ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงยุติธรรม ประชุมคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมกระบวนการยุติธรรม นำเสนอชุดโครงการวิจัยสู่การปฏิรูปการเมืองไทยและการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างยั่งยืน

วันที่ 10 ธันวาคม 2567 กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับ โครงการหน่วยบูรณาการประเด็น ยุทธศาสตร์ ววน. ด้านการสร้างธรรมาภิบาล ลดปัญหาคอร์รัปชัน และความรุนแรง สำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมด้านกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุมชั้น 10 กระทรวงยุติธรรม ภายใต้การมอบหมายของ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อผลักดันการพัฒนากระบวนการยุติธรรมด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความท้าทายในยุคปัจจุบัน

ภารกิจสำคัญของคณะทำงาน มีหน้าที่ขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาล และกรอบวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2566-2569 รวมถึงการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เพื่อจัดหาแหล่งทุนและสนับสนุนการบริหารจัดการงานวิจัย

S__5169370.jpg

สำหรับการนำเสนอชุดโครงการวิจัยเพื่อการปฏิรูปการเมืองไทยนั้น หนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุม คือการนำเสนอชุดโครงการวิจัย “สู่การปฏิรูปการเมืองไทยและการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างยั่งยืน” โดยคณะนักวิจัยทั้งหมด 24 คน

ที่มาและความสำคัญของโครงการวิจัย

โครงการวิจัย “สู่การปฏิรูปการเมืองไทยและการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างยั่งยืน” มีจุดเริ่มต้นจากบทเรียนและผลกระทบของรัฐธรรมนูญฉบับต่าง ๆ ในอดีต โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" เนื่องจากเกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจ และมีการนำงานวิจัยถึง 15 ชิ้นมาใช้สนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและการพลิกผันในช่วงปลายทศวรรษ 2540 นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญและการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2550 และ 2560 ซึ่งสะท้อนความท้าทายของการสร้างความสมดุลระหว่างกลไกรัฐและการมีส่วนร่วมของประชาชน การศึกษาพบว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดในหลายประเด็น เช่น บทบาทของสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ และการปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการสร้างรัฐธรรมนูญที่มีรากฐานจากการวิจัยและความรู้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและการยอมรับในวงกว้าง

นำมาสู่ชุดโครงการวิจัยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการพัฒนารัฐธรรมนูญผ่านฐานงานวิจัยที่ครอบคลุมกรอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่

1. รัฐและกลไกรัฐ – ศึกษาหลักการ แนวคิด และรูปแบบการปกครอง รวมถึงระบบราชการ

2. รัฐและรัฐสภา – วิเคราะห์ระบบรัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้ง และกลไกการตรวจสอบ

3. รัฐและพลเมือง – มุ่งเน้นสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน

สำหรับโครงการย่อย ภายใต้ชุดโครงการวิจัย ชุดโครงการวิจัยนี้ประกอบด้วย 15 โครงการย่อยซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมืองและการเขียนรัฐธรรมนูญ ดังนี้

1).ทบทวนภูมิทัศน์การปฏิรูปการเมือง: พัฒนาการทางการเมืองของภูมิทัศน์การเมือง ระบบราชการ ระบอบรัฐสภา พรรคการเมือง การเลือกตั้งและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน

2). ทบทวนหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญไทย

3). รัฐธรรมนูญกับการสร้างหลักประกันความยุติธรรมของการจัดสรรปันส่วนที่เป็นธรรมในสังคมไทย 

4.) ความมั่นคงในรัฐธรรมนูญไทยฉบับรัฐสร้างและราษฎรประสงค์

5). ทบทวนการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

6). รูปแบบการปกครองที่สอดคล้องกับท้องถิ่น

7). ศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

8). การออกแบบระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

9). แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างมีประสิทธิภาพ 

10). การสร้างรัฐธรรมนูญเพื่อความเป็นธรรมในการเปลี่ยน

11). ความคิดทางกฏหมายว่าด้วยสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ 

12). รัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยต่อสิทธิเหนือที่ดินทำกินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน 

13). รัฐธรรมนูญกับการคุ้มครองความหลากหลายทางเพศ 

14). สู่การปฏิรูปการเมืองไทยและการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่อย่างยั่งยืน 

15). การการศึกษาตัวชี้วัดหลักนิติธรรมเพื่อยกระดับความเป็นมาตรฐานสากลที่สอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมไทย: แนวทางในการพัฒนาประเมินหลักนิติธรรมของประเทศไทย


สำหรับข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิ ในที่ประชุมฯ ผู้ทรงคุณวุฒิได้ให้ข้อเสนอแนะสำคัญ ได้แก่

• ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่าควรเพิ่มการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นการกระจายทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ

• รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล เห็นว่างานวิจัยน่าจะต้องฟังเสียงของประชาชนเป็นสำคัญ พร้อมคำนึงถึงกลไกทางเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน