ไม่พบผลการค้นหา
เก็บประเด็นวงเสวนา “การรับมือโควิด-19 ฉบับสังคมนิยม” ใจ อึ๊งภากรณ์ ชี้การแพร่ระบาดของไวรัสเกิดจากวิกฤติของระบบทุนนิยม เชื่อเปลี่ยนรัฐบาล-สร้างรัฐสวัสดิการไม่เพียงพอ ต้องสร้างสังคมใหม่ด้วย ด้านษัษฐรัมย์ ย้ำการเยียวยาเป็นสิทธิ ไม่ใช่การสงเคราะห์ แนะเก็บภาษีคนมั่งคั่งใช้สร้างรัฐสวัสดิการ

เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘รัฐสวัสดิการเป็นไปได้’ จัดวงเสวนาหัวข้อ “การรับมือโควิด-19 ฉบับสังคมนิยม” ซึ่งเป็นการเสวนาออนไลน์ โดยมี ใจ อึ๊งภากรณ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมวงเสวนาด้วย

ใจ อึ๊งภากรณ์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ภาพรวมของปัญหาโควิด-19 อย่างกรณีในประเทศไทยมีผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือ ส่งผลให้การทำงานของคนในอาชีพต่างๆ เริ่มไม่มั่นคง และคนที่ไม่มีความมั่นคงอยู่แล้วก็ประสบภาวะยากลำบาก ขณะที่มาตรการต่างๆ ของรัฐเองก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดอย่างเพียงพอ นอกจากนี้สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย อินเดีย สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งประเทศแถบยุโรปคือ โควิด-19 ได้เข้าไปเปิดให้เห็นความเหลื่อมล้ำของแต่ละประเทศ

ใจ ยกตัวอย่างประเทศแถบยุโรปว่า หากศึกษารายละเอียดตัวเลขผู้เสียชีวิต จะพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่คือ คนจน และในจำนวนคนจนที่เสียชีวิตเหล่านี้ ส่วนใหญ่ผู้ที่มีเชื้อชาติ สีผิว แตกต่างจากคนพื้นเมือง ขณะที่ชีวิตปกติของคนเหล่านี้ที่อพยพเข้าไปทำงานในยุโรป จะทำงานประเภทที่มีความเสี่ยงสูง เช่นเดียวกับประเทศไทยในเวลานี้ แรงอพยพจากประเทศเพื่อนบ้านจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สุด และปัญหาสำคัญคือ คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ เขากล่าวต่อไปถึง ปัญหาทางจิตใจอันเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาด ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับผู้สูงอายุ แต่พบเห็นได้ในกลุ่มวัยรุ่นอย่างนักศึกษาด้วย เฉพาะคนที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านโดยไม่รู้ว่า อนาคตจะเป็นอย่างไร


โควิด-19 คือ วิกฤติของระบบทุนนิยม

ใจ กล่าวถึงประเด็นปัญหาสำคัญต่อว่า โควิด-19 คือ วิกฤติของระบบทุนนิยม เขาให้คำอธิบายต่อว่า ระบบทุนนิยมนั้นส่งผลต่อชนบท ทำให้เกิดการขยายกิจกรรมของมนุษย์ ขณะเดียวระบบทุนนิยมทำให้มีการเคลื่อนไหวระหว่างชนบท กับเมืองมากขึ้น และสภาพแอดอัดในเมืองก็ทำให้เกิดวิกฤติโรคระบาดนี้ขึ้น จนองค์กรอนามัยโลกยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 นี้ไม่ใช่วิกฤติสุดท้าย และในอนาคตจะวิกฤติอื่นๆ จากระบาดเกิดขึ้นอีก

เขากล่าวต่อว่า หากประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในช่วงเวลานี้น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ใจ ยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของตัวเองว่า การเข้ามาอยู่ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการ ทำให้ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ แต่คนที่อยู่ในประเทศไทยหลายคนเวลานี้กำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก

“ถ้ามีรัฐสวัสดิการ สภาพวันต่อวันจะดีกว่าปัจจุบัน แต่แค่นี้ก็ไม่เพียงพอ เพราะทุนนิยมมันสร้างวิกฤตินี้ขึ้นมา และเป็นวิกฤติที่ซ้ำเติมกับอีก 2 วิกฤติ คือ การลดลงของอัตรากำไรที่เราเห็นในระบบทุนนิยมทั่วโลก ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นระบบเศรษฐกิจแบบซ่อมบี้ คือ ล้มไปแล้วกลับมาฟื้นตัวแบบอ่อน และก็ล้มอีกครั้ง และอีกวิกฤติหนึ่งซึ่งผูกพันกับวิกฤติโควิด-19 คือ สภาพโลกร้อน โดยทั้ง 3 วิกฤตินี้มาจากระบบทุนนิยมทั้งนั้น ฉะนั้นสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ เราจะจัดการกับทุนนิยมอย่างไร” ใจ กล่าว

ใจ ย้ำถึงประเด็นของวัคซีนโควิด-19 ว่า หากรัฐมีการวางแผน และไม่อาศัยระบบแบบบริษัทยาเอกชน เราจะสร้างวัคซีนได้เร็วขึ้น ในราคาที่ถูกขึ้น แต่ในสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เรากำลังอาศัยบริษัทยาขนาดใหญ่ และคนที่ยากจนในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการก็จะเข้าถึงวัคซีนได้ยาก

“เรื่องวัคซีนมันเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันสะท้อนลักษณะของทุนนิยม และลักษณะของรัฐบาลในประเทศต่าง เช่น รัฐบาลของโดนัล ทรัมป์ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาเคยปฏิเสธว่า โควิด-19 มีจริง และช่วงแรกรัฐบาลของเขาก็ไม่ได้มีการวางแผนเท่าที่ควร รัฐบาลอังกฤษเองก็ไม่ค่อยสนใจว่า ประชาชนจะอยู่อย่างไร แล้วก็สั่งวัคซีนมาซับคอนแทรคให้บริษัทเอกชนเป็นผู้แจกจ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ… ไม่ต้องพูดถึงประเทศอย่างอินเดีย หรือประเทศที่ยากจน หรือไทย กว่าคนจะถึงวัคชีนได้ก็ยากลำบาก ต้องใช้เวลา และในบางประเทศต้องเสียเงิน ทำให้คนรวยเท่านั้นที่จะได้ก่อน เกือบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ได้ทำให้เห็นถึงสภาพความเหลื่อมล้ำในสังคม” ใจกล่าว


แก้วิกฤตโควิด-19 เปลี่ยนรัฐบาล – สร้างรัฐสวัสดิการไม่เพียงพอ แต่ต้องสร้างสังคมใหม่

เขากล่าวถึง การทำงานของรัฐบาลไทยต่อว่า ทำงานรับมือกับการแพร่ระบาดได้แย่มาก แต่ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเนื่องจากรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเผด็จการ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องหันมาฟังเสียงประชาชนมากกว่ารัฐบาลเผด็จการทหาร และที่มากไปกว่านั้นบุคลากรในรัฐบาลชุดนี้ก็ยังได้เงินเดือนต่อไปโดยไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ฉะนั้นเวลาที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีเงินสำหรับการเยียวยา หรือสำหรับการจัดการเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการระบาด หรือใช้เพื่อสร้างสวัสดิการให้ทุกคน จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นการโกหกประชาชน

“เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเปลี่ยนรัฐบาล และไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล แต่ต้องกลับมาพิจารณากันใหม่ว่า เราจะอยู่กันอย่างไร ในสังคมแบบไหน ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการจะดีมาก และเราสามารถมีได้ สร้างขึ้นได้ในประเทศไทย แต่แค่นั้นยังไม่พอ เพราะยังไม่ได้จัดการกับวิกฤติโควิด-19 วิกติเศรษฐกิจ และวิกฤติโลกร้อน มันจะไม่แก้ปัญหาอื่นๆ อย่างเช่น การที่เรามีวัคซีนไม่พอ เราจะต้องทำมากกว่านั้น เราจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่เหมาะสมกับคนส่วนใหญ่ นี่คือโจทย์ที่สำคัญมาก” กล่าว

ใจ กล่าวต่อว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมีซีกหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวภายในประเทศ คือ กลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ชูคอนเซปสังคมนิยมขึ้นมา ซึ่งได้รับการวิจารณ์จากหลายๆ คน อย่างไรก็ตาม ใจ มองว่า คนที่ออกมาวิจารณ์คนที่ชูแนวคิดสังคมนิยมส่วนใหญ่กำลังเข้าใจผิด เพราะการที่คนเริ่มชูเริ่มสังคมนิยม เริ่มตั้งคำถามภาพกว้างเกี่ยวกับระบบทุนนิยมเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กล่าวว่า เมื่อพูดถึงสถานการณ์ภาวะสงครามหรือโรคระบาด คนส่วนใหญ่มักมองว่าทุกคนจะได้รับผลกระทบเท่าๆ กัน แต่ในความเป็นจริงคนจนมักได้รับผลกระทบก่อนคนรวยเสมอ ซึ่งในสถานการณ์โควิด-19 เขาพบว่ามีครอบครัวที่มีปัญหาด้านค่าครองชีพเพิ่มขึ้น 20% ทั่วโลก 

นักวิชาการสังคมนิยมท่านนี้ชี้ว่า 50% ของเด็กไทยขาดพื้นที่ในการเรียนออนไลน์เนื่องจากปัญหาประชากรในบ้านแออัดเกินไป รวมถึงมีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ที่ไม่เพียงพอต่อเด็กในบ้าน เขายกตัวอย่างงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งชี้ว่า 30% ของเด็กที่จบ ม.6 ขาดความมั่นใจการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยด้วยเหตุผลว่าไม่มีเงินเพียงพอ และไม่มั่นใจว่าจะสามารถถอนทุนคืนเมื่อเรียนจบ เขาชี้อีกว่า 80% ของเด็กที่พักการเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ไม่สามารถกลับมาเรียนต่อได้เนื่องจากปัญหาด้านการเงิน


เยียวยาเป็นสิทธิ์ ไม่ใช่การสงค์เคราะห์

เขากล่าวต่อว่า อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเสี่ยงที่ไวที่สุดคือ กลุ่มอาชีพแรงงานอิสระ คนกลุ่มนี้ต้องแบกรับความเสี่ยงแทนนายทุน ทันทีที่รัฐบาลมีมาตราการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้จะได้รับการแก้ไขล่าช้าและได้ประโยชน์น้อยที่สุด เพราะต้องพิสูจน์ความจนหลายขั้นตอน ในขณะที่กลุ่มทุนใหญ่ไม่มีขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตนและยังได้ประโยชน์ก่อนเสมอ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลก็เป็นแนวนี้มาตลอดในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เขามองว่าหากเป็นเช่นนี้ต่อไปสถานการณ์จะแย่มากขึ้นในปี 2564

ษัษฐรัมย์มองว่า สิ่งที่พบอีกอย่างหนึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา คือการรวมตัวเจรจาต่อรองค่าจ้างของกลุ่มแรงงานทำได้ยากมากขึ้น โดยนายจ้างส่วนใหญ่มักจะอ้างบุญคุณในการเปิดโรงงานท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดนี้ ส่งผลให้กลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าแรงรายเดือนต้องกลายเป็นค่าแรงรายวัน คนที่ได้รับค่าแรงรายวันต้องกลายเป็นแบบเหมาค่าแรง ส่วนคนที่ได้รับค่าแรงแบบเหมาค่าแรงก็จะถูกเลิกจ้างไปในที่สุด 

“จริงๆ สังคมไทยเป็นมันเป็นสังคมโคตรเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่ก่อนโควิด การมีโควิดฯ มันก็เป็นการซ้ำให้เราเห็นภาพพวกนี้ชัดเจน… และนโยบายของรัฐบาลก็เป็นการคิดแบบที่เป็นมาในตลอด 50-60 ปีคือ สงเคราะห์ พิสูจน์ความจน ยากจนอนาถาถึงควรจะได้รับ คือไม่ได้มองว่าการเยียวยาช่วยเหลือเป็นสิทธิ์” ษัษฐรัมย์ กล่าว


คนรุ่นใหม่ตั้งคำถามต่อคัมภีร์ทุนนิยมมากขึ้น

ช่วงหนึ่งของงานเสวนาออนไลน์ ษัษฐรัมย์กล่าวว่าคำว่า สังคมนิยม ไม่ได้เป็นคำที่แปลกและน่ารังเกียจสำหรับคนรุ่นใหม่ หลายคนสามารถพูดถึงสังคมนิยมได้เป็นเรื่องปกติและตั้งคำถามต่อระบบทุนนิยมมากขึ้น ไม่คิดว่าการทำตามคัมภีร์ระบบทุนนิยมอย่างการขยัน ประหยัด อดทน จะนำไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าในช่วงวิกฤตโควิดฯ คนรวยในสังคมแทบจะจองทุกอย่างไว้หมดแล้ว พวกเขาสร้างกำแพงสูงและโยนเศษเนื้อข้ามมาให้คนจน 

เขาตั้งคำถามต่อว่า สิ่งที่ควรทำมากกว่าการสร้างรัฐสวัสดิการ คือการตั้งคำถามถึงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือการเป็นเจ้าของสังคม เขาย้ำว่าหากมองในมุมมองสังคมนิยม เราทุกคนร่วมสร้างสังคมมาด้วยกันหมด และการที่มีคนได้เศษเนื้อสะท้อนให้เห็นว่า มีนายทุนที่ขโมยเนื้อและอ้างระบอบกรรมสิทธิ์อยู่ในระบบ ซึ่งจะเห็นภาพชัดขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิดคือคนรวยจะรวยมากขึ้น ขณะที่คนจนก็จะจนลงเรื่อยๆ และเป็นภาพที่สะท้อนให้เห็นทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศไทย

“สังคมนิยมไม่ได้เป็นคำที่แปลกและน่ารังเกียจสำหรับคนรุ่นใหม่ ทุกคนสามารถพูดถึงสังคมนิยมได้ ตั้งคำถามกับระบบทุนนิยมมากขึ้น คนไม่คิดว่าขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ไม่คิดว่าการทำตามคัมภีร์ระบบทุนนิยมจะนำสู่ชีวิตที่ดี เหตุผลง่ายๆ คือ ในช่วงวิกฤตโควิด มันชัดเจนว่าคนรวยแทบจะจองทุกอย่างไว้หมดแล้ว เขาสร้างกำแพงสูงขึ้นมาแล้วโยนเศษเนื้อข้ามมาให้เรา” ษัษฐรัมย์ กล่าว


นายพลล้น พยาบาลขาด

ช่วงหนึ่งของเสวนา ษัษฐรัมย์กล่าวถึงปัญหาเงินเดือนข้าราชการกับสถานการณ์โควิดว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณในการเลี้ยงนายพลจำนวนมากซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 1,000 กว่าคนแม้ไม่ได้อยู่ในสภาวะสงคราม ไม่นับรวมสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ซึ่งเบ็ดเสร็จ ส.ว.หนึ่งคนได้เงินเดือนประมาณ 250,000 บาท รวมผู้ช่วย ส.ว. อีก 8 คน

ในขณะเดียวกันท่ามกลางสถานการณ์โควิดเจ้าหน้าที่พยาบาลกลับขาดแคลน ทุกวันนี้พยาบาลส่วนมากทำงาน 15-16 ชั่วโมงต่อวัน ในเชิงโครงสร้างก็จำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามว่า ประเทศไทยมีนายพลจำนวนเยอะมาก แต่ทำไมถึงขาดแคลนพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องการจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นต้องขบคิดต่อไป


เก็บภาษีคนมั่งคั่ง สู่การสร้างรัฐสวัสดิการ

ษัษฐรัมย์เสนอทางออกปัญหาพิษเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิดด้วยระบบรัฐสวัสดิการ เขามองว่าขั้นแรกต้องเริ่มต้นจากการเก็บภาษีจากกลุ่มคนมั่งคั่งไปจนถึงกลุ่มทุนขนาดใหญ่ อย่าง CP หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นจำนวน 3% เพื่อก่อให้เกิดรัฐสวัสดิการเหมือนต่างประเทศอย่าง อาร์เจนตินาหรือสเปน ซึ่งหลังจากเกิดรัฐสวัสดิการแล้ว ประชาชนจะเกิดความปลอดภัยทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด คนก็จะสามารถพูดคุยถึงสังคมที่ดีกว่านี้ เช่น การยกเลิกกรรมสิทธิ์ของทุน, การยกเลิกทรัพย์สินทางปัญญาในวัคซีนหรือเรื่องต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นในการพูดคุยกันถึงเรื่องที่ไกลไปกว่าเรื่อง ความเป็นธรรมในระบบทุนนิยม

“ผมคิดว่ารูปธรรมง่ายๆ คือการเก็บภาษีกลุ่มคนมั่งคั่งและสร้างรัฐสวัสดิการทันทีเลย หลังจากนั้นมันก็จะทำให้เราพูดถึงสังคมนิยม การยกเลิกกรรมสิทธิ์ของทุน การยกเลิกทรัพย์สินทางปัญญาในวัคซีนหรืออะไรต่างๆ อย่างที่เราเห็น สิ่งเหล่านี้ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราสามารถที่จะพูดคุยกันถึงอะไรที่มันไกลมากกว่าแค่ความเป็นธรรมในระบบทุนนิยม” นักวิชาการสังคมนิยมกล่าว