ย้อนกลับไปในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา การลุกฮือเรียกร้องครั้งใหญ่ของประชาชนได้ปะทุขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทั้งในแง่ของจำนวนผู้คน จำนวนครั้งของการชุมนุม วิธีการชุมนุม และความแหลมคมของข้อเรียกร้องซึ่งทะลุเพดานแก้วของสังคมไทยอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ข้อเรียกร้องเสนอให้มีการปฎิรูปสถาบันกษัตริย์ มีสื่อหลักหยิบยกนำไปจัดรายการดีเบตเปิดมุมมองความคิดเห็นในช่วงเวลาหนึ่งก็จะเงียบหายไป ผู้คนเรือนแสนออกมาชุมนุมเดินขบวนกดดันให้ผู้มีอำนาจรัฐรับฟังข้อเสนอ ไปจนถึงการรวมตัวสร้างความปั่นป่วนให้กับรัฐของกลุ่มผู้ชุมนุม ‘ทะลุแก๊ซ’ ซึ่งล้วนเป็นคนจนเมืองที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาลในช่วงวิกฤตโควิด-19
การลุกขึ้นต่อสู้ของประชาชนที่จำนวนมากเป็นเยาวชน คนรุ่นใหม่ ไม่เพียงแต่ไม่ได้รับชัยชนะ ไม่ได้รับการตอบสนอง แต่กลับถูกกดปราบอย่างหนักหน่วง ทั้งการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม การใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือปราบปราม และใช้เรือนจำเป็นสถานที่บั่นทอนกระแสการต่อสู้
ช่วงเวลาที่อุณภูมิทางการเมืองบนท้องถนนยังระอุ รัฐบาลประยุทธ์ดำเนินการตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการเข้าจับกุมเหล่าแกนนำที่กล่าวถึงประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ผู้ชุมนุมกลุ่มทะแก๊ซ ไปจนถึงการเชือดไก่ให้ลิงดูด้วยการดำเนินคดีกับผู้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับสถาบันฯ ในโซเซียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไปจนถึงติ๊กต่อก ขณะที่กลไกตุลาการก็ใช้อำนาจในการฝากขังระหว่างดำเนินคดี และไม่ใช้สิทธิในการประกันในระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านั้นยอมหยุดการเคลื่อนไหวที่แหลมคมและก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง
การจับคนไปขังในระยะเวลาครึ่งเดือนถึงครึ่งปี แล้วปล่อยตัวออกมาพร้อมเงื่อนไขบีบรัดห้ามไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมืองอีก หรือหนักสุดถึงขั้นสั่งจำกัดบริเวณห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ต่างเป็นที่รับรู้กันดีว่า คือ กระบวนการรับมือกับกระแสการชุมนุมต่อต้านของประชาชน
คำถามที่กลายมาเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลเศรษฐา อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตอนนี้ คือรัฐบาลจะจัดการกับปมความขัดแย้งที่แหลมคมนี้อย่างไร ขณะเดียวกันเวลาของการพิพากษาคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็ค่อยๆ ขยับเดินหน้าต่อมากขึ้นทุกวัน
จากสถิติที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรวบรวมไว้ตั้งแต่ 18 ก.ค. 2563 จนถึง 31 ส.ค. พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีการเมืองไปแล้วทั้งสิ้น 1,925 ราย รวมทั้งหมด 1,241 คดี แบ่งเป็น
-มาตรา 112 ทั้งหมด 257 ราย 278 คดี
-มาตรา 116 ทั้งหมด 130 ราย 41 คดี
-ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1469 ราย 663 คดี
-ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 164 ราย 84 คดี
-ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 184 ราย 204 คดี
-คดีละเมิดอำนาจศาล และคดีดูหมิ่นศาล 36 ราย 20 คดี
และจนถึงวันนี้ (19 ก.ย.) มีผู้ต้องขังทางการเมืองที่ยังไม่ได้รับสิทธิประกันอย่างน้อย 22 ราย ประกอบด้วย
1-2.ถิรนัย กับ ชัยพร สองผู้ชุมนุมทะลุแก๊สถูกกล่าวหากรณีครอบครองระเบิดปิงปองก่อนการชุมนุม เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี รับสารภาพ ลดเหลือจำคุก 3 ปี อยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2566 เคยยื่นประกันตัว 4 ครั้ง
3.ชนะดล ถูกคุมขังภายหลังถูกอัยการสั่งฟ้องในคดีครอบครองระเบิด จากเหตุชุมนุมแยกอโศกดินแดง วันที่ 20 ส.ค. 2564 เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 10 ครั้ง
4.วุฒิ (นามสมมติ) ศาลอาญามีนบุรีไม่ให้ประกันตัว ภายหลังถูกอัยการสั่งฟ้องในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 เคยยืนประกันตัว 5 ครั้ง
5.เวหา แสนชนะศึก ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกกระทงละ 3 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 3 กระทง ลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 2 ครั้ง
6.ทีปกร ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์-แชร์คลิปตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์ ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2566 เคยยื่นประกันตัว 3 ครั้ง
7.วารุณี ถูกดำเนินคดีคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกตเป็นชุดราตรี ถูกคุมขังหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 เคยยื่นประกันตัว 7 ครั้ง
8.ประวิตร ถูกดำเนินคดีจากกรณีการเผาป้อมตำรวจจราจร ใต้ทางด่วนดินแดง ในการชุมนุมคาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ถูกคุมขังภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี 4 เดือน เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 2 ครั้ง
9.วัฒน์ (นามสมมติ) ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์ชื่นชมในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่วิพากษ์วิจารณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 1 ครั้ง
10-11.คเชนทร์ กับ ขจรศักดิ์ คดีปาระเบิดปิงปองและระเบิดขวดเข้าใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 หรือม็อบ1ตุลา ศาลตัดสินจำคุก 10 ปี 6 เดือน อยู่ระหว่างการขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 1 ครั้ง
12-13.ธีรภัทร กับปฐวีกานต์ ศาลอาญาไม่ให้ประกันตัว ภายหลังถูกสั่งฟ้องว่า ได้เข้าร่วมในการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 และปาระเบิดใส่รถวิทยุสายตรวจของตำรวจ เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 1 ครั้ง
14.เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ปราศรัยในกิจกรรมทัวร์มูล่าผัว ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ศาลอาญาลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 1 ครั้ง
15.อุดม ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 กรณีโพสต์เฟซบุ๊ก ถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส หลังศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้จำคุก 4 ปี และศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 1 ครั้ง
16-18. วัชรพล, จตุพล และณัฐพล ถูกดำเนินคดีร่วมเผารถยนต์ตำรวจ สน.ดินแดง หลังเหตุการณ์ชุมนุม ราษฎรเดินไล่ตู่ หรือ ม็อบ 11 มิ.ย. 2565 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 3 ปี เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 1 ครั้ง
19. พลพล ถูกดำเนินคดีร่วมชุมนุม #าษฎรเดินไล่ตู่ หรือม็อบ 11 มิ.ย. 2565 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2566 เคยยื่นประกันตัว 1 ครั้ง
20.สมบัติ ทองย้อย ถูกคุมขังระหว่างฎีกา หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 4 ปี ในคดีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” และข้อความกล่าวถึงแจกลายเซ็น ตามมาตรา 112 เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566
21-22.ไพฑูรย์ กับ สุขสันต์ ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ หลังศาลพิพากษาจำคุก 33 ปี 12 เดือน และ 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานและสนับสนุนการพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน จากการถูกกล่าวหาว่าได้ใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่ ได้รับบาดเจ็บใน ม็อบ 11 ก.ย. 2564 เข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2566
ทั้งนี้ภายในเดือนกันยายน ยังมีนัดพิพากษาคดี 112 ที่ยังเหลืออยู่อีกอย่างน้อย 4 คดี โดยหนึ่งในนั้นเป็นคดีของอานนท์ นำภา นักกิจกรรมทางการเมือง และทนายความสิทธิมนุษยชน กรณีการปราศรัยในม็อบ 14 ต.ค. 2566 เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีนัดพิพากษาคดีทางการเมืองอื่นๆ อีก 4 คดี
สำหรับกรณีการดำเนินคดี 112 ในช่วงที่ผ่านมาพบว่า มีแกนนำผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดี 112 หลายคดี ดังนี้
พริษฐ์ ชิวารักษ์ 24 คดี
อานนท์ นำภา 14 คดี
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี
ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี
เบนจา อะปัญ 8 คดี
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 7 คดี
พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา, ชูเกียรติ แสงวงค์, วรรณวลี ธรรมสัตยา, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ 4 คดี
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี
แน่นอนว่าภายใต้หลักการแบ่งแยกอำนาจ รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของตุลการได้ คำตอบของเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการให้สัมภาษณ์สื่อ the standard ที่ระบุว่า กรณีของนักโทษการเมืองเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมนั้นจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการ ทว่าในฐานะของการเป็นผู้นำรัฐบาล ผู้นำคณะรัฐมนตรีนั้น ยังพอมีกลไกที่สามารถคลี่คลายปมความขัดแย้งที่สะสมอยู่ และรอวันปะทุอีกครั้งนี้ได้ นั่นคือการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมือง
ประเด็นนี้ถูกพูดถึงตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามในช่วงหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมา ในช่วงที่เกิดความพยายามร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลโดยพรรคก้าวไกล และพรรคอื่นๆ รวม 8 พรรคการเมือง ได้มีข้อตกลงร่วมกันว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะไม่มีประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองอยู่ด้วย แต่หลังจากที่มีการตกลงกันระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ในเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการออกข้อตกลงร่วมกันระหว่าง 2 พรรคโดยมีการระบุถึงเรื่องการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเอาไว้ด้วย
ถึงอย่างนั้นก็ตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นอันต้องตกไป เนื่องจากมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยไม่มีพรรคก้าวไกลรวมอยู่ด้วย เวลานี้จึงยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊ก เป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาลเศรษฐา ให้เร่งผลักดันการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมืองย้อนหลังถึงปี 2548 ถึงปัจจุบันทุกฝ่ายการเมืองนับตั้งแต่ พธม. นปช. กปปส. และราษฎร เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งและความปรองดอง
และล่าสุด 18 ก.ย. 2566 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย ได้เสนอความเห็นกับรัฐบาลเศรษฐา โดยขอให้มีการเร่งผลักดันการปลดพันธนาการเรื่องคดีความ ให้คนทุกฝ่ายที่เห็นต่าง และเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะเยาวชน คนหนุ่มสาวนับพันราย ซึ่งในจำนวนนี้หลายคนมีคดีติดตัวเกินกว่า 20 คดี
โดยให้มีการนิรโทษกรรมทุกคน ทุกข้อกล่าวหา ยกเว้นกรณีความผิดถึงแก่ชีวิต ส่วนกรณีทุจริตคอร์รัปชัน ไม่เกี่ยวข้องและไม่รวมอยู่ในเรื่องนี้ เริ่มต้นใหม่ สร้างสังคมที่คนเห็นต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ มีคณะกรรมการพิจารณาการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ไม่ให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ร้ายกัน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือ โจทย์ยาก และโจทย์สำคัญ สำหรับรัฐบาลเพื่อการเปลี่ยนผ่าน และเป็นเรื่องที่สังคมกำลังรอฟังคำตอบ
ข้อมูลอ้างอิง
https://tlhr2014.com/archives/52351
https://tlhr2014.com/archives/59336