแก้กฎหมาย

ทั้งนี้ จดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 8 เมษายน 2563 ส่งถึง นายกรัฐมนตรี สำเนาถึงผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย มีเนื้อหาระบุดังนี้

พวกข้าพเจ้า ซึ่งเป็นอดีตประธานคณะกรรมการ อดีตผู้บริหารและอดีตพนักงานระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย ใคร่ขอกราบเรียนเกี่ยวกับร่างพระราชกำหนดที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อออกพระราชกำหนด 2 ฉบับ ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเข้าไปจัดสรรเงินจำนวน 5 แสนล้านบาท เพื่อช่วยสภาพคล่องของวิสาหกิจเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อม โดยจัดสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนผ่านสถาบันการเงินต่างๆ กับให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเข้าซื้อตราสารทางการเงินที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 2563 และ 2564 ที่ไม่สามารถหาแหล่งเงินที่จะไถ่ถอน หรือออกตราสารหนี้ใหม่เพื่อไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนได้ ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถไถ่ถอนหรือซื้อตราสารของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ (investment grade) ลงทุนได้ในวงเงินไม่เกิน 4 แสนล้านบาท

พวกข้าพเจ้าเห็นว่ากรณีหลังนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ควรกระทำโดยตรง เพราะสามารถกระทำผ่านสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่น ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และหรือธนาคารอาคารสงเคราะห์ เพื่อรักษาหลักการที่ธนาคารกลางควรเป็นเฉพาะนายธนาคารของรัฐบาล และเป็นแหล่งเงินสุดท้ายของธนาคารพาณิชย์ (Lender of the last resort) และอาจจะขยายไปถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลด้วยเท่านั้น ถ้าจำเป็น

การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อขายตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนโดยตรง โดยการแก้กฎหมาย จะเป็นการเปิดช่องให้มีการใช้ธนาคารกลางอย่างธนาคารแห่งประเทศไทยไปในทางเอื้อต่อเอกชนบางรายอย่างไม่โปร่งใสได้ในอนาคต เพราะกฎหมายอนุญาตให้ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดุลยพินิจในการให้ความอนุเคราะห์แก่บางรายและไม่ให้แก่บางราย โดยอ้างการจัดลำดับความน่าเชื่อถือของสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และเมื่อมีปัญหาเกิดการฟ้องร้อง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะต้องทำการฟ้องร้องบริษัทเอกชน ซึ่งจะทำให้เสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางได้ 

ดังนั้นแทนที่จะแก้กฎหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนที่จะครบกำหนดไถ่ถอน หรือตราสารหนี้ที่ออกใหม่โดยตรง รัฐบาลควรให้นโยบายสถาบันการเงินของรัฐบาล เช่นธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์และหรือธนาคารเพื่อการเกษตรดำเนินการได้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยจะจัดสรรสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้และไม่ต้องเข้าไปดำเนินการเองโดยตรง ไม่ต้องแก้กฎหมายเพราะหลักการของกฎหมายเดิมดีอยู่แล้ว

สำหรับผู้ร่วมลงชื่อ เบื้องต้น อาทิ นายวีรพงษ์ รางมางกูร , นายโอฬาร ไชยประวัติ, นายศิริ การเจริญดี , นายธีรชัย ภูวนารถนรานุบาล , นายเสรี จินตนเสรี , นายดุสิต เต็งนิยม , นายกิติพร ลิมปิสวัสดิ์ นายจิตติพันธุ์ สุขกิจ , นายสุพจน์ สัตยธรรม , นายปราโมทย์ ชัยสาม น.ส.ศิริพรรณ บุศยศิริ , ม.ร.ว.นพเกตมณี เต็งนิยม , นายพิสิษฐ์ วีระสมบูรณ์ศิลป์ , น.ส.อรพรรณ สมบัติยานุชิต , นายสมชาย เสตกรณุกูล

ธปท.แจงออก พ.ร.ก.รับซื้อหุ้นกู้เอกชน เพื่อเป็นเครื่องมือรองรับปัญหาในอนาคต

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ขอขอบคุณสำหรับความห่วงใยที่อดีตผู้บริหาร ธปท. ได้ยกขึ้นในเรื่องการออก พ.ร.ก. การสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) รวมทั้งเสนอแนะให้ใช้กลไกของธนาคารของรัฐในการตัดสินใจเรื่องการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน 

ธปท. ขอเรียนว่า การออกมาตรการในครั้งนี้เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินเพราะตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีขนาดถึง 3.6 ล้านล้านบาท หรือ กว่าร้อยละ 20 ของ GDP เป็นแหล่งระดมเงินทุนและแหล่งลงทุนที่สำคัญ ถ้าตลาดการเงินส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหา ก็อาจจะกระทบเป็นลูกโซ่ไปสู่ระบบการเงินโดยรวมและภาคเศรษฐกิจจริง

นอกจากนี้ การรอให้เกิดปัญหาขึ้นก่อนแล้วจึงเข้าไปแก้ไขย่อมมีต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจการเงินสูงกว่าการเข้าไปดูแลก่อนที่ปัญหาจะลุกลาม จึงต้องเตรียมเครื่องมือไว้ล่วงหน้า และการตัดสินใจที่ต้องการความรวดเร็วเร่งด่วนอาจจะทำให้ไม่สามารถพึ่งพากลไกการทำงานของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีพันธกิจอื่นอยู่แล้ว ในขณะที่ผู้ออกตราสารหนี้ภาคเอกชน ก็มักจะไม่ใช่ลูกค้าที่ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐมีความคุ้นเคยอยู่เดิม

การออกพระราชกำหนดฯ ให้อำนาจ ธปท. ดำเนินการเรื่อง BFS ไม่ได้เป็นการแก้กฎหมาย ธปท. แต่เป็นการให้อำนาจการดำเนินการชั่วคราวแก่ ธปท. ในการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดย พ.ร.ก. มีอายุ 5 ปี และไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการที่วางใน พ.ร.บ. ธปท. 2551 แต่ประการใด

ย้ำมีโครงสร้างกำกับดูแล พร้อมดำเนินการด้วยความระมัดระวัง

ความกังวลเรื่องการแทรกแซงการทำงานของ ธปท. เรื่องความเสี่ยงที่จะถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มธุรกิจ หรือแม้กระทั่งไม่มั่นใจในความชำนาญของพนักงาน ธปท. ล้วนเป็นประเด็นที่ ธปท. คำนึงถึงและระมัดระวังมากที่สุด ในการวางแนวทางการทำงานของกองทุน BSF จึงจัดโครงสร้างการกำกับดูแล กระบวนการทำงานและการบริหารความเสี่ยงกองทุน BSF อย่างรอบคอบ รัดกุม และโปร่งใส โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สำนักงาน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ธนาคารพาณิชย์ และผู้เชี่ยวชาญอิสระ รวมทั้งการใช้มืออาชีพมาร่วมบริหารจัดการกองทุน โดยธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในฐานะผู้ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนด้วยเช่นกัน

ที่สำคัญ ธปท. ยังคงยึดหลักการของการเป็นผู้ให้สภาพคล่องแหล่งสุดท้าย (last resort) ที่ให้กู้แก่บริษัทที่มีผลดำเนินธุรกิจดีต่อเนื่อง (viable) เพื่อเป็นแหล่งเงินสำรองระยะสั้น โดยบริษัทต้องมีแผนระดมทุนในระยะยาว และมีธนาคารพาณิชย์เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินความเป็นไปได้ของธุรกิจและร่วมปล่อยสินเชื่อใหม่ โดยผู้ออกหุ้นกู้จะต้องจัดการระดมทุนในตลาด หรือจากระบบสถาบันการเงินมาให้เป็นส่วนใหญ่ ก่อนจะมาขอสภาพคล่องจากกองทุน BSF ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าตลาด โดย BSF จะมีแนวทางที่ชัดเจนหากบริษัทผู้ออกถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating downgrade) ในภายหลัง

ธปท. ยังคงยึดมั่นในหลักการดูแลเศรษฐกิจการเงินให้มีเสถียรภาพ ไม่ใช่การดูแลนักลงทุนรายบุคคล แต่เป็นการดูแลระบบการเงินของประเทศ บรรดาธนาคารกลางในหลายประเทศ ก็ได้เข้ามาดูแลส่วนต่างๆ ของระบบการเงินที่อาจจะเป็นข้อต่อสำคัญในการสร้างความเสี่ยงเชิงระบบไปสู่ภาคส่วนอื่นๆ ของระบบการเงิน และสู่ภาคเศรษฐกิจจริงในที่สุด การทำงานของ ธปท. ได้หารือและรับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ จึงขอให้เชื่อมั่นว่าข้อกังวลต่างๆ ของท่านอดีตผู้บริหารเป็นหลักการทำงานที่ ธปท. ยึดมั่นมาโดยตลอด และ ยินดีรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อนำมาปรับปรุงกฎเกณฑ์ให้ชัดเจนต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :