ไม่พบผลการค้นหา
ดูความคิดของคนโบราณ ว่ามองปัสสาวะว่าอย่างไร ตั้งแต่ความเชื่อเมื่อฉี่กระเด็น กินฉี่แล้วท้อง ไปจนถึงฉี่ศักดิ์สิทธิ์

ไม่น่าเชื่อเลยว่า ในปี 2562 เราจะมาเถียงกันเรื่อง "ฉี่คนกินได้หรือไม่ได้" ทั้งที่จริงๆ แล้ว การรักษาสุขภาพ หรือรักษาอาการเจ็บป่วยก็ทำได้หลายอย่าง ไม่ต้องพึ่งพาฉี่อย่างครั้งพุทธกาลตามที่อ้างกัน แต่เอาเถอะความเชื่อใครความเชื่อมัน แต่ไม่ต้องไปบังคับ หว่านล้อม หรือหลอกให้ใครเขากินเหมือนอย่างที่เป็นข่าว อันนั้นไม่น่ารัก เพราะถ้าเจ้าตัวคนกินเขารู้อาจมีอ้วก ทางที่ดีใครใคร่กินก็กินไปเองเถอะ

เท่าที่สังเกตดูคนที่มักแนะนำชาวบ้านให้กินฉี่ มักมาพร้อมกับความเชื่อเรื่องสุขภาพทางเลือกแนวธรรมะ นั่นก็เพราะมีการอ้างกันว่าพระพุทธเจ้าท่านบัญญัติไว้ให้พระภิกษุทำยาจากฉี่ตัวเองไว้กินเวลาอาพาธ ที่อ้างกันอย่างแพร่หลายก็คือ "มหาธรรมสมาทานสูตร" และ "ปูติมุตตเภสัช" ซึ่งล่าสุด “หลวงพี่พระมหาไพรวัลย์ วรรณบุตร” ท่านก็ได้แถลงไขผ่าน FACEBOOK ไปแล้วว่าคำว่า "มูตร" หรือ "ฉี่" ที่ระบุถึงในพระไตรปิฎกเป็น "ฉี่โค เยี่ยวโค ไม่มีส่วนไหนที่ระบุถึงฉี่ของมนุษย์สักที่เดียว" ดังนั้น เราจะขอข้ามเรื่องฉี่ๆ ในพระไตรปิฎกไป แต่จะขอนำเสนอ "ทัศนะเกี่ยวกับฉี่คน" ในสมัยโบราณกันหน่อยว่า เขามองกันยังไง


"ฉี่กระเด็น" เป็นอัปมงคล

ในหนังสือ "สวัสดิรักษา" ที่ระบุถึงวิธีการปฏิบัติตนของเจ้าชายหน่อเนื้อเชื้อกษัตริ��์ กำหนดเรื่องการ "อึ-ฉี่" อยู่ระดับหนึ่ง เช่น 

"อนึ่งนั่งบังคนอย่ายลต่ำ    อย่าบ้วนน้ำลายพาเสียราศี

ผินพักตร์สู่อุดรประจิมดี        ไม่ต้องผีคุณไสยพ้นภัยพาล"

หรือ

"อนึ่งว่าถ้าจะลงสรงสนาน  ทุกห้วยธารเถื่อนถ้ำและน้ำไหล

พระพักตร์นั้นผันล่องตามคลองไป    ห้ามมิให้ถ่ายอุจาร์ปัสสาวะ"

ที่ต้องกำหนดไว้ก็เพราะการอึ-ฉี่ ที่ไม่ถูกไม่ควร จะทำให้เสียสิริมงคลนั่นเอง ซึ่งเรื่องเสียสิริมงคลจากฉี่ มีเล่าไว้ใน "พระนล" เช่นกัน

ขอเท้าความก่อนว่า "พระนล" เป็นนิทานแทรกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะ บ้านเราเอามาแต่งมีทั้งฉบับคำหลวง และคำฉันท์ แต่เนื้อเรื่องคงความเดียวกัน คือ พระนางทมยันตี เลือกคู่สยุมพรเป็น "พระนล" บังเอิญงานเลือกคู่นี้มีระดับบิ๊กไปชุมชนคัดตัวกันเยอะ ทั้งกษัตริย์ และเทวดา เมื่อพระนางทมยันตีเลือกพระนลมนุษย์ธรรมดาๆ เทวดาบางองค์ก็เลยอิจฉา คอยจ้องทำลายพระนลอยู่ตลอดๆ

ในที่สุดพระนลก็พลาด กระทำการเสียศิริมงคลอย่างมากด้วยการฉี่แล้วไม่ได้ล้างเท้าให้สะอาด (ประมาณว่าฉี่กระเด็น หรือฉี่รดโดนเท้าตัวเอง) แล้วไปเข้าเฝ้าเทพเจ้าบนสวรรค์ เรียกว่าขึ้นสวรรค์แบบไม่สะอาดผุดผ่องก็ว่าได้

"สาเหตุไซ้รคือจอมภพ ไถ่มูตร์จบสำเร็จไซ้ร ได้เสวยนํ้ามนต์ดื่ม

แต่พะเอินลืมล้างบาท ยามลิลาศไปบวงสวรรค์"

(พระนลคำหลวง พระราชนิพนธ์ใน ร.6)

เมื่อพลาดฉี่ไม่ล้างเท้าเข้าแบบนี้ เทวดาขี้อิจฉาเลยได้โอกาสสิงสู่ ทำให้พระนลกลายเป็นผีพนันบ้าสกา เป็นที่มาของการเสียบ้านเสียเมือง และได้ทุกขเวทนาต่างๆ นานา เสียคนเพราะฉี่ก็ว่าได้


“ฉี่” ลงทัณฑ์

มีเรื่องน่าสนใจอยู่นิดหน่อยเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องฉี่ในสมัยโบราณ โดยเฉพาะฉี่ของบุรุษเพศว่าเป็นเหตุให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ และการท้องที่ว่านั้นก็เป็นการปฏิสนธิแบบผ่านระบบย่อยอาหารอีกต่างหาก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ กินฉี่ผู้ชายเข้าไปแล้วท้องนั่นเอง

เช่น ใน ตำนานท้าวแสนปม เล่าว่านายแสนปมไปฉี่ที่ต้นมะเขือตลอด แล้วก็เก็บผลมะเขือขายไปด้วย ด้วยพลังแห่งฉี่นั้น ทำให้เจ้าหญิงแห่งเมืองไตรตรึงษ์ที่ได้กินมะเขือตั้งครรภ์ซะเฉยๆ ส่วน “สุบินชาดก” ก็เล่าว่า “กินนรีตนหนึ่งมักมากไปด้วยราคฤดี เห็นเพื่อนกันเขามีสามีใคร่จะมีบ้าง จึงเที่ยวไปในนานาประเทศเพื่อจะหาผัว” จากนั้นก็ไป “ดื่มน้ำสุกะ (น้ำกาม) อันไหลออกกับน้ำมูตรของพระฤษีนางก็มีครรภ์”

จริงๆ มีเรื่องตำนานการกินฉี่แล้วท้องอีกหลายเรื่อง แต่ขอละไว้ก่อนไม่งั้นจะยาว ขอเข้าเรื่อง “ฉี่” กับการ “ลงทัณฑ์” เสียก่อน อย่างที่อ่านมาแล้วข้างต้นจะเห็นว่าทัศนะของคนโบราณที่มีต่อ “ฉี่” ไม่ใช่เรื่องดีนัก มองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เสียศรี หรือสิริมงคลได้ ดังนั้น ฉี่จึงมักถูกกล่าวถึงในฐานะ “เครื่องลงทัณฑ์” สำหรับบุคคลที่ต่ำทราม หรือทำกรรมอย่างร้ายกาจ เรามักได้ยินกันบ่อยๆ ก็คือ “เปรต”

ใน “มหาเปสการเปตวัตถุ” เล่าว่าหญิงคนหนึ่งตอนยังเป็นๆ ชอบด่าสามีขณะทำบุญทำทาน ตายมาเป็นเปรตจึงต้อง “กินคูถ (ขี้) มูตร เลือด และหนอง อันไม่สะอาดตลอดกาลทุกเมื่อ”


"ฉี่พิเศษ” มาจากสิ่งพิเศษ และพิเศษที่สุดคือไม่ต้องฉี่เลย

แม้สื่อถึงเรื่องบาปและการลงโทษ แต่ฉี่ก็เป็นเครื่องบอกเล่า "ความมีบุญ" ได้เหมือนกัน เพราะฉี่ของอะไรบางอย่างที่มีบุญญาธิการจะไม่เหมือนฉี่ธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป

เช่น ถ้าเป็นฉี่-อึ สิ่งมีชีวิตธรรมดาจะ "เหม็น" อย่างที่เรียกว่ามนุษย์ขี้เหม็นนั่นแหละ ส่วนฉี่-อึของสิ่งใดๆ ที่มีความพิเศษ อยู่ในสภาวะเทพๆ ก็จะมีความ "หอม" อันเป็นความเหนือธรรมชาติ ยกตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ใน "คำฉันท์คชกรรมประยูร" ของ "หลวงราชวังเมือง" แต่งในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ บอกว่าช้างมงคล "คันธหัตถี" กายสีไม้กฤษณา มี "สิ่งมูตรแลมูลตัวหอม" (ถ้าเป็นคนฉี่หอม คงอาจหมายถึงคนที่เป็นโรค MSUD โรคทางพันธุกรรมที่ร่างกายไม่สามารถย่อยสลายโปรตีนบางชนิด ทำให้กลิ่นฉี่คล้ายกับเมเปิ้ลไซรัป)

หรือบางครั้งฉี่ของผู้มีบุญก็ทรงพลัง โดยใน "ตำนานพระแก้วมรกต" พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 4 เล่าว่า พระเจ้าอนุรุทธราชาธิราช แห่งพุกามประเทศ กริ้วพระเจ้านารายณ์สุริยวงศ์กรุงอินทปัตถ์มหานคร ที่ไม่ยอมส่งคืน "พระแก้วมรกต" ครั้นจะฆ่าคู่กรณีทิ้งก็รู้สึกว่าตัวเองมาสายธรรมแล้ว เลยจะสั่งสอนให้เกรงกลัวแบบเบาะๆ ว่าแล้วก็เสด็จเข้าไปในโรงช้างภายในพระราชวังพระเจ้านารายณ์สุริยวงศ์ แล้วถ่ายพระบังคนเบาใส่เสาตะลุงหินผูกช้าง ด้วยฤทธิ์เดชแห่งพระบังคนเบานั้นก็กัดเสาหินจนขาดล้มลง

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่แสดงให้เห็นว่า “ฉี่พิเศษ” จะต้องมาจากสิ่งพิเศษๆ แต่ถ้าให้พิเศษไปมากกว่านั้น หรือที่เรียกว่า “มีบุญขั้นสุด” ก็คือ การไม่ต้องฉี่-อึ อีกเลย

โดยในหนังสือไตรภูมิพระร่วง บรรยายไว้ว่า พระพรหมใน “โสฬสพรหม” หรือพรหมทั้ง 16 ชั้น รัศมีจะรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาในสวรรค์ชั้นฉกามาพจร ทุกองค์จะประทับนิ่งในปราสาททองหรือปราสาทแก้ว ทุกอย่างอยู่ในสภาวะทิพย์ ดังนั้น การหายใจเข้าออก การกินอาหาร รวมไปถึงการอุจจาระปัสสาวะ จะไม่บังเกิดแก่พรหมเหล่านี้เลย

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog